วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > สยามพิวรรธน์ เดินหน้าส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์”

สยามพิวรรธน์ เดินหน้าส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์”

สยามพิวรรธน์ ตอกย้ำจุดยืนพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน เดินหน้าส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์”

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ “ไอคอนสยาม” และ สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ตอกย้ำจุดยืนการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน เมื่อ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ได้รับรางวัลในสาขา “Responsible Business Leadership” จากเวที “Asia Responsible Enterprise Awards 2020” หรือ AREA 2020 ในฐานะผู้นำวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน และคำนึงถึงการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยรางวัล “Green Leadership” ให้กับสยามพิวรรธน์ ในฐานะองค์กรที่มีนโยบายดูแลรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆพื้นที่ที่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ และในการนี้สยามพิวรรธน์เดินหน้า Green Leadership ตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกรายแรกผู้ส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์” กับการจัดการขยะได้แบบ 360 องศา เพื่อที่จะสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวว่า “รางวัล Responsible Business Leadership เป็นรางวัลของทุกคนในบริษัทสยามพิวรรธน์ ที่ร่วมกันทำหน้าที่ตามปณิธานหลักของบริษัทคือ การพัฒนาโครงการให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อส่วนรวมที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ใช้กลยุทธ์ “ร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Values)” ซึ่งได้บรรจุเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญใน 3 มิติ คือ ผู้คน ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการที่สยามพิวรรธน์บริหารจะต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง เราไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว แต่เราได้ปลูกฝังเข้าไปอยู่ในการดำเนินธุรกิจทุกๆวัน สยามพิวรรธน์มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคน ผ่านการนำภูมิปัญญาไทย และความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากในสังคมไทยและทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ในโครงการของสยามพิวรรธน์เป็นเวทีของการนำเสนอสินค้าและบริการในหลากหลายประเภท ตลอดจนช่วยพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยแบบครบวงจร นอกจากนี้เราเชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ใดของสยามพิวรรธน์จะต้องนำความเจริญ และความสะดวกสบายเข้าไปช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ ตลอดจนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวลด้วยการสร้างพื้นที่ตามแนวคิดอารยสถาปัตย์ ซึ่งนับว่าสยามพิวรรธน์เป็นผู้นำเรื่องการทำอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในอาคารอย่างครบวงจรเป็นรายแรกในวงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก”

โครงการที่สยามพิวรรธน์ริเริ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพคนและได้บรรจุเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ไอคอนคราฟต์ พื้นที่สนับสนุนส่งเสริมผลงานจากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุด พร้อมเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในมุมมองใหม่ลงบนงานหัตถศิลป์ สุขสยามเวทีสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน พร้อมเชิดชูความสามารถและผลักดัน ปั้น “Local Heroes” ให้กลายเป็น “Global Heroes” O.D.S. (Objects of Desire Store) พื้นที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และงานออกแบบที่โดดเด่นของดีไซเนอร์ไทยชั้นนำที่ชนะรางวัลระดับนานาชาติ และโซน “Made By Beautiful People” พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ ของเหล่าผู้มีความสามารถในการออกแบบและผลิตสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ เด็กพิเศษ หรือผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

“บนเวทีเดียวกันนี้ สยามพิวรรธน์ ได้รับรางวัล “Green Leadership” ในฐานะองค์กรที่มีนโยบายดูแลรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ พื้นที่ที่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจด้วยการจัดทำนโยบาย และวางแผนแนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มและถูกดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เรายังได้ขยายผลด้วยการบรรจุแนวคิดการดูแลรักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจในทุกๆวัน อาทิ การใช้สยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่สนับสนุนให้คนใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ECOTOPIA พื้นที่สร้างสรรค์จากกลุ่มคนรักษ์โลกตัวจริงที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์รักษ์โลกกว่า 300 แบรนด์ ตั้งแต่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าที่สามารถนำบรรจุภัณฑ์มา Refill เพื่อช่วยลดขยะให้กับโลกได้ อาหารเพื่อสุขภาพที่คัดเลือกวัตถุดิบออร์แกนิคจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมารีไซเคิลใหม่ จนไปถึงงานฝีมือและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและชาวบ้าน เพื่อให้เป็นคอมมูนิตี้ที่ชวนให้ทุกคนมาเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสร้างปรากฎการณ์รักษ์โลกไปด้วยกัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่แสดงการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะสยามพิวรรธน์เชื่อว่า เราสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ด้วยกัน Together, We Co-Create a Better World” นางชฎาทิพ เสริม

เปิดบ้าน “สยามพิวรรธน์” ต้นแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกรายแรก ผู้ส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์”

สยามพิวรรธน์พร้อมที่จะขยายผลต่อยอดจากการได้รับรางวัล Green Leadership ด้วยการยกระดับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรต้นแบบของการจัดการขยะเป็นศูนย์ (zero waste) โดยสามารถจัดการขยะได้แบบ 360 องศา เพื่อที่จะสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรับผิดชอบ สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และกว่า10 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ ได้นำหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse Recycle มาใช้ในการสร้างระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโครงการ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่สยามพิวรรธน์ลงมือทำอย่างจริงจัง จนทำให้ได้รับการชื่นชมจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการขยะว่าเป็นองค์กรที่มีระบบการคัดแยกขยะที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรที่สุด โดยในปีนี้ สยามพิวรรธน์ ได้ยกระดับการจัดทำแผนบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา เพื่อเป้าหมาย “การจัดการขยะเป็นศูนย์ (zero waste)” เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้ลูกค้าและประชาชนเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม เข้าใจและเรียนรู้ที่จะคัดแยกขยะ การสร้างระบบคัดแยกขยะที่ครบวงจร เพื่อส่งต่อไปรีไซเคิลให้กลายเป็นวัตถุดิบ จนสามารถนำมาเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่าได้”

ในปีนี้สยามพิวรรธน์ได้ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ และเอกชนมากมาย จัดโครงการเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเรียนรู้ และเข้าใจหลักการของการแยกขยะ เริ่มจาก

1. โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ ร่วมกับ เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) สร้างโมเดลต้นแบบการเรียกคืนขยะพลาสติกที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อทำการแยก ทำความสะอาด ขยะพลาสติกประเภทต่างๆ จากที่บ้านแล้วนำมาหยอดในจุดบริการที่สยามพิวรรธน์จัดให้

2. โครงการ ‘มือวิเศษ x ถังวน’ ร่วมกับ พีพีพี พลาสติก (PPP Plastics) ที่เปิดให้ประชาชนนำขยะพลาสติกประเภทยืดมาส่งคืนให้นำกลับไปรีไซเคิล

3. โครงการ ‘Recycle Collection Center’ ร่วมกับ TRBN จัดทำจุด Drop-Off Point ขยะประเภทต่าง ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิล โดยเปิดให้ประชาชนสามารถนำขยะที่คัดแยกขยะแล้วมาทิ้งที่ Recycle Collection Center แห่งนี้ ซึ่งความโดดเด่นและพิเศษของศูนย์นี้คือการที่จุด Drop-Off Point ผลิตจากกระบวนการอัพไซคลิ่ง โดยเป็นความร่วมมือของบริษัท เบสท์โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท ดั๊ก ยูนิต จำกัด พร้อมได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของแบรนด์ชั้นนำ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตราแพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ เราตั้งใจให้ศูนย์นี้เป็นต้นแบบที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักจัดการทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้ว และนำมาส่งมอบให้กับศูนย์รีไซเคิล หรือ เจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลต่อไป

การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง คือจุดเริ่มต้นวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ซึ่งในขั้นตอนหลังจากที่ได้ทำการคัดแยกขยะแล้ว สยามพิวรรธน์จะทำการส่งต่อขยะเหล่านี้ไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ด้วยการเชื่อมโยงกับ ร้านรับซื้อขยะ หรือ ศูนย์รีไซเคิล ให้พบกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำ อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่จะนำขยะพลาสติกประเภท PET และ PE เข้าสู่ขั้นตอนของการผลิตวัตถุดิบเพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้ผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อเข้ากระบวนการอัพไซคลิ่ง และดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ ที่จะนำขยะพลาสติกประเภท Multi-layer ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัพไซคลิ่งเหล่านี้บางส่วนจะถูกนำมาจำหน่ายในพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก “อีโค่โทเปีย” ที่ สยามดิสคัฟเวอรี่

สยามพิวรรธน์ยังคงเดินหน้า เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่า ต่อผู้คน ชุมชนสังคม ประเทศชาติ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในวงกว้าง ตลอดจนยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่ “องค์กรขยะเป็นศูนย์” พร้อมเป็นต้นแบบที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ใส่ความเห็น