วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > คำแนะนำสั้นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว (2)

คำแนะนำสั้นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว (2)

 
คำแนะนำสั้นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว (2)
 
บทความสั้นกระชับเกี่ยวกับปัญหาและการดูแลสุขภาพที่นำเสนอนี้ คัดเลือกจากหนังสือ A Short Guide to a Long Life เขียนโดยนายแพทย์ David B. Agus, MD ผู้เขียน The End of Illness ซึ่งเป็นหนังสือเพื่อสุขภาพเล่มแรกของเขา และติดอันดับหนึ่งหนังสือขายดีที่สุดของ New York Times
 
David B. Agus เป็นแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งระดับแถวหน้าคนหนึ่งของโลก เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และวิศวกรรมประจำ University of Southern California (USC) และเป็นผู้อำนวยการ Westside Cancer Center และ Center for Applied Molecular Medicine ของ USC รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ของสำนักข่าว CBS News
 
บทความที่เราคัดเลือกมานำเสนอคือ…
 
เบบี้แอสไพรินลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง 
แอสไพรินได้ชื่อว่าเป็นยารักษาโรคเก่าแก่ที่สุดขนานหนึ่งของมนุษย์ ฮิปโปเครติส “บิดาของการแพทย์สมัยใหม่” ใช้ salicylic acidซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredient) ของแอสไพริน ที่เขาสกัดได้จากเปลือกและใบของต้น willow ในการช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้
 
ปี 1897 Felix Hoffmann นักเคมีชาวเยอรมัน ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาแอสไพรินเชิงพาณิชย์ให้บริษัท Bayer นับจากนั้นเป็นต้นมา ยามหัศจรรย์ตัวนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของการเป็นยาระงับปวดที่ทรงประสิทธิภาพ และเป็นที่ไว้วางใจเป็นอย่างดี
 
ปัจจุบันเรารู้ว่า นอกเหนือจากการบรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดหลัง แอสไพรินยังทำปฏิกิริยากับร่างกายโดยรวมด้วย ผลการวิจัยที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือมากมายยืนยันว่า แอสไพรินไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังช่วยป้องกันร่างกายจากความเจ็บป่วยต่างๆ เพราะมีคุณสมบัติต่อต้านภาวะการอักเสบนั่นเอง
 
การให้กินแอสไพรินในปริมาณต่ำๆ เป็นประจำทุกวัน (75 มิลลิกรัม หรือ 81 มิลลิกรัมในสหรัฐฯ) ช่วยลดความเสี่ยงจากการพัฒนาเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ราวร้อยละ 46
 
ดังนั้นถ้าคุณอยู่ในวัยกลางคน การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาคุยกับแพทย์ย่อมไม่เสียหายอะไร (แต่ต้องจำข้อเท็จจริงไว้อย่างหนึ่งว่า แอสไพรินมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย) เพราะถือเป็นยามหัศจรรย์ที่มีราคาถูกที่สุดและหาซื้อได้ทั่วไป
 
ออกกำลังให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นวันละ 15 นาที  
เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีในร่างกาย ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย และทำให้ร่างกายของคุณแข็งแรงดี คุณต้องตั้งเป้าออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ และทำให้หัวใจสูบฉีดเร็วขึ้นอย่างน้อยวันละ 15 นาที 
 
เราต่างได้ยินคำแนะนำที่ให้ออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งต้องบอกว่าคำแนะนำนี้ล้าสมัยไปแล้ว เพราะถ้าคุณปฏิบัติตามนี้ เมื่อมีอายุมากขึ้นคุณจะไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้ ยกเว้นคุณกลับไปใช้วิธีคำนวณพลังงานจากอาหารที่บริโภคอย่างเคร่งครัด
 
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้ด้วยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว ที่ต้องการเน้นย้ำคือ มีเพียงการออกกำลังกายที่บังคับให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว และทำให้ปอดกับหัวใจทำงานหนักขึ้นเท่านั้น จึงทำให้คุณได้รับประโยชน์จากสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ไม่ว่าการลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ หรือการลดโอกาสจากภาวะอ้วน การเป็นเบาหวาน และการเป็นโรคซึมเศร้า
 
ที่สำคัญคือ ในระยะยาวแล้ว การออกกำลังกายจนได้เหงื่อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คุณมีความสุขกับชีวิตมากกว่าการได้บริโภคเค้กช็อกโกแลตเป็นประจำ (แต่ไม่ออกกำลังกาย)
 
และถ้าคุณต้องการอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนการออกกำลังกาย นั่นก็คือ การขยันออกกำลังกายอย่างจริงจัง ทำให้คุณสมาร์ทขึ้นอีกเป็นกอง โดยเฉลี่ยแล้ว สมองของเราแต่ละคนมีเซลล์ประสาทราวหนึ่งแสนล้านเซลล์ ซึ่งล้วนต้องการให้ร่างกายออกกำลังกายอย่างเต็มที่
 
ปัจจุบันมีผลการศึกษามากมายระบุว่า ผู้สูงอายุที่ยังขยันออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือออกเดินสัปดาห์ละหลายครั้ง ล้วนสามารถป้องกันไม่ให้สมองเนื้อสีขาว (white matter) เกิดการฝ่อได้ 
 
ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้สมองยังคงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงวัยชรา และรอดพ้นจากการคุกคามของโรคอัลไซเมอร์ คุณต้องตั้งใจออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจอยู่ในรูปแบบเรียบง่าย เช่น เดิน ก็ไม่ผิดกติกาอะไร 
 
 
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว