แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คือระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ โดยคนไทยทุกคนสามารถลดการระบาดได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และเช็คอินด้วยแอปนี้เมื่อเข้าสู่อาคารสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
แอป “หมอชนะ” เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ” นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. ทีโอที บจก. ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพล สภากาชาดไทย ตลอดจนองค์กรเอกชนจากหลากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ Dtac AIS และ True ด้านการเงินธนาคาร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี บจก. Blockfint บจก. Cleverse บจก. ทรูเวฟ (ประเทศไทย) บจก. Invitrace บจก. เอเทน เทคโนโลยีส์ (ไทยแลนด์) บจก. NODSTAR Longdo Map ด้านพลังงาน ได้แก่ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ด้านยานยนต์ โลจิสติกส์และก่อสร้าง ได้แก่ บจก. เจแปนคาร์ แอดแซสเซอรี่ แอนด์ พาร์ท บจก. ฮอนด้า ประเทศไทย บจก. เค.คอนเนค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) บจก. โกลบเทค ด้านบริการสื่อสารและบันเทิง ได้แก่ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ Rabbit Digital Group Likehouse บจก. แมด อะไรดี ร่วมด้วยสื่อมวลชนและกลุ่มพลังอิสระเพื่อสังคม ได้แก่ บมจ. มติชน บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สำนักข่าวอิศรา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และมูลนิธิสะพานบุญ เป็นต้น
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล, นายสุทธิพงศ์ กนกากร และผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ตัวแทนทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาแอป “หมอชนะ” ว่า “ตลอดช่วงเวลา 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา คนไทยทุกคนได้เห็นถึงความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงทำงานอยู่ด่านหน้า ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวมาทำงานเพื่อชาติอย่างโดดเดี่ยว พวกเราอาสาสมัครจากทั้งภาครัฐและเอกชน จึงช่วยระดมทักษะความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล หรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่แต่ละคนมี มาสร้างเป็นแอป “หมอชนะ” ที่เราเชื่อว่าจะทำให้ทัพหน้าทางการแพทย์ของเราสามารถสู้รบกับโรคนี้ได้ดีขึ้น”
“ปัญหาหนึ่งที่เราพบว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และคุกคามชีวิตบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก คือการปกปิดข้อมูลของประชาชนในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งหลายครั้งทำให้แพทย์และพยาบาลต้องหยุดการทำงานทีละเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อกักตัวเองหรือแม้กระทั่งล้มป่วย เมื่อพบในภายหลังว่าผู้มารับบริการติดเชื้อโควิด-19 แอป “หมอชนะ” จะแก้ปัญหานี้ โดยอาศัยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้แอปและแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แอปได้ผ่านพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ ทำให้เมื่อผู้มารับบริการทางการแพทย์แสดงข้อมูลในแอป บุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนั้น สำหรับผู้ใช้แอปทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถตรวจดูแอปเพื่อประเมินได้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง แล้วปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางหรือบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งย่อมจะทำให้ทุกคนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย”
แอป “หมอชนะ” ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอปจึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยเมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพ่นซอร์ส (Open Source)’ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ หัวใจการทำงานของแอปอยู่ที่การรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น
– สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
– สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
– สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
– สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ในอนาคต เมื่อมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสียังมีการเปลี่ยนแปลงอัพเดตแบบเรียลไทม์ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา แอปจะเตือนผู้ใช้งานให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ แอป “หมอชนะ” จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทุกคน และภาคธุรกิจ
– ช่วยแพทย์ แอปทำหน้าที่ติดตามข้อมูลการเดินทางและการเช็คอินในสถานที่ต่าง ๆ ของประชาชนผู้ใช้แอป และแสดงระดับความเสี่ยงของบุคคลนั้นได้แบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ โดยหากพบว่าผู้ใช้แอปที่มาขอรับบริการทางการแพทย์มีความเสี่ยงสูง แพทย์ก็จะสามารถป้องกันตนเองได้อย่างพอเพียง อีกทั้งจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจบุคคลผู้นั้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ช่วยประชาชน ผู้ใช้แอป “หมอชนะ” จะมีช่องทางรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน และอัพเดตที่สุด ผ่านการตรวจสอบค่าสีความเสี่ยงของตนเอง นอกจากนั้น แอปยังช่วยแสดงวิธีการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของผู้ใช้งานแต่ละคน และในอนาคตจะมีการแจ้งเตือนหากพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เคยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ใช้แอป ณ เวลาใดเวลาหนึ่งที่ผ่านมาอีกด้วย
– ช่วยภาคธุรกิจ ผู้ใช้แอป “หมอชนะ” ที่เป็นผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่ว่าห้างร้าน โรงงาน สถานที่ หรือธุรกิจใด ๆ จะสามารถขอตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าหรือพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวางมาตรการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งย่อมจะช่วยให้การทำมาค้าขายหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้รวดเร็วกว่าเดิม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการเปิดใช้แอป “หมอชนะ” ว่า “ในวิกฤตการณ์นี้ เราทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง ดูแลสังคม และช่วยสนับสนุนคุณหมอนักรบแถวหน้าให้นำประเทศของเราพ้นภัยโควิด-19 ไปให้ได้ แอป “หมอชนะ” นับเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เพราะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจที่มีการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุดเป็นเป้าหมายร่วม เราหวังว่าประชาชนทุกคนจะร่วมกับเราในภารกิจนี้ ด้วยการช่วยกันใช้แอป “หมอชนะ” กันอย่างกว้างขวาง”
นายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปกติเราจะเน้นการต้องดูแลตัวเอง เช่น การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หรือหลีกเลี่ยงการไปจุดที่แออัด เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงโรคหวัดอื่น ๆ แต่ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะมีความจำเป็นต้องไปทำงาน หรือไปธุระนอกบ้าน ซึ่งอาจสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว การมีเครื่องมือบางอย่างที่จะทำให้เรารับรู้สถานะความเสี่ยงของตนเองได้ รวมถึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดต่อได้รวดเร็ว เพื่อนำผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยโรคโควิด-19 ไปสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว จะช่วยให้การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยมากขึ้น”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้สมาร์ตโฟน สร้างสุขนิสัยใหม่ที่จะเอาชนะโควิด-19 ได้ด้วยการช่วยกันดาวน์โหลดและใช้งานแอป “หมอชนะ” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอให้เจ้าของอาคาร สถานที่ ผู้ประกอบการร้านค้า ช่วยสนับสนุนข้อมูลที่จะทำให้แอปเกิดประสิทธิผลสูงสุด ด้วยการ “เช็คอิน” ผู้มาเข้าใช้บริการยังสถานที่ของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการให้พนักงานของร้านสแกน QR code ของผู้มาใช้บริการ หรือให้ประชาชนสแกน QR code ของร้านค้า รวมทั้งเชิญชวนพนักงาน คู่ค้า และเครือข่ายของตนให้มาร่วมใช้แอปนี้กันอย่างแพร่หลายที่สุด โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินงานประสานงานกับผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ
ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชน และภาครัฐ
ตัวแทนทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน