วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > อนาคตยานยนต์ไทย บนรอยทางของยุทธศาสตร์ EV

อนาคตยานยนต์ไทย บนรอยทางของยุทธศาสตร์ EV

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความท้าทายแห่งอนาคตครั้งใหม่ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายใหม่ออกมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อเร่งผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ZEV ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยวางเป้าหมายที่ท้าทายให้ไทยผลิตรถยนต์ ZEV ได้ 100% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2578 นั้น กรณีดังกล่าวคาดว่าจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจเกิดผลดีต่อการดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์ ZEV เข้าประเทศในอนาคตไม่น้อย สร้างโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ZEV หลักแห่งหนึ่งของโลก

แต่การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวเพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคของไทย ยังอาจต้องการองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อผลักดันไปสู่จุดนั้นด้วย ซึ่งองค์ประกอบที่ภาครัฐและเอกชนในไทยอาจจะสามารถเข้าไปจัดการได้มีอยู่ 2 ประการหลัก คือการสร้างโอกาสให้ไทยมีฐานตลาดรถยนต์ ZEV ทั้งในและต่างประเทศที่ใหญ่มากพอ และการสร้างโอกาสให้เกิดห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ ZEV ที่ครบวงจรมากที่สุดในประเทศ ซึ่งเคยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ผ่านมาไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกมาแล้ว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle: EV) ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด สวนทางกับยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE (Internal combustion engine) ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยยอดขาย EV ทั่วโลก ซึ่งหมายความรวมเฉพาะรถยนต์ที่สามารถอัดประจุไฟฟ้า (Plug-in EVs) อันได้แก่ EV ที่ขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่ล้วน (Battery EV: BEV) และ EV แบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid E: PHEV) มียอดจำหน่ายเกินกว่า 2 ล้านคัน เป็นครั้งแรกในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคันในปี 2019 และยอดขายทะยานขึ้นเป็น 3.2 ล้านคันในปี 2020 คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 43 สวนทางกับภาวะตลาดรถยนต์โดยรวมที่หดตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่สัดส่วนของยอดขาย EV เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 ของยอดขายรถยนต์รวมในปี 2017 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวภายในช่วง 3 ปีผ่านมา ซึ่งการรับรู้ถึงประโยชน์ของรถ EV ทั้งในแง่ความประหยัดค่าเชื้อเพลิง ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแรงจูงใจและมาตรการจากภาครัฐ ทำให้หลายสำนักวิจัยมองว่าโลกกำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งการปฏิวัติ EV” หรือ EV Revolution ระหว่างปี 2020-2029 โดยมีการประเมินว่ายอดขาย EV ทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 14 ล้านคันในปี 2025 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเริ่มลดลงเป็นการถาวรหลังแตะระดับ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2027 จากการเสื่อมความนิยมของรถ ICE ที่จะถูกแทนที่ด้วย EV

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่ทำให้ความนิยมในการใช้รถยนต์ EV และ ZEV ที่เพิ่มมากขึ้นในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากผลของมาตรการภาครัฐที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของยอดขาย EV โดยเฉพาะในยุโรปและจีน การให้ความสำคัญของภาครัฐต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งนำมาสู่มาตรการสนับสนุนที่ต่อเนื่องมาจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ EV เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุโรป โดยเฉพาะในแถบยุโรปเหนือ รวมถึงจีนที่ปัจจุบันเป็นตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ความเป็นไปของกระแสความนิยม EV ดำเนินไปท่ามกลางการกำหนดนโยบายส่งเสริม นับตั้งแต่มาตรการจูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้ EV ด้วยการให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อ EV (EV purchase subsidy) อนุญาตให้ EV วิ่งบนทางพิเศษได้ฟรี หรือสามารถเข้าเขตเมืองที่มีการจำกัดการจราจร (Limited-traffic zone) ได้ ไปจนถึงการกำหนดมาตรการบังคับด้านการปล่อยคาร์บอน (Carbon emissions) ซึ่งส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิต EV ทดแทนรถ ICE อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก 11 ประเทศทั่วโลกในกลุ่ม Clean Energy Ministerial ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์รวมกันถึงร้อยละ 49 ของตลาดรถยนต์โลก ได้ร่วมลงนามในโครงการ EV30@30 ที่กำหนดเป้าหมายให้แต่ละประเทศมียอดขาย EV เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับลดการผลิตรถ ICE เพื่อรองรับอนาคตตลาดรถยนต์โลกที่จะเปลี่ยนไปในระยะ 10 ปีข้างหน้า

จังหวะก้าวของไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ZEV: Zero Emission Vehicle หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนเป้าหมายที่ท้าทายให้ในปี 2573 หรืออีก 9 ปีข้างหน้าไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ ZEV ได้ร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งหมด และในปี 2578 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ ZEV ได้ทั้ง 100% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว นอกจากจะสอดคล้องกับทิศทางอุปสงค์ตลาดรถยนต์ในประเทศ รวมถึงตลาดรถยนต์หลักของโลกที่กำลังมุ่งสู่เทคโนโลยีรถยนต์ ZEV และยังน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์กลุ่ม ZEV ของโลกได้ในอนาคตอีกด้วย

แต่ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้จะปรากฏผลจริงจังก็ต่อเมื่อกลไกรัฐสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนไทยทั้งระบบขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย และต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งการสร้างตลาดและสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ ZEV ดังกล่าวของภาครัฐเกิดขึ้นท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้นเป็นลำดับในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

การเข้ามารุกตลาดรถยนต์ ZEV ของค่ายรถหลากหลายสัญชาติ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันมากขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ที่อยู่นอกกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เดิม ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ ZEV จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมจากจำนวนชิ้นส่วนที่ลดลงมาก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการแข่งขันจากประเทศที่เตรียมดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์รูปแบบใหม่เข้ามาในประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ที่กระตือรือร้นในการดึงดูดการลงทุน เนื่องจากการเลือกที่ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ ZEV ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการมีคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่มากเท่าที่ผ่านมาในอดีต

การส่งสัญญาณของกลไกรัฐไทยต่อกรณีของ EV และ ZEV ในด้านหนึ่งได้ช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมองเห็นทิศทางในการดำเนินการต่างๆ ชัดขึ้น เพื่อเร่งตอบรับต่อแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ขณะที่อีกด้านหนึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของไทยในการทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ซึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ ZEV ในประเทศนั้น นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องระดับราคารถยนต์กลุ่ม ZEV ในประเทศที่ลดลงมาใกล้เคียงกับราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้ตลาดเติบโตได้อย่างดีแล้ว

แนวทางกระตุ้นให้ตลาดขยายตัวได้อย่างดีอีกทางอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ผ่านการขยายโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางต่างจังหวัดนอกพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะเข้าถึงผู้ซื้อส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรถยนต์เพียง 1 คันต่อครอบครัวได้โดยตรง ขณะเดียวกันมาตรการที่เร่งให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนรถยนต์ใหม่เร็วขึ้น นอกจากจะช่วยสร้างยอดขายรถยนต์ ZEV ให้เร่งขึ้นในระยะสั้นได้แล้ว ในระยะยาวยังช่วยรักษาปริมาณยอดขายรถยนต์ในประเทศให้คงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคได้

สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์ ZEV พบว่าประเทศส่งออกหลักของไทยปัจจุบันยังมีจำนวนไม่กี่ประเทศที่ตั้งเป้าหมายยกเลิกจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันในอนาคตแล้ว โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ และไทยเองก็ยังไม่มีการทำ FTA ร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนให้กับไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามประเทศคู่แข่ง ขณะที่ในบางตลาดส่งออกอย่างบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังมีความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีแหล่งน้ำมันในประเทศ การใช้ ZEV จึงอาจต้องใช้เวลานานกว่า

จากข้อจำกัดดังกล่าว หากไทยต้องการขยายโอกาสส่งออกรถยนต์ ZEV เข้าไปรุกตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงตลาดใกล้เคียงที่อาจมีการตั้งเป้าหมายยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ไทยอาจจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเจรจา FTA กับประเทศที่เป็นตลาดหลักรถยนต์ ZEV ไม่ว่าจะเป็นการทำ FTA ไทย-อียู และ CPTPP เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกรถยนต์ ZEV ของไทยในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ

บางทีนี่อาจเป็นจังหวะเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอด และสร้างโอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ใส่ความเห็น