ความเป็นไปของกรณีการประกาศเลื่อนเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครในอัตรา 104 บาทตลอดสาย ซึ่งเดิมกำหนดที่จะเริ่มเก็บในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เลื่อนการเก็บค่าโดยสารดังกล่าวนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ภายใต้เหตุผลว่าได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสาร โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของ กทม. ให้เกิดความเหมาะสม
ข้อน่าสังเกตจากการตัดสินใจของผู้ว่าราชการ กทม. ดังกล่าว ดูจะเป็นไปอย่างกะทันหันและออกประกาศในช่วงดึกของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 โดยที่ก่อนหน้านั้นผู้บริหารของ กทม. ยังยืนยันว่าจะจัดเก็บค่าโดยสารใหม่ตามกำหนดเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทวงถามให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายรวมเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท
หนี้ของกรุงเทพธนาคมที่มีต่อ BTS แยกเป็นการชำระหนี้ในการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ ไฟฟ้าและเครื่องกล จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768 ล้านบาท หากไม่มีการชำระบริษัทแจ้งว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญากับกรุงเทพธนาคม และ กทม. ต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่ กทม. จะมีความสามารถในการจัดสรรเงินมาจ่ายหนี้ ตามข้อเรียกร้องให้กับ BTS และจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะ กทม. ไม่ได้จัดทำงบประมาณประจำปีสำหรับจ่ายหนี้ในส่วนนี้มาก่อน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้อย่างมากในการจัดการกับภาระหนี้ของ กทม. จึงดูเหมือนจะอยู่ที่การขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาชำระหนี้เหล่านี้
หนังสือทวงหนี้ของ BTS ระบุด้วยว่า กรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ตามที่ BTS เรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้ BTS มีความมั่นใจได้เลยว่าจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตจากกรุงเทพธนาคม หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเจ้าของกรุงเทพธนาคม โดย BTS เชื่อว่า ทั้งกรุงเทพธนาคม และ กทม. ต่างตระหนักเป็นอย่างดีมาระยะหนึ่งแล้วว่า หลักการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการนับแต่เริ่มต้นเปิดให้บริการ การเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบัน ได้อาศัยเพียงการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนในประมาณ 15 บาท
การใช้บริการตลอดส่วนต่อขยายที่ 1 และไม่เรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนสำหรับการใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับจากค่าจ้างในการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงนั้น และต้นทุนค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ทำให้เกิดผลขาดทุนแก่กรุงเทพธนาคม และ กทม. ตลอดมาเป็นจำนวนมาก ย่อมจะทำให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่กับ BTS ได้ และกลับจะมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไปอีก จนอาจถึงขั้นที่ไม่สามารถให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อีกต่อไปในระยะเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ การที่กรุงเทพธนาคม และ กทม. ได้ตัดสินใจไม่เรียกเก็บค่าโดยสารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีความคาดหวังว่าการแก้ไขปัญหาการให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่ใช้การแก้ไขสัญญาเพื่อให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน
ทั้งในโครงการส่วนหลักคือช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ถือเป็นโครงข่ายเดียวกัน จนเกิดผลดีแก่ประชาชนเพราะทำให้ค่าโดยสารที่จะเรียกเก็บตลอดสายลดลงได้เป็นจำนวนพอสมควร และให้ BTS เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาวแทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระเอาจากกรุงเทพธนาคม และ กทม.
กรณีดังกล่าวได้มีการเจรจาสำเร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 312562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่มีกำหนดเลยว่า ครม. จะนำกรณีดังกล่าวเข้าพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งทั้งกรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่สามารถที่จะให้ความชัดเจนได้ และยิ่งทำให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. สร้างหนี้สินกับบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่ BTS ด้วย
BTS ยังอ้างถึงสถานะการเป็นบริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนมาก การที่กรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ BTS ย่อมจะสร้างความเสียหายให้แก่ BTS รวมทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของ BTS เป็นอย่างมาก
ข้อเรียกร้องของ BTS จึงไม่เพียงแต่ทวงถามให้ชำระหนี้ที่กรุงเทพธนาคมและ กทม. คงค้างอยู่เท่านั้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งยังได้อ้างถึงการเร่งรัดให้มีการพิจารณาเห็นชอบสัญญาที่ BTS ยินยอมตกลงตามหลักการของร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะหยุดการที่กรุงเทพธนาคมและ กทม. จะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปอีก
แม้ว่าภายใต้ร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS จะไม่ได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนทันที แต่หากผลประกอบการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไปในระยะยาวดีขึ้น BTS ซึ่งเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการและเป็นผู้ให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็จะมีโอกาสได้หนี้ที่ค้างชำระนี้คืนได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการในการแก้ไขหนี้ ที่แม้จะมีความเสี่ยงกับ BTS บ้าง แต่ก็ทำให้ BTS อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก
ภายใต้ความไม่แน่นอนว่าการดำเนินการตามร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ครม. จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงไม่เป็นธรรมกับ BTS และหากกรุงเทพธนาคมและ กทม. ยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ได้ BTS มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมาย และตามสัญญาของ BTS กับ กรุงเทพธนาคม และ กทม. ต่อไป ซึ่งดูจะเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นทางแพร่งของ กทม. หากแต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นประโยชน์กับ BTS ทั้งขึ้นทั้งล่อง
หรือถึงที่สุดแล้วแนวทางการแก้ไขภาระหนี้ของกรุงเทพธนาคม-กทม. ในฐานะที่เป็นองค์กรท้องถิ่นจะต้องพึ่งพาอำนาจการตัดสินใจจากรัฐศูนย์กลาง