วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > Facebook เผยเทรนด์ล่าสุดของผู้บริโภคชาวไทย พร้อมปล่อยฟีเจอร์ #SongkranTogether ฉลองสงกรานต์อย่างปลอดภัย

Facebook เผยเทรนด์ล่าสุดของผู้บริโภคชาวไทย พร้อมปล่อยฟีเจอร์ #SongkranTogether ฉลองสงกรานต์อย่างปลอดภัย

Facebook เผยเทรนด์ล่าสุดของผู้บริโภคชาวไทยที่จะขับเคลื่อนอนาคต พร้อมปล่อยฟีเจอร์ให้ฉลองสงกรานต์อย่างปลอดภัย ผลการศึกษาในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ต้องมอบความสะดวกสบาย ประสบการณ์ร่วมที่สนุก รวมถึงการเชื่อมต่อที่มีความหมายเพื่อให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

สงกรานต์เป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของปีของคนไทย เพราะว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นสิ่งดีๆ รดน้ำอวยพรให้กัน ทำความเคารพญาติผู้ใหญ่ และที่สำคัญคือเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงได้มารวมตัวฉลองปีใหม่ไทยกัน

โรคระบาดโควิด-19 นั้นได้สร้างวิถีปฏิบัติใหม่ให้กับผู้คน รวมถึงยังสร้างข้อจำกัดบางประการ วันนี้ Facebook จึงได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่เพื่อร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์แบบออนไลน์ไปด้วยกันผ่านกิจกรรม #SongkranTogether เพื่อให้คนไทยได้เชื่อมต่อถึงกันและส่งต่อความสุขให้กับคนที่พวกเขารักในช่วงวันหยุดนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ทุกคนยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โรคระบาด ฟีเจอร์ใหม่ต่างๆ จาก Facebook และ Instagram นั้นรวมไปถึง AR ฟิลเตอร์ กรอบรูปโปรไฟล์ และสติ๊กเกอร์ชุดใหม่ที่ออกแบบร่วมกับศิลปินที่มีผลงานระดับโลกอย่าง “ก้องกาน” หรือคุณกันตภณ เมธีกุล

“พันธกิจของเราคือการเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน และเพื่อให้คนได้ใกล้ชิดกันไม่ว่าจะพวกเขาอยู่ที่ไหน เวลาใดก็ตาม และสงกรานต์ปีนี้เราได้ทำงานร่วมกับ ก้องกาน ศิลปินหนุ่มชาวไทย รังสรรค์คาแรกเตอร์ที่มีความหลากหลาย ดูอบอุ่น แทรกความสนุกภายใต้สไตล์เทเลพอร์ต (Teleport) หรือหลุมดำอันโด่งดัง” แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย กล่าว

ธุรกิจต่างๆ ต่างกำลังปรับตัวเพื่อยังคงรักษาการเข้าถึงและการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้บริโภคยุคดิจิทัลของไทยได้เผยให้เห็นถึงเทรนด์การช้อปปิ้งแห่งอนาคตผ่านผลการศึกษาชิ้นใหม่ของ Facebook

เทรนด์ใหม่มาแรงที่จะขับเคลื่อนอนาคต

ในยุคที่ความคาดหวังของผู้คนที่มีต่อความสะดวกสบาย การมีส่วนร่วม ชุมชน และการเป็นผู้ประกอบการนั้นกำลังเปลี่ยนไป ผู้บริโภคที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็วอย่างตลาดประเทศไทยนั้น ก็ได้เผยให้เห็นถึงเทรนด์ในอนาคตทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องธุรกิจ

เพื่อทำความเข้าใจกับเทรนด์ดังกล่าว Facebook และ Ipsos ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 12,500 คน ช่วงอายุ 18 ถึง 64 ปี จาก 14 ประเทศ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2563 โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,000 คนมาจากประเทศไทย

การศึกษาชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Emerging Trends: The Forces Shaping the Future Today’ โดยเป็นการต่อยอดมาจากผลการศึกษาชิ้นก่อนหน้าของ Facebook และได้พบว่าผู้คนนั้นกำลังมองหาหนทางใหม่ๆ ที่จะนำเวลาของพวกเขาคืนมา ค้นหาความสุขในการช้อปปิ้งออนไลน์ การมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมกับชุมชนทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น

ความสะดวก การมีส่วนร่วม และการรวมตัวออนไลน์

ความสะดวกสบายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน และกำลังจะกลายเป็นข้อบังคับที่แบรนด์จะต้องมีให้ เพราะว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่า ในอนาคต สิ่งต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาจะต้องการเวลาของพวกเขามากขึ้นไปอีก ผู้คนจึงล้วนมองหาวิธีที่จะประหยัดเวลาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เห็นได้จากการที่ร้อยละ 89 ของชาวไทยยินดีที่จะจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่ช่วยประหยัดเวลา และร้อยละ 94 ก็นำเรื่องของความสะดวกสบายมาเป็นปัจจัยควบคู่ไปกับเรื่องของราคาเวลาตัดสินใจซื้อของ โดยที่พวกเขาต้องการนำเวลาไปใช้กับสิ่งที่สำคัญกับพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลากับคนที่พวกเขารัก (ร้อยละ 60) เพื่อสุขภาพที่ดี (ร้อยละ 60) การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ (ร้อยละ 60) หรือเพื่อการท่องเที่ยว (ร้อยละ 72) และทำสิ่งดีๆ คืนให้สังคม (ร้อยละ 32)

แต่อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความรวดเร็วและความสะดวกสบายแล้ว ผู้บริโภคหลายคนยังคงต้องการประสบการณ์อันดื่มด่ำและการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเชื่อมต่อกับแบรนด์ สินค้า และผู้บริโภคคนอื่นๆ ในระดับที่ลึกยิ่งขึ้น โดยร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกล่าวว่าโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้พวกเขาสามารถโต้ตอบและมีความสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ ในระดับที่ดีขึ้น

ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่นล้วนแสดงความสนใจต่อประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สามารถให้พวกเขาเข้าถึงแบรนด์และมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นระหว่างแบรนด์กับลูกค้า โดยร้อยละ 65 ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่ามีการได้ลองช้อปปิ้งผ่านการขายไลฟ์สดมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และร้อยละ 28 ได้เกิดการซื้อของผ่านการไลฟ์สดในช่วงปีที่ผ่านมา และร้อยละ 84 ของคนกลุ่มนี้ก็ยังคงซื้อของผ่านช่องทางดังกล่าวทุกเดือน โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 9 ใน 10 คน (ร้อยละ 92) คาดว่าจะเพิ่มการซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีนี้

เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AR หรือ Augment Reality และวิดีโอนั้น ได้กลายเป็นพื้นฐานของประสบการณ์การช้อปปิ้งสำหรับผู้บริโภคไปแล้ว โดยร้อยละ 88 ของคนไทยกล่าวว่า AR ได้เสริมประสบการณ์รูปแบบดิจิทัลให้พวกเขา และพวกเขาก็หวังที่จะเห็นฟีเจอร์นี้เพิ่มเติมจากแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่าคนไทย 37 ล้านคนรับชม Facebook Watch อย่างน้อยหนึ่งนาทีในแต่ละเดือน โดนรายงานจาก Kantar ระบุว่าร้อยละ 97 ของผู้ที่รับชมวิดีโอของผู้เผยแพร่นั้น มีการใช้ Facebook Watch เป็นประจำ

เรื่องของชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอมา และประเทศไทยก็เป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของการพัฒนาชุมชนออนไลน์และเชื่อมต่อกับผู้คนในกลุ่มที่มีความสนใจและความชอบคล้ายๆ กัน โดยผู้คนกว่า 800 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิกได้เป็นสมาชิกของกลุ่มกว่า 35 ล้านกลุ่มบน Facebook โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 91) กล่าวว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของชุมชนออนไลน์ และร้อยละ 81 ก็ยินดีเปิดรับแบรนด์ที่พร้อมที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับพวกเขา

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักช้อปหลายคนมองว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นนั้นเปรียบเสมือน “ครีเอเตอร์” กลุ่มสำคัญที่ยังคงพยายามปรับตัวในช่วงโรคระบาดโควิด-19 นี้ แนวความคิดนี้ได้แปลงเป็นความต้องการที่จะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน โดยเห็นได้จากการที่ร้อยละ 89 ของผู้บริโภคที่ร่วมตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาซื้อของและสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยยังยินดีที่จะจ่ายเพิ่มอีกด้วย ตราบใดที่สินค้าและบริการนั้นๆ มีคุณภาพดีเท่ากับตัวเลือกอื่น

“ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการค้าแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง ความคาดหวังของผู้บริโภคในวันนี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ความคาดหวังต่อแบรนด์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความคาดหวังในชีวิตของพวกเขาเองด้วย ประเทศไทยนั้นก็เป็นหนึ่งในกระแสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จึงต้องปรับตัวรับกับความคาดหวังในแง่ของความสะดวกสบายจากผู้บริโภค และยังต้องมีแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีให้กับผู้บริโภคยุคดิจิทัลอีกด้วย” แพร ดํารงค์มงคลกุล กล่าวปิดท้าย

ใส่ความเห็น