วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > จาก “ทัวร์วัคซีน” ถึง “ย้ายประเทศ” ภาพสะท้อนความตกต่ำสังคมไทย?

จาก “ทัวร์วัคซีน” ถึง “ย้ายประเทศ” ภาพสะท้อนความตกต่ำสังคมไทย?

กระแสข่าวว่าด้วยการเสนอจัดการท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นความพยายามของผู้ประกอบการในการดิ้นรนและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจโดยอาศัยจังหวะโอกาสและช่องว่างว่าด้วยการจัดสรรวัคซีนที่ดำเนินอยู่ในต่างประเทศแล้ว ในอีกมิติหนึ่งได้สะท้อนความล้มเหลวของการจัดหาและจัดสรรวัคซีนในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารจัดการของกลไกรัฐอย่างหนักหน่วง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ “วัคซีน COVID-19” ได้รับการประเมินว่าเป็นทางรอดสำคัญสำหรับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก ความล่าช้าหรือการเข้าถึงการฉีดวัคซีนที่ยากในบางประเทศ จึงทำให้มีหลายคนมองหาลู่ทางในการฉีดวัคซีนนอกเหนือจากที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของบางประเทศ ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและวัคซีน COVID-19 ที่มีอยู่ในประเทศ ในฐานะที่เป็นดีลที่สมประโยชน์ (win-win) ทั้งสองฝ่าย

กรณีการกระตุ้นการท่องเที่ยวควบคู่กับการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง ดูจะเป็นยุทธศาสตร์ของ มัลดีฟส์ ที่ริเริ่มการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มมุ่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายใต้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3V” ประกอบไปด้วย Visit (มาเยือน) – Vaccination (ฉีดวัคซีน) – Vacation (พักผ่อน) ซึ่งจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในมัลดีฟส์

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แนวความคิดที่จะนำวัคซีนมาฉีดให้ผู้มาเยือนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนี้ ดำเนินไปหลังจากที่มัลดีฟส์ฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศไปแล้วประมาณ 300,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 55 ของประชากรทั้งประเทศ โดยวัคซีนส่วนใหญ่ที่มัลดีฟส์ได้รับเป็นการจัดสรรจากโครงการ COVAX หรือวัคซีนกองกลางที่หลายประเทศนำมาบริจาคไว้แจกจ่ายให้ประเทศที่ขาดศักยภาพในการแย่งชิงวัคซีน COVID-19 จากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ และก่อนหน้านี้มัลดีฟส์ได้รับวัคซีนบางส่วนจากจีนและอินเดียด้วย

วัคซีนที่มัลดีฟส์ได้รับมา ได้แก่ วัคซีนแอสตราเซเนกา วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งล้วนเป็นวัคซีนที่ต้องได้รับ 2 โดส ทำให้มีการเสนอให้นักท่องเที่ยวอยู่ในมัลดีฟส์อย่างน้อย 14 วัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โครงการ COVAX รวมถึงประเทศอินเดีย เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน COVID-19 ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า กลยุทธ์ 3V ของมัลดีฟส์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะดำเนินการในระยะเวลาที่ยืนยาวอย่างไร

ความเป็นไปจากกรณีของวัคซีน COVID-19 ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีน COVID-19 ค่อนข้างสูง โดยมีประชากรมากกว่า 150 ล้านคนได้รับวัคซีนแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 45-50 ของประชากรทั้งประเทศ และสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 2.5 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งสะท้อนศักยภาพและความสามารถในการกระจายวัคซีนได้เป็นอย่างดี โดยมีหลายรัฐพร้อมที่จะเปิดให้ใครก็ตามที่มีวีซ่า และมีชื่ออยู่ในระบบลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ ทำให้มีผู้คนที่หมดหวังหรือไม่ต้องการรอการจัดสรรวัคซีนในประเทศจากหลายประเทศทั่วโลก พากันมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

วัคซีนที่สหรัฐอเมริกามีให้เลือกฉีด ประกอบด้วย วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งล้วนแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาและจัดสรรอยู่ในขณะนี้ และทำให้เกิดกระแสการจัดทัวร์ท่องเที่ยวพร้อมฉีดวัคซีน COVID-19 ภายใต้สนนราคาที่เริ่มต้นตั้งแต่ 80,000 – 350,000 บาท และระยะเวลารวมตั้งแต่ 7 วัน ถึง 30 วัน

แม้ว่าผู้ประกอบการที่จัดโปรแกรมดังกล่าวจะมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ โดยมีผู้ให้ความสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลและจองโปรแกรมท่องเที่ยวนี้แล้ว หากแต่ประเด็นที่น่ากังวล ก็คือ หากเกิดอาการแพ้วัคซีนหลังฉีด และลูกค้าต้องเข้ารับการรักษาในต่างประเทศ จะดำเนินการเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างไร ซึ่งประกันจากการแพ้วัคซีนในต่างประเทศก็ยังไม่มีบริษัทไทยให้การคุ้มครอง รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายในการกักตัวหลังเดินทางเข้าไทยอีก 14 วัน ที่ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่ม จึงอยากให้ลูกค้าที่จะไปวัคซีนทัวร์ พิจารณาให้รอบด้าน

นอกจากนี้ ปัจจุบันเริ่มมีผู้บริหารและหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐออกมาตรการเพื่อป้องกันการจัดการท่องเที่ยวเพื่อฉีดวัคซีน (Vaccine Tourism) ดังกรณีที่ปรากฏทั้ง ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา และหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐแอละบามา ที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะจัดการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่ผู้ที่มีถิ่นพำนักในรัฐเท่านั้น โดยวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากกรณีว่าด้วย “ทัวร์วัคซีน” ก็คือกรณีดังกล่าวเกิดเป็นกระแสสังคมควบคู่กับปรากฏการณ์ว่าด้วยการ “ย้ายประเทศ” ในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกถึง 5 แสนคนภายในระยะเวลา 1 วัน และทะยานขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านคนในเวลาต่อมา หากแต่นัยสำคัญของปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะปริมาณจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มสังคมออนไลน์ดังกล่าวเท่านั้น เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวขยายตัวเป็นประเด็นแหลมคมต่อเนื่องกับความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบัน และในอีกมิติยังเป็นประหนึ่งการตั้งคำถามที่ท้าทายต่ออนาคตที่สังคมไทยดูจะไร้ซึ่งคำตอบ

หากแต่ความท้าทายและเสียดเย้ยที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ดังกล่าวทำให้กลไกรัฐและผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยออกมาตอบโต้ และข่มขู่ว่าจะเอาความผิดดำเนินคดีหลังจากมีผู้ร้องเรียนระบุว่ากลุ่มดังกล่าวมีเนื้อหาสร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง และยังมีการแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ทั้งที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงแนะแนวการศึกษา และแนะนำแนวทางประกอบอาชีพในต่างประเทศเพื่อแสวงหาอนาคตใหม่ที่สดใสมากกว่าที่จะอยู่ในประเทศไทย ที่พวกเราประเมินว่าไร้ความสามารถในการบริหารจัดการในการจัดสรรสวัสดิการเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ

การย้ายถิ่นฐานของผู้คนทั่วโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด สำนักงานกลยุทธ์และระบบนโยบายของสหภาพยุโรป เคยนำเสนอรายงานที่ชี้ว่าตัวเลขการย้ายถิ่นฐานของพลเมืองโลก เพิ่มขึ้นจาก 173 ล้านคน ในปี 2543 เป็น 258 ล้านคน ในปี 2559 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของจำนวนพลเมืองทั่วโลกด้วยซ้ำ

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังคงเป็นประเทศที่น่านิยมและน่าสนใจที่ผู้อพยพต้องการไปตั้งรกรากสร้างชีวิตใหม่มากที่สุด ตั้งแต่ปี 2543-2559 ประเทศกลุ่มนี้ พร้อมเปิดรับผู้อพยพไปแล้วถึงร้อยละ 64 ของผู้อพยพทั้งหมด หรือมากกว่า 165 ล้านคน ขณะที่ผู้อพยพอีก 81 ล้านคน ออกจากประเทศตนเองเพื่อไปพึ่งพิงประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนผู้อพยพอีก 11 ล้านคน เดินทางไปยังประเทศรายได้ต่ำ

ในอดีตที่ผ่านมา การอพยพย้ายถิ่นของแรงงานไทยที่อพยพไปทำงานต่างประเทศเคยเกิดขึ้นแล้ว โดยแรงงานภาคเกษตรกรรมหรือก่อสร้างเดินทางไปยังประเทศที่ร่ำรวยกว่า ทั้งในประเทศตะวันออกกลาง หรือที่ไป “เสี่ยงโชค” หางานเก็บเงินในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา แรงงานกลุ่มนี้เริ่มทยอยกลับสู่มาตุภูมิเพราะเศรษฐกิจในไทยเริ่มจะปรับตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกันแนวคิดการย้ายประเทศ เพราะเหตุผลทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะความหมดหวังกับระบบบริหารของประเทศ ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในปีนี้ แต่เกิดมาแล้วต่อเนื่องในอดีต โดยเฉพาะในสมัยที่ไทยมีการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร หรือมีทหารเข้ายึดอำนาจ ควบคุมการปกครองประเทศ ไล่เรียงมาตั้งต่าเมื่อครั้งที่ประเทศปกครองด้วย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ปรากฏการณ์ครั้งนี้จึงดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นภาพสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและฐานความคิดที่คนในสังคมกำลังมีร่วมกัน

การเกิดขึ้นของกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นกลุ่มเปิดก่อนที่จะถูกตรวจสอบและติดตามด้วยกลไกของรัฐจนนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” ได้รับการประเมินว่าเป็นภาพสะท้อนของความสิ้นหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตของประเทศชาติ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของปรากฏการณ์ในครั้งนี้อยู่ที่การมีโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้รู้ว่าคนที่คิดเหมือนกันมีนับแสน ไม่ใช่แค่กับเพื่อน หรือญาติพี่น้องไม่กี่คนเท่านั้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มดังกล่าวกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงของชีวิต ทั้งในมิติทางการเมืองและอนาคตที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเองได้ และที่สำคัญคือความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการรับมือกับ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการเรื่องวัคซีน ซึ่งกำลังสะท้อนความตกต่ำของสังคมไทย ที่ตกต่ำไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย และสุดท้ายไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ใส่ความเห็น