วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > ยูนิโคล่ นำธุรกิจสู่ความยั่งยืนทั้งในระดับ ผู้คน ชุมชน และโลก ผ่านแนวคิด “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า”

ยูนิโคล่ นำธุรกิจสู่ความยั่งยืนทั้งในระดับ ผู้คน ชุมชน และโลก ผ่านแนวคิด “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า”

ยูนิโคล่ แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกจากญี่ปุ่น ตระหนักถึงความสำคัญของเสื้อผ้าและพลังที่ซ่อนอยู่ จึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามพันธกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการ “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” ด้วยความเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนพลังของเสื้อผ้าให้กลายเป็นพลังแห่งความดี สามารถทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ ด้วยการออกแบบ ตัดเย็บ และจำหน่ายเสื้อผ้าที่ดี อย่างที่ยูนิโคล่ได้มุ่งมั่นและยึดถือมาโดยตลอด

คุณจันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ยูนิโคล่ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานาน 9 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เรายึดมั่นในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติตามพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัทแม่ ควบคู่ไปกับการยึดมั่นในปรัชญา ‘ไลฟ์แวร์ (LifeWear)’ ซึ่งเน้นถึงการส่งมอบเสื้อผ้าที่มีคุณภาพและสวมใส่สบาย ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยทำให้สังคมของเราดีขึ้น ซึ่งพันธกิจด้านความยั่งยืนที่ยูนิโคล่ยึดถือและปฏิบัติครอบคลุม 3 ด้านด้วยกัน คือ ผู้คน ชุมชน และโลก”

ผู้คน

พันธกิจด้านความยั่งยืนของยูนิโคล่เริ่มต้นตั้งแต่ที่บริษัท ยูนิโคล่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ไปพร้อมกับการส่งเสริมสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและใส่ใจกับสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายของแต่ละคน ยูนิโคล่ยังมอบโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมในการแสดงทักษะความสามารถ โดยปราศจากอคติทางด้านเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ เพศสภาพ ศาสนา ฐานะ หรืออายุ

ยูนิโคล่เชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน และมีการจ้างงานผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกาย โดยมีการร่วมมือกับสถาบันราชานุกูล และสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยปัจจุบันยูนิโคล่ได้จ้างงานผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกายรวม 23 คนให้ทำงานที่สำนักงานใหญ่ และที่ร้านยูนิโคล่ใน 16 สาขาทั่วประเทศ ตรงตามเป้าหมายการจ้างงานของปีงบประมาณนี้

เพื่อเป็นการส่งเสริมความมุ่งมั่นของพนักงาน ยูนิโคล่ยังสนับสนุนพนักงานให้มีโอกาสได้พัฒนาตนเองไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัทผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ไปทำงานแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ รวมถึงโครงการ ‘ผู้จัดการร้านฝึกหัด’ หรือ UNIQLO Manager Candidate (UMC) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนพนักงานให้ได้พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด พร้อมรับโอกาสในการเป็นผู้จัดการตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ ที่จะช่วยให้แต่ละคนสามารถวางแผนอนาคตในการทำงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ชุมชน

ด้วยความตั้งใจที่จะส่งความสุขให้ทุกคนผ่านเสื้อผ้าเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดียิ่งกว่าเดิม ยูนิโคล่ ประเทศไทย จึงส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกิจกรรมน่าสนใจมากมาย

– Recycling Clothes Donation: โครงการเพื่อสังคมซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ยูนิโคล่ผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูงและทนทาน จึงทำให้สินค้าสามารถใช้ได้อย่างยาวนาน และแม้ว่าลูกค้าจะไม่ใส่แล้ว ก็สามารถส่งต่อเสื้อผ้าให้กับผู้ที่ขาดแคลนได้ โดยโครงการนี้เริ่มต้นที่ไทยในปี 2555 และได้บริจาคเสื้อผ้ากว่า 78,000 ชิ้น (นับถึงเดือนพฤษภาคม 2563) ให้กับผู้ขาดแคลนกว่า 4,500 คนผ่านพาร์ทเนอร์ เช่น สมาคมอาสาสมัครสันติ (Shanti Volunteer Association – SVA) คณะกรรมการการศึกษาเพื่อผู้อพยพชาวพม่า (Burmese Migrant Workers’ Education Committee – BMWEC) ในจังหวัดตาก และมูลนิธิบ้านร่มไทร จังหวัดเชียงใหม่

– 10 Million Masks Donation: บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ต้องการสนับสนุนความพยายามในการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้บริจาคหน้ากากอนามัยจำนวน 10 ล้านชิ้นให้กับสถาบันการแพทย์ทั่วโลก โดยยูนิโคล่ ประเทศไทย ได้บริจาคหน้ากากอนามัยจำนวน 500,000 ชิ้นให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

– Education Center: กิจกรรมอบรมให้ความรู้และสอนทักษะการทำงานในร้านยูนิโคล่สำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญาจัดขึ้นมาแล้ว 2 ปี จากความร่วมมือของยูนิโคล่กับสถาบันราชานุกูล เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานสำหรับผู้คนกลุ่มนี้

– In-Store Shopping Experience: ยูนิโคล่จัดกิจกรรมเสริมทักษะด้านสังคมและการเรียนรู้สำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามาตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมมือกับสถาบันราชานุกูล และสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางสังคมผ่านการเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วยตนเอง โดยมีอาสาสมัครจากพนักงานยูนิโคล่คอยให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมนี้มาแล้วรวม 9 ครั้ง โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 12 โรงเรียน

โลก

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ยูนิโคล่จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพและการใช้งานเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยสินค้าของยูนิโคล่มีคุณภาพสูงและมาพร้อมนวัตกรรมที่ผ่านการรังสรรค์มาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น กางเกงยีนส์ยูนิโคล่ ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ศูนย์นวัตกรรมยีนส์ (Jeans Innovation Center) ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการลดปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตยีนส์ เสื้อโปโล DRY-EX ซึ่งทำจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมสุดล้ำนี้ช่วยทำให้เหงื่อแห้งได้อย่างรวดเร็ว และรีไซเคิลสินค้าดาวน์ขนเป็ด ซึ่งร้านค้ายูนิโคล่ในหลายประเทศทั่วโลกได้เปิดรับผลิตภัณฑ์ดาวน์ขนเป็ดที่ลูกค้าไม่ใช้แล้ว ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยยูนิโคล่เตรียมวางจำหน่ายสินค้าดาวน์ขนเป็ดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลในฤดูหนาวที่จะถึงนี้

นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ภายในร้าน ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานไปได้ประมาณ 20-50% เมื่อเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเดิม รวมถึงมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้งลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังวิตก และมีพลาสติกชิ้นใหม่ลงสู่ทะเลปริมาณปีละ 8 ล้านตัน นอกเหนือจากที่คาดกันว่ามีขยะในทะเลอยู่แล้ว 150 ล้านตัน ยูนิโคล่จึงเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษหรืองดการใช้พลาสติกมากขึ้น และพยายามลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งสำหรับคลิปเสื้อเชิ้ต ป้ายบอกขนาด และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่ง

เพื่อบรรลุเป้าหมายของ บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ในการลดปริมาณการหยิบยื่นพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้กับลูกค้าภายในร้านลง 85% ภายในปี 2563 ยูนิโคล่จึงสนับสนุนให้ลูกค้าใช้ถุงผ้า Eco Bag ซึ่งทำมาจากผ้าฝ้ายที่ผลิตด้วยวิธีการยั่งยืนและได้การรับรองจากองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร Better Cotton Initiative (BCI) นอกจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมนี้ ยูนิโคล่จะงดให้บริการถุงพลาสติกสำหรับใส่สินค้า และเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำมาจากกระดาษรีไซเคิลที่ผ่านการรับรองจากการจัดการป่าไม้ FSC (Forest Stewardship Council) โดยถุงกระดาษนี้จะจำหน่ายในราคาถุงละ 2 บาท รายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดจำหน่ายจะมอบให้แก่มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมลดการสร้างขยะพลาสติกให้กับสิ่งแวดล้อม

“เป้าหมายของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง คือมุ่งลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในร้านสาขาทั่วโลกให้ได้ 85% หรือประมาณ 7,800 ตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2563 โดยยูนิโคล่มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างพลังและพัฒนาผู้คน ชุมชน และโลก ให้เติบโตไปพร้อมกันผ่านพันธกิจ ‘ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า’ ของเราต่อไป” คุณจันทร์จิรา กล่าวสรุป

คุณจันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด

ใส่ความเห็น