ชาวดอยห้วยตองก๊อเมืองสามหมอกรับมือสู้โควิด-19 นักวิจัยแนะนำเงินที่ได้จากการทอผ้ามาตั้ง “กองทุนหมู” กับดอยสเตอร์ เป็นรายได้เสริมยามขาดนักท่องเที่ยวและจำหน่ายผ้าทอไม่ได้ เพื่อเป็นธนาคารอาหารที่เสริมความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน พร้อมวางแผนปรับสินค้า วิธีขาย และการตลาดมากขึ้นในอนาคต
นายสมภพ ยี่จอหอ นักวิจัยและพัฒนาจากดอยสเตอร์ ผู้รับทุนวิจัยจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า-เอสเอ็มอี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เมื่อแรกเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนวิตกกันมากเพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะชาวดอยบ้านห้วยตองก๊อ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่มีการผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีลวดลายผ้าเป็นเอกลักษณ์และมีศักยภาพทางการตลาดสูง ทำให้สินค้าของชุมชนภายใต้แบรนด์ “ตองก๊อแฟมิลี่” ร่วมกับดอยสเตอร์เป็นที่รู้จักและจดจำในตลาด ต้องหยุดชะงักไปพร้อมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สมาชิกในชุมชนต้องปิดหมู่บ้านและกักตัวห้ามคนเข้าออกหมู่บ้านเพื่อควบคุมโรค
ในช่วงนี้นอกจากการพึ่งพิงแหล่งอาหารจากป่าจากไร่หมุนเวียนแล้ว สมาชิกชุมชนยังปลูกผักสวนครัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารแก่ครัวเรือนและชุมชน ส่วนแหล่งโปรตีนนั้นแต่เดิมเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูไว้กิน มีปลาในลำห้วยลำธารให้หาอย่างอุดมสมบูรณ์
ล่าสุดได้ริเริ่มตั้งกองทุนหมูขึ้นเพื่อสร้างรายได้และเป็นแหล่งโปรตีนของชุมชน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากกองทุนวัวที่หน่วยงานอื่น ๆ เคยให้การสนับสนุนและชุมชนยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างดี ตนจึงได้หารือและแนะนำให้เยาวชนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่บ้านมีรายได้เสริมอีกอย่าง คือ เลี้ยงหมูดอยไว้ขาย แล้วขยายมาให้ครอบครัวอื่น ๆ ได้เลี้ยงกันเพิ่มด้วยบ้านละ 1-2 ตัวในช่วงเริ่มต้น ทำเป็นกลุ่มเป็นกองทุนหมูกับดอยสเตอร์
ทั้งนี้ งานผ้าทอส่วนใหญ่มักจะเป็นงานของผู้หญิง ส่วนผู้ชายและเด็ก ๆ ที่ไม่อยากอยู่ในเมืองจำเป็นต้องมีอาชีพเสริมอื่น ๆ เพื่อให้มีรายได้จากหลากหลายช่องทาง อีกทั้งที่ผ่านมาชุมชนก็เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูดอยไว้บริโภครวมถึงประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว หากเลี้ยงเพิ่ม เหลือก็แบ่งขายให้กับพี่น้องในหมู่บ้านอื่นใกล้เคียงจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงเริ่มต้นกองทุนหมูได้รับจัดสรรเงินเพื่อดำเนินการนำร่องจากเงินรายได้จากการขายผ้าทอ
ซึ่งส่วนหนึ่งชุมชนเก็บไว้เป็นกองทุนและอีกส่วนหนึ่งได้รับสมทบจากกองทุนของดอยสเตอร์ เพื่อเป็นเงินทุนซื้อลูกหมูของคนในหมู่บ้านแจกจ่ายสมาชิกในกลุ่มเพื่อไม่ให้เงินรั่วไหล หากมีสมาชิกสนใจเพิ่มขึ้นและไม่มีทุนซื้อลูกหมูก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ได้ “เราหวังว่ากองทุนนี้จะไปได้ดีเหมือนกองทุนวัวของชุมชนที่ดำรงอยู่มาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ให้หมูดอยเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งนอกจากการทอผ้าของสาว ๆ ตองก๊อแฟมิลี่ ซึ่งช่วงที่มีโควิด-19 พี่น้องเราจะได้ใช้เวลาไปในการเตรียมไร่ ทอผ้า และเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ รวมถึงปลูกพืชผักสวนครัวไว้เป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชน”
ส่วนงานฝีมือที่ดอยสเตอร์ทำงานร่วมกับชุมชนนั้น นายสมภพกำลังทบทวนวางแผนว่าจะพัฒนาออกแบบงานใหม่กันอย่างไร ในขณะที่ยังมีของเก่าค้างสต็อก คนจะชะลอการซื้อยาวนานแค่ไหน เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไร เงินทุนพอจะหมุนได้นานเพียงใด ฯลฯ ซึ่งทีมชุมชนมีการพูดคุยกันบ้างว่าจะทำอย่างไร เพราะนักท่องเที่ยวคงจะหายไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากกลุ่มหลักคือนักศึกษาต่างชาติที่ชอบมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน
“เราคงต้องปรับวิธีทำงาน ปรับสินค้า วิธีขาย และทำการตลาดให้มากขึ้น ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ไม่สามารถกำหนดรูปแบบได้ชัดเจน จึงยังไม่อยากกดดันตัวเองมากนัก เพราะเราเองไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ เราทำงานร่วมกับชุมชนที่ค่อนข้างแข็งแรงเรื่องการพึ่งพาตัวเอง ทุกคนจึงพยายามสร้างสรรค์งานตามกำลังและตามสภาพของตัวเองกันไปก่อน งานส่วนหนึ่งของดอยสเตอร์เป็นเรื่องของการพัฒนางานฝีมือ จึงใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบคราฟท์ ๆ ช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป รอดูสถานการณ์เพื่อที่จะปรับตัวไปในแนวทางที่เหมาะสม เบื้องต้นเราพยายามทำให้ทุกคนหันมาพึ่งพาตัวเองได้ให้ได้ก่อน มีอยู่มีกินอิ่มท้องไม่เดือดร้อน ระยะต่อไปคงจะต้องพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางร่วมกับชุมชนและภาคีต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพสร้างรายได้ หรือจะพัฒนานวัตกรรมอย่างไร” นายสมภพกล่าวสรุป
หมูดอย
การปลูกผักของชาวดอยบ้านห้วยตองก๊อ
สมภพ ยี่จอหอ นักวิจัยและพัฒนาจากดอยสเตอร์