วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยยังไปไม่รอด รอปี 2566 ค่อยฟื้นตัวอีกครั้ง

เศรษฐกิจไทยยังไปไม่รอด รอปี 2566 ค่อยฟื้นตัวอีกครั้ง

ขณะที่การจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังดำเนินไปท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่ติดตามมาด้วยการเลื่อนนัดหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้าง ภารกิจอีกด้านหนึ่งว่าด้วยการกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อให้กลไกทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ก็ดูจะยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กลไกรัฐมุ่งประสงค์ได้ และมีแนวโน้มจะทรุดต่ำลงไปเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง

การปรับลดประมาณการและการคาดการณ์ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยของหลายสำนักในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่อย่างไม่อาจเลี่ยง แม้ว่ากลไกรัฐจะพยายามโหมประโคมประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการและผลงานความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา หากแต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่รัฐมีออกมาจะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือมาตรการบรรเทาเหตุเบื้องต้น ที่ขาดจินตภาพและวิสัยทัศน์ในการกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่รัฐบาลได้พยายามนำเสนอแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติภายใต้กรอบระยะเวลา 20 ปีระหว่างปี 2561-2580 หากแต่แผนดังกล่าวดูจะไม่ช่วยผลักดันการพัฒนาให้ประเทศหรือสังคมไทยดำเนินก้าวไปสู่ความจำเริญข้างหน้ามากนัก และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมของไทยให้ต้องชะงักงันหรือแม้แต่ถอยหลังด้วยความเฉื่อยช้าลงไปอีก

ความด้อยประสิทธิภาพและความล้มเหลวบกพร่องของแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ดังกล่าวในด้านหนึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีของการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าว่าด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะประเด็นว่าด้วยความปลอดภัยและสวัสดิการของประชาชนในมิติด้านการสาธารณสุขเท่านั้น หากยังส่งผลต่อการดำรงชีวิตในเชิงเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ดูจะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความล้าหลังไม่ทันต่อสถานการณ์ของแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีสถานะคู่ควรต่อการเรียกว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ของชาติเสียด้วยซ้ำ เพราะขาดการประเมินผลและปัจจัยแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาในยุคสมัยปัจจุบัน

ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันยังคงเพิ่มขึ้นสูง ในขณะที่ภาครัฐยังใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของCOVID-19 ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรง รวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ดำเนินไปอย่างไร้ความแน่นอนชัดเจน ทำให้ความคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากการจ่อมจมอยู่ในปลักแห่งความซบเซามาอย่างยาวนาน มีแนวโน้มที่จะทอดยาวต่อเนื่องออกไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1.5-2 ปีนับจากนี้ หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องรอไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 เลยทีเดียว

การประเมินดังกล่าวดูจะไม่เกินเลยไปนัก เมื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เฝ้าติดตามความเป็นไปทางเศรษฐกิจอีกหน่วยงานหนึ่งในกลไกรัฐ ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่เกิดขึ้นหลายระลอก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดเป็นช่วง ๆ จนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยรายใดที่มีสายป่านสั้นก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ และหลายธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นบททดสอบภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไทย เวลาปีครึ่งนับตั้งแต่การระบาดเมื่อปี 2563 พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยหดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กระทั่งถึงการระบาดในระลอกที่ 3 รวมถึงการกระจายวัคซีนที่ไม่แน่นอน จึงทำให้เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากลไกภาครัฐ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แต่ยังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ความช่วยเหลือเดิมไม่เพียงพอ จึงต้องยกระดับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย ธปท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ด้วยการแก้ไขข้อจำกัดของ Soft Loan เดิม เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

มาตรการดังกล่าวนี้ยังรวมถึงการขยายเวลาการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว พร้อมทั้งขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอในการฟื้นตัว และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี พร้อมทั้งเว้นดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็ก จะได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่าส่วนอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มาก มีสายป่านสั้น และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ซึ่งแม้จะมีการขยายเงื่อนไขการช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูให้ครอบคลุมแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่า คือการบริหารจัดการมาตรการ การให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการมากขึ้น โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

ปัจจัยสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในด้านหนึ่งเกิดจากการที่ธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs มีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของ SMEsได้ยาก เนื่องจากขาดข้อมูลในการพิจารณา ขาดคนกลางในการชี้เป้าหมายว่า SMEs ใดที่มีศักยภาพเพียงพอและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

มาตรการที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไปข้างหน้าแม้จะต้องใช้เวลานาน หากแต่ในห้วงปัจจุบันสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่ที่การเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจทั้งในมิติของการบริการและห่วงโซ่การผลิต ไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ ผู้ประกอบการ SMEs โดยยกระดับบทบาทของตัวเองในการช่วยเหลือให้ SMEs เข้าถึงสภาพคล่องอย่างทันท่วงที ซึ่งรัฐบาล และ ธปท. ต้องมีบทบาทในการลดความเสี่ยงภาพรวมของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ควบคู่กับการเพิ่มกลไกของ บสย. เข้ามาในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินควรมีบทบาทในการประสานและเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมเข้าถึงยากให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อ

ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมให้อยู่รอด และรับโอกาสในการสนับสนุนสภาพคล่อง ยกระดับการจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐานสากล ดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และสต็อกสินค้าได้ดีขึ้นด้วย รวมถึงเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ข้อมูล และฐานะทางการเงินของ SMEs ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

ความเป็นไปของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มการค้าปลีกและบริการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะมี SMEs ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อยู่ในระบบถึง 2.4 ล้านราย และสร้างการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34 ของ GDP การบริโภคทั้งประเทศ การให้ความช่วยเหลือกับ SMEs กลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทยได้ผลักดันให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan) ได้จริง ทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน และเพื่อให้ SMEs ได้เงินทุนไปปรับปรุงและขยายธุรกิจ และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อม SMEs ในระบบค้าปลีกกับธนาคาร ด้วยการผนึกกำลังสร้าง Digital Factoring Platform โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งของภาครัฐและเอกชน ผ่านสมาคมธนาคารไทยในการพิจารณาสินเชื่อให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นการแก้ไขปัญหาในการที่ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ให้แก่ SMEs ทั่วประเทศกว่า 500,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ กลุ่มการค้าปลีกและบริการยังเร่งผลักดันพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทยให้แข็งแรงในเรื่อง upskill/reskill รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจและการค้าที่เป็นธรรมเพื่อเป็นแต้มต่อให้ SMEs สามารถฟื้นฟูและขยายธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบรับนโยบาย “โครงการพี่ช่วยน้อง” ของรัฐ โดยได้ขยายไปยังสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายหอการค้าไทยอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจจับตามองนับจากนี้จึงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถผ่านพ้นจุดต่ำสุดที่ดำเนินอยู่อย่างยาวนานนี้ไปจนถึงวินาทีที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้หวนกลับมาในปี 2566 หรือไม่เท่านั้น

ใส่ความเห็น