Column: AYUBOWAN
ท้องฟ้าที่ฉ่ำด้วยเมฆฝนและสายลมแรงทั่วทั้งแดนดินถิ่นเมืองไทยในห้วงยามนี้ คงทำให้หลายคนรู้สึก “อึดอัด” ระคน “หดหู่” กับความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่ไม่น้อย ขณะที่อีกฝั่งฟากของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนแห่งศรีลังกาซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุมเช่นกัน ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้แม้จะเป็นเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรอยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงวิถีธรรมชาติที่ต้องประสบพบเจอท่ามกลางความฉ่ำเย็นที่มาประโลมชีวิตจิตวิญญาณ
สำหรับพุทธศาสนิกผู้สนใจในธรรมและความเป็นไปแห่งพุทธศาสนา เชื่อว่าหลายท่านคงได้ผ่านการรับรู้ หรือได้ยินได้ฟังเรื่องราวแห่งสยามวงศ์ที่ได้มาลงหลักปักฐานในแดนดินศรีลังกาอยู่บ้างนะคะ และก็คงมีโอกาสได้จาริกตามรอยพระอุบาลี พระธรรมทูตจากประเทศไทยที่มาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาเมื่อปีพุทธศักราช 2295 หรือเมื่อกว่า 263 ปีล่วงมาแล้ว
ในความเป็นจริง ความจำเริญรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในดินแดนศรีลังกานั้น มีมานานก่อนที่พุทธศาสนาจะขจรจายไปยังสุวรรณภูมิเสียอีก โดยเฉพาะหากพิจารณาในบริบทของสังคมไทยซึ่งมีการจารึกไว้ว่าได้รับพุทธศาสนามาจากศรีลังกาจนเกิดเป็นพุทธศาสนาสาย “ลังกาวงศ์” ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นแผ่นดินสุโขทัย และฝังรากลึกลงไปทุกขณะ
แม้ว่าบางครั้งบางหน ดอกผลแห่งพุทธศาสนาจะร่วงหล่นลงสู่พื้นล่าง และเสื่อมถอยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง แต่แกนหลักแห่งลำต้นก็ยังให้ร่มเงาพักพิงแก่สาธุชนผู้เลื่อมใสศรัทธาอยู่เสมอ
ความจำเริญและเสื่อมถอย ย่อมเป็นปฏิภาคของด้านตรงข้ามอย่างยากจะปฏิเสธ เป็นอนิจลักษณะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักธรรมให้ผู้คนได้เจริญสติอยู่มิได้ขาดมานานกว่า 2 สหัสวรรษ และความเป็นไปของพุทธศาสนาในดินแดนลังกาก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นไปจากความเป็นจริงของโลกที่ว่านี้
ความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาให้งอกเงยขึ้นมาใหม่จากซากที่ผุพังของศรีลังกาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้ากีรติสิริราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกา ซึ่งมีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง และส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2293 เพื่อให้กรุงศรีอยุธยาส่งคณะธรรมทูตไปรื้อฟื้นพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่
คณะราชทูตจากศรีลังกาออกเดินทางจากเมืองท่าตรินโคมาลี (Trincomalee) เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกาด้วยเรือของฮอลันดา ข้ามผ่านมหาสมุทรอินเดียมาเมืองอะเจะ สุมาตรา และต้องหลบเลี่ยงมรสุมอยู่ที่มะละกาเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน
เมื่อมาถึงอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยประกอบด้วยพระสงฆ์ 24 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมทั้งสามเณรอีกเจ็ดรูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นพาหนะส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกา
แต่วิถีแห่งพุทธธรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญภาวนา และหนทางสู่นิพพานไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปราศจากคลื่นมรสุมแห่งห้วงกิเลส การเดินทางในครั้งนั้นมิได้ราบรื่นโดยเรือกำปั่นของพระสมณทูตถูกคลื่นใหญ่ซัดจนมาเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คณะสงฆ์ชุดนั้นจึงยังไปไม่ถึงลังกา
กระทั่งปีพุทธศักราช 2295 คณะสงฆ์ชุดเดิมออกเดินทางอีกครั้งโดยเรือกำปั่นฮอลันดา และสามารถนำพากันไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือตรินโคมาลีได้สำเร็จ พระเจ้ากีรติสิริราชสิงหะรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ต้อนรับและเชิญพระสงฆ์และคณะราชทูตไทยเข้ามายังเมืองแคนดี้ (Kandy) และโปรดให้พระสงฆ์ไทยไปพักที่วัดบุปผาราม ซึ่งในปัจจุบันคือวัดมัลวตะ จากนั้นพระอุบาลีได้ทำการอุปสมบทภิกษุชาวสิงหลจำนวน 700 รูป และบรรพชาสามเณรอีก 3,000 รูป
วัตรปฏิบัติของพระอุบาลีในฐานะธรรมทูตจากสยาม มิได้มีเพียงการอุปสมบทพระสงฆ์ให้เกิดเป็นธรรมทายาทจำเริญเพิ่มพูนในดินแดนศรีลังกาแห่งนี้เท่านั้น หากยังถ่ายทอดพระธรรมผ่านการสวดมนต์เป็นประหนึ่งการชะโลมแผ่นดินให้ชุ่มชื้นด้วยธรรม นอกจากนี้ยังผูกพัทธสีมาสร้างอารามให้เป็นถิ่นพำนักพักพิงสำหรับทั้งสงฆ์และสาธุชนทั้งหลายให้ได้รับความสงบเย็นอีกหลายแห่งด้วย
ขณะที่แผ่นดินสยามรับเอาพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาเข้ามาจนกลายเป็น “ลังกาวงศ์” บทบาทของพระอุบาลีในการเสริมสร้างให้พระพุทธศาสนากลับมาเฟื่องฟูขึ้นใหม่ในศรีลังกาจากเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมจากสยามดังกล่าวนี้ ได้นำไปสู่การเรียกขานในนาม “สยามวงศ์” หรือ “สยามนิกาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามนิกายสำคัญของพระพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งประกอบด้วยสยามนิกาย รามัญนิกาย และอมรนิกาย มีพระมหานายกะที่เป็นประมุขสงฆ์แต่ละนิกายสี่องค์ โดยสยามนิกายมีมหานายกะสององค์คือฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญวาสี
ร่องรอยของพระอุบาลีในดินแดนศรีลังกาซึ่งได้รับการเรียกขานต่อมาอีกนัยหนึ่งว่า “สยาโมปาลีวงศ์” หรือสยามวงศ์ ที่มีพระอุบาลีเป็นอาจารย์ เช่นว่านี้ อาจทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าพระอุบาลีมีเวลาจาริกเผยแผ่พุทธศาสนาเป็นระยะเนิ่นนาน หากแต่ในความเป็นจริง ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะส่งคณะธรรมทูตชุดที่สองมายังศรีลังกานั้น พระอุบาลีก็อาพาธและมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบในปีพุทธศักราช 2299 หรือเพียง 4 ปี หลังจากได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในศรีลังกาเท่านั้น
พิธีถวายเพลิงศพพระอุบาลี ได้รับการบันทึกว่า เป็นไปอย่างสมเกียรติ โดยพระเจ้าแผ่นดินศรีลังกาให้จัดพิธีขึ้นในสุสานหลวง อาดาหะนะมะลุวะ ซึ่งปัจจุบันคือวัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร พร้อมทั้งทรงให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระอุบาลีเพื่อเป็นอนุสรณ์และสักการบูชา ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
หลักฐานความเป็นมาเป็นไปเกี่ยวกับพระอุบาลีมหาเถระมิได้มีการบันทึกอยู่เฉพาะที่ศรีลังกาเท่านั้นนะคะ เพราะเนื่องในโอกาสที่ไทยและศรีลังกาฉลองวาระ 260 ปีของการเผยแผ่ธรรมโดยพระอุบาลีและคณะธรรมทูตเมื่อปี 2555 เรื่องราวของพระอุบาลีก็ได้รับการจารึกและจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีที่วัดธรรมาราม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
สาเหตุที่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระไว้ที่วัดธรรมารามซึ่งเป็นวัดขนาดเล็กๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ด้วยเหตุที่มีหลักฐานปรากฏว่าพระอุบาลีเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งหากท่านผู้อ่านท่านใดมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนก็น่าที่จะได้ศึกษาและชื่นชมประวัติความเป็นมาและความเชื่อมโยงศรีลังกาไทยผ่านพุทธศาสนาได้ไม่น้อย
อนุสติจากรอยทางของพระอุบาลีประการหนึ่งก็คือแม้วาระสุดท้ายของพระอุบาลีจะไม่ได้หวนคืนกลับสู่แผ่นดินเกิด แต่คุณูปการที่พระอุบาลีได้สร้างได้ทำไว้ในดินแดนแห่งนี้ กลับยิ่งใหญ่และมีคุณค่าให้ระลึกและกล่าวถึงเสียยิ่งกว่าดอกผลของพุทธศาสนาบางส่วนในเมืองไทย ที่แม้จะเอ่ยอ้างความเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ แต่กลับไม่สามารถจำเริญในธรรม
สาธุชนผู้สนใจในธรรมคงต้องร่วมกันไตร่ตรองและถือเป็นบทบาทหน้าที่ร่วมกันแล้วกระมังคะ