วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > ประธานรัฐสภาสนใจนวัตกรรมบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ในงานนิทรรศการใช้ประโยชน์ที่รัฐสภา

ประธานรัฐสภาสนใจนวัตกรรมบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ในงานนิทรรศการใช้ประโยชน์ที่รัฐสภา

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดนิทรรศการ “ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์” ณ อาคารสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เกียกกาย โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อม ส.ส. และเจ้าหน้าที่รัฐสภา ให้เกียรติเยี่ยมชมนิทรรศการด้วยความสนใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาให้ความสนใจการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ โดยสอบถามถึงจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมและประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ ซึ่งนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะหัวหน้าโครงการ โครงการวิจัย “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร” รายงานว่าเพื่อหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้เข้าใจภาพรวมของระบบน้ำในชุมชนตนเอง โดยศึกษารูปแบบและกลไกสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ผลผลิตและผลกระทบตามที่ตั้งไว้ จึงได้ดำเนินโครงการร่วมกับพื้นที่นำร่อง 10 ตำบล 4 อำเภอ ซึ่งคณะวิจัยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ดำเนินกิจกรรมในชุมชนโดยเริ่มจากการพัฒนาผู้นำในพื้นที่ให้มีความเข้าใจ ร่วมจัดทำประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่เพื่อให้เข้าใจพื้นที่แหล่งน้ำที่มี การจัดทำตารางการเพาะปลูกพืชในรอบปี บนทางเลือกพืชที่เพาะปลูกต่าง ๆ ตามปริมาณน้ำแต่ละปี จัดทำแผนผังชุมชนซึ่งแสดงผังเกษตร ผังน้ำ และโอกาสทางตลาดของพืชที่จะปลูก ตลอดจนการจัดทำแผนที่ต้นทุนน้ำรายตำบล การจัดประชุมประชาคมเพื่อร่วมตัดสินใจการปลูกพืช การใช้น้ำ และการขอการสนับสนุนการจัดการด้านน้ำหรือโครงการที่เหมาะสม เช่น ขุดลอก น้ำบาดาล ฯลฯ ทั้งจากของตนเอง อบต. ชลประทาน หรือจังหวัดต่อไป รวมถึงการนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับระบบน้ำกับโครงการชลประทานท่อทองแดงเพื่อประกอบการตัดสินใจปล่อยน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเป็นข้อมูลฐานเดียวกันระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ชลประทาน

ผลจากโครงการวิจัยนี้ทำให้ได้รูปแบบและวิธีการเพื่อการขยายผลการเรียนรู้ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงประมาณ เกิดรูปธรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปเชื่อมกับโครงการ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการปล่อยน้ำจากโครงการชลประทาน (เชิงปริมาณและช่วงเวลา เพื่อลดความสูญเสียในการส่งน้ำ) ในโครงการได้ติดตั้งระบบวัดความชื้นในดิน เพื่อเป็นข้อมูลว่าน้ำเพียงพอหรือขาดแคลน เพื่อให้เกษตรกรทราบความต้องการน้ำของพืชที่ถูกต้องมากขึ้น

“โครงการวิจัยนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของสายน้ำและกลุ่มคนดูแล ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้เห็นคุณค่าของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมความรู้และทักษะการจัดระบบความรู้ ตลอดจนยกระดับศักยภาพกลุ่มผู้ใช้น้ำ ช่วยสร้างทางเลือกให้กับคนในชุมชน และสามารถวางแผนการเพาะปลูกในอนาคต หรือปรับพื้นที่ สร้างอาชีพใหม่ได้ด้วยตัวเอง นับเป็นการรักษาและพัฒนาต้นทุนแหล่งน้ำด้วยการเชื่อมโยงความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผนวกกับการใช้ดิจิตัลชุมชน ทั้งการวัดคุณภาพดินและน้ำ การวัดค่าความชื้น ระดับน้ำ และระบบ IoT ให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่ทำงานสะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดการใช้นเกของชุมชน สร้างความมั่นคงทางน้ำและลดความขัดแย้งของเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ อีกทั้งจะเป็นโครงการนำร่องที่กรมชลประทานจะขยายผลต่อไปอีก 44 โครงการในอนาคต”

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย “การศึกษาประสิทธิผลของการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ ในการรักษาแผลในบริเวณเท้าอันเกิดจากโรคเบาหวาน” ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถเพิ่มอัตราการฟื้นฟูแผลเบาหวานได้ และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท พรีมา เลเซอร์ เทอร์ราพี จำกัด ในการผลิตเครื่องมือสำหรับรอยแผลที่ตื้นและรอยแผลที่ลึก รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์ให้มีรูปแบบเหมือนรองเท้าเพื่อครอบคลุมแผลเบาหวานที่เท้าได้ดี โดยเน้นการใช้งานที่ใช้ในบ้านได้อย่างสะดวก และใช้เองได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเพิ่มอัตราการฟื้นฟูแผลได้เร็วกว่าการดูแลแผลแบบปกติมากขึ้นถึงร้อยละ 60

ส่วนงานอื่น ๆ ได้แก่ การพัฒนาผ้าไหมชุมชนร่วมกับผู้ประกอบการและนักวิจัย โดยโครงการการศึกษาและการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบายพาณิชย์ ซึ่งมีการผลักดันไปใช้ประโยชน์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับคนเป็นสิวผิวแพ้ง่าย โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งพัฒนาสารสกัดบริสุทธิ์แซนโทนจากเปลือกมังคุดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้ว และนิทรรศการโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย นวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก นวัตกรรมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ

ใส่ความเห็น