วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวเรา

ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวเรา

 
“ถ้าจะกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่รอบตัวและผูกพันกับชีวิตคนเราตลอดเวลา เราได้สัมผัสและเกี่ยวข้องตั้งแต่ ตื่นนอน จับแปรงสีฟันจนถึงปิดไฟเข้านอนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งของอุปโภคบริโภคล้วนมีส่วนเกี่ยวพันกับวิถีชิวิตของเราในแต่ละวันอย่างปฏิเสธไม่ได้”
 
ถ้าเอ่ยถึงพลังงาน หรือปิโตรเคมี บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ในขณะที่ความเป็นจริงกลับเป็นสิ่งที่ได้สัมผัสทุกวัน และมีความเชื่อมโยงย้อนไปตั้งแต่การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่งต่อไปยังกระบวนการกลั่นคือโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มาจากปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น เช่น เอทิลีน โพรพิลีน เบนซีน เป็นต้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ ก่อนจะถูกแปรรูปสู่ขั้นกลางจนถึงขั้นปลายได้แก่ กลุ่มพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ 
 
สารเคมีที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโอเลฟินส์ ได้แก่ เอทิลีน โพรพิลีน ฯลฯ อีกกลุ่มคือ อะโรเมติกส์ ได้แก่ เบนซิน โทลูอินและไซลีน
 
กลุ่มโอเลฟินส์ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) พอลิเอทิลีน (พีอี) นอกจากนั้นยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น ลิเนียร์แอลกอฮอล์ ซึ่งใช้ผลิตผงซักฟอก
 
กลุ่มอะโรเมติกส์ใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่นๆ
 
นี่คือจุดเริ่มต้นของวัตถุดิบก่อนจะถูกแปรรูปสู่ขั้นกลางจนถึงขั้นปลาย ได้แก่ กลุ่มพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ฯลฯ และถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย  อาทิ เบนซิน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสบู่และผงซักฟอก ใช้ผลิตพลาสติกชนิดที่เรียกว่า “ABS” ซึ่งใช้ทำตัวเครื่องรับโทรทัศน์ ตัวตู้โทรทัศน์ หมวกกันน็อก ฯลฯ
 
โทลูอีนใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ กาว ยาฆ่าแมลง ฯลฯ
 
ไซลีนใช้เป็นสารตั้งต้นในเส้นใย เส้นด้าย ขวดใส่อาหาร ถุงใส่อาหารร้อน ฯลฯ 
 
ถ้าถามว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีอะไรบ้าง คงต้องตอบว่าทุกอย่างในชีวิตประจำวันเราเลยก็ว่าได้ ซึ่งเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมนุษย์โลกปัจจุบัน   
 
คนไทยรู้จักผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดแรกในรูปของสินค้าพลาสติก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเครื่องประดับสตรีที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นของทันสมัยมาก ต่อมาเริ่มมีการนำเข้าเม็ดพลาสติก พอลิเอทิลีน และพอลิสไตรีน ห้างเหรียญชัยเป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกจากยุโรป โดยสั่งซื้อผ่านไต้หวัน บรรจุเป็นถุงเล็กๆ และห้างเต็กเฮงเป็น ผู้นำเข้าสินค้าพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ผลิตจากพอลิสไตรีน เช่น หวี และพลาสติกก้อนมาหลอมแล้วขึ้นรูปใหม่ แล้วเริ่มจำหน่าย เป็นธุรกิจเล็กๆ บนแผงขายส่งสินค้าพลาสติกโดยพ่อค้าในย่านสำ เพ็ง เช่น กล่องสบู่ ของเด็กเล่น และอื่นๆ ก่อนจะ พัฒนาขึ้นมาเป็นการนำเข้าเม็ดพลาสติก
 
บริษัทที่ถือเป็น “ตำนานบทสำคัญของวงการพลาสติกไทย” คือ บริษัท เลียกเซ้ง เทรดดิ้ง จำกัด ก่อตั้งใน พ.ศ. 2500 และเป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกรายแรกที่จัดส่งเม็ดพลาสติกให้โรงงานหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ มีทั้งโรงอัด โรงเป่า และโรงฉีดพลาสติก ทำให้เกิดความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้จำนวนโรงงานแปรรูปพลาสติกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปสงค์เม็ดพลาสติกจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเริ่มต้นผลิตเม็ดพลาสติกขึ้นเองเพื่อทดแทนการนำเข้า นับเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทย  
 
ในอดีตก่อนการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยประมาณ 4-6 ปี ประเทศไทยมีความพยายามสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบที่โรงกลั่นน้ำมันไทย (หรือโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ในปัจจุบัน) ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเม็ดพลาสติกนำเข้าได้  
 
การกำเนิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในไทยที่เริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ระหว่างปี 2525-2529 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นส่วนสำคัญภายใต้แผนนี้ โดยมุ่งหวังการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยกำหนดพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งแรก ในปี 2528 ลงทุนโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
 
ในขณะเดียวภาครัฐ ได้มอบหมาย ปตท.ให้เป็นแกนนำร่วมกับภาคเอกชน เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ธนาคาร รวมถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในการจัดตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด หรือ NPC ในปี พ.ศ. 2527 และกำเนิดโรงงานโอเลฟินส์แห่งแรกที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2533
 
ต่อมารัฐบาลกำหนดให้ ปตท. เป็นแกนนำร่วมกับเอกชนจัดตั้งบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (TOC) เพื่อขยายการผลิตโอเลฟินส์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น
 
และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 หลายบริษัทจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ มีการควบรวมกิจการในธุรกิจปิโตรเคมี โดย NPC ได้ควบรวมกับ TOC และต่อมาได้ควบรวมกับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ จนกลายมาเป็นบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ในปัจจุบัน
 
ขณะที่กลุ่มปูนซิเมนต์ไทยซึ่งนอกเหนือจากที่เคยถือหุ้นใน NPC แล้ว ก็ได้ลงทุนสร้างโรงงานปิโตรเคมีและขยายกำลังการผลิตของตนเองเช่นกัน 
 
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังมีส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจในการช่วยทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมีและสร้างการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรวมแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท เกิดโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจนถึงขึ้นรูปพลาสติกกว่า 3,000 แห่ง มีการจ้างงานทั้งทางตรงและในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายแสนคน โดยสร้างรายได้ต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นราว 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาการศึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องและยังมีส่วนต่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อาจฟังเป็นอุตสาหกรรมที่ไกลตัว ไกลวิถีชีวิตประจำวันของเรา แต่จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่ผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทำให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ ตลอดทั้งมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ                          
 
จากจุดกำเนิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกว่า 20ปี และเป็นที่มาของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ นับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนวันแล้ววันเล่า และยังคงหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไปในอนาคต