วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความหวังสุดท้ายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความหวังสุดท้ายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

มติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่เห็นชอบมาตรการเปิดประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบ “จำกัดจำนวน” ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยจะเป็นการเปิดประเทศแบบจำกัด ด้วยการจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภท “พิเศษ” ที่จะมาพำนักอยู่ในประเทศไทยระยะยาวไม่ต่ำกว่า 90-270 วัน ในด้านหนึ่งอาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออกเดินหน้าเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยให้ดำเนินต่อไปได้ หลังจากที่ต้องหยุดชะงักมานานเพราะการระบาดของไวรัส COVID-19

หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง มติดังกล่าวดูจะตั้งอยู่ท่ามกลางการเล็งผลเลิศที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์โดยรอบ เพราะหลังจากที่มีการเปิดเผยว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจากมณฑลกว่างโจวเดินทางมาประเทศไทย ในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ซึ่งนับเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรหลังจากไทยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการประกาศเลื่อนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคมแทน

ความสับสนในการออกมาตรการที่ดำเนินไปท่ามกลางเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติหากต้องการจะเดินทางมายังประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว หรือลองสเตย์ ภายในประเทศไทย การยอมรับที่จะปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน รวมถึงการมีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย โดยเฉพาะหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พักภายในประเทศไทย ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้สอดรับกับความพร้อมของทั้งผู้ประกอบการและความกังวลใจของประชาชนในพื้นที่

การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพราะประชาชนในจังหวัดท่องเที่ยว อาจไม่ได้เห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด ความกังวลใจของพวกเขายังผูกพันอยู่กับมายาภาพที่ ศบค. ได้สร้างไว้ตลอดระยะเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่คำถามว่าด้วยความพร้อมของมาตรการคัดกรอง แผนการติดตาม ยังเป็นประเด็นที่น่ากังขาไม่น้อย

การให้ค่าและวางน้ำหนักไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้สถานการณ์และมาตรการในการผ่อนปรนเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ อยู่ในภาวะที่ขาดความแน่นอนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข่าวว่าจีนกำลังตรวจคัดกรอง COVID-19 กับประชากรจำนวน 9 ล้านคนในเมืองชิงเต่า หลังจากพบ ผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่รักษาผู้ป่วยนำเข้า

ตามรายงานระบุว่าจีนพบผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 6 รายและผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก 6 ราย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลโรคทรวงอกชิงเต่า (Qingdao Chest Hospital) ขณะที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) รายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 21 รายทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงเดียวกัน ซึ่งข้อมูลนี้ถูกแถลงหลังจากที่มีประกาศจากเมืองชิงเต่า ทว่าตัวเลขกลับไม่ได้รวมผู้ป่วยยืนยันในเมืองดังกล่าว และไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดจึงไม่นับรวมเข้าไปด้วย

การพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวทำให้ทางการเมืองชิงเต่ามีคำสั่งล็อกดาวน์โรงพยาบาลโรคทรวงอก รวมถึงอาคารที่ผู้ติดเชื้อพักอาศัยอยู่เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่จะลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ COVID-19 ระบาดหนัก แต่ทางการจีนยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวังขั้นสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับไปล็อกดาวน์ปิดเมืองซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความสูญเสียให้แก่กิจกรรมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหายไปแล้วกว่า 439 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อคิดเป็นมูลค่า การท่องเที่ยวทั่วโลกสูญเสียรายได้ไปแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อมูลล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ชี้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกมีจำนวนเพียง 233 ล้านคน หรือหดตัวลงกว่าร้อยละ 65 (YoY) และในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปีนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกเหลือเพียง 18 ล้านคน หดตัวกว่าร้อยละ 95 (YoY) เนื่องจากการปิดน่านฟ้าและพรมแดนระหว่างประเทศในหลายประเทศ

สำหรับทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2564 ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าหลายประเทศจะได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติและมีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย ณ วันที่ 1 กันยายน 2563 ประเทศที่มีการผ่อนปรนมาตรการการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 115 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรป

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศยังเป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไข เช่น การกำหนดประเทศต้นทางและการกักตัวในสถานที่พักเป็นเวลา 7-14 วัน ขณะที่บางประเทศที่มีการทำสัญญาการท่องเที่ยวกับเฉพาะบางประเทศที่มีการจัดการบริหารโรคได้ดีสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีจำนวนน้อย

นอกจากนี้ มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ยังมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศต่างๆ โดยที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีการยกเลิกมาตรการไม่ต้องกักตัวสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสเปน ฝรั่งเศส และเบลเยียม ขณะที่ประเทศที่เคยมีการทำ Travel Bubble โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศบอลติก ระหว่างประเทศลัตเวีย-ลิทัวเนีย-เอสโตเนีย มีการปรับเงื่อนไขการท่องเที่ยว โดยลัตเวียได้ปรับกฎเกณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเอสโตเนียต้องมีการกักตัว 14 วัน เนื่องจากพบว่าเอสโตเนียมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2563 จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 77.7 จากปีก่อนหน้า หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 324 ล้านคน จาก 1.45 พันล้านคนในปี 2562 ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 320,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.48 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 โดยการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศส่วนใหญ่น่าจะเป็นการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากที่สุด

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับสองรองจากภูมิภาคยุโรป แม้หลายประเทศในภูมิภาคจะสามารถควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ได้ดี และในช่วงปลายปีของทุกปี ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายๆ ประเทศ แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงมีความระมัดระวังในการเปิดรับชาวต่างชาติ ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้น่าจะยังจำกัดอยู่มาก

ทิศทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกการฟื้นตัวในระดับที่เข้าสู่ภาวะก่อนการระบาดของ COVID-19 อาจต้องใช้เวลาหลายปีนับจากนี้ โดยหลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2567 โดยสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนกลับมายังทิศทางการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยทางการไทยยังระมัดระวังในการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งหากมองไปข้างหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวก่อนจะเป็นเดินทางเพื่อการพักผ่อนในกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง-บน เนื่องจากการเดินทางในช่วงนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปและกลุ่มไมซ์อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ความพยายามที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในฐานะที่เป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความสับสนและไม่แน่นอนในสังคมไทยและตลาดการท่องเที่ยวของโลกในขณะนี้ อาจเป็นเพียงแสงสว่างที่อยู่ไกลออกไปที่ปลายอุโมงค์ดำมืดและตีบแคบนี้เท่านั้น

ใส่ความเห็น