Column: Women in Wonderland
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 25 ปีการประกาศใช้ Beijing Declaration and Platform for Action (Beijing+25) ซึ่งได้พูดถึงแนวทางการยุติช่องว่างระหว่างเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสังคม แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันเห็นได้ว่า ทุกประเทศไม่สามารถทำให้ความเท่าเทียมกันทางเพศเกิดขึ้นได้ และแน่นอนว่าทุกประเทศไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า ปี ค.ศ. 2030 จะมีความเท่าเทียมกันทางเพศในทุกประเทศ และจากการวิเคราะห์ขององค์การสหประชาชาติพบว่า จากรายงานเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในด้านของสุขภาพ การศึกษา และสถานะทางการเงินในสังคมนั้น จากข้อมูลปัจจุบันสามารถคาดเดาได้ว่า เราต้องรออีก 257 ปี ความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมถึงจะเกิดขึ้นในทุกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องช่องว่างของรายได้
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme หรือเรียกสั้นๆ ว่า UNDP) ได้จัดทำรายงานเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อของคนในสังคม (Tackling Social Norms) โดยรายงานฉบับนี้ทำการสำรวจความเชื่อและทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องของเพศ (Gender Social Norms Index) ว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีความเชื่อและทัศนคติด้านลบต่อเรื่องเพศอย่างไร รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2020 และเปิดเผยข้อมูลว่า จากการสำรวจประชาชนทั้งหมดจาก 75 ประเทศพบว่า เกือบ 90% มีทัศนคติด้านลบหรือมีอคติต่อผู้หญิง
เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้แต่ละประเทศสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศในทุกๆ ด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือ ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะพยายามอย่างไร มีนโยบายออกมาอย่างไร ความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมก็ยังดูเหมือนเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย
ปัจจุบันผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด 3 ด้านด้วยกันคือ (1) เรื่องสุขภาพ การเข้าถึงโรงพยาบาลและยารักษาโรคต่างๆ (2) เรื่องการศึกษา ที่ผู้หญิงมักจะไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในระดับสูง และ (3) เรื่องการทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะในบ้านที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นคนรับผิดชอบงานบ้านแต่เพียงผู้เดียว และผู้ชายไม่เคยช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เลย แม้ผู้หญิงจะต้องออกไปทำงานเมื่อกลับมาก็ต้องทำงานบ้านอยู่คนเดียว
Oxfam ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้หญิงต้องเสียเวลากับการทำงานบ้านและดูแลลูกมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และเวลาที่เสียไปเหล่านี้ทำให้บางครั้งผู้หญิงขาดโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน ส่วนเรื่องการทำงานนอกบ้านนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ต่างมองว่าผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่า และส่งเสริมให้ผู้ชายมีความเจริญก้าวหน้าในที่ทำงานมากกว่า รวมถึงต้องเผชิญกับการถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศยังคงเป็นไปได้ยากมากในสังคม
ในป 2020 UNDP เห็นว่าปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศนั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเลย และตัวการสำคัญที่ทำให้ความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็คือ ความเชื่อและทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับเรื่องเพศของผู้คนในสังคม จากการสำรวจพบว่า 50% ของประชากรโลกมีความเชื่อว่าผู้ชายจะเป็นผู้นำประเทศได้ดีกว่าผู้หญิง อีก 40% ยังยืนยันว่าผู้ชายสามารถเป็นผู้บริหารธุรกิจได้ดีกว่าผู้หญิง และ 30% เชื่อว่าสามีสามารถทำร้ายภรรยาได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่มองไม่เห็นในสังคมในการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ
เมื่อปัญหาใหญ่คือความเชื่อและทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับเพศ ทาง UNDP จึงจัดทำรายงานเกี่ยวกับความเชื่อของคนในสังคมทางด้านเพศ (Gender Social Norms Index) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้สำรวจความคิดของประชาชน 80% ของประชากรโลก เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศและต้องการให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหานี้แบบจริงจังร่วมกัน ซึ่งรายงานที่เผยแพร่ในครั้งนี้ชี้ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงว่า แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังคงถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ในรายงาน Human Development Report 2019 ชี้ให้เห็นว่าการจะส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคมนั้น จะต้องแก้ไขที่ปัญหาใหญ่คือเรื่องทัศนคติของผู้คนในสังคมที่มีต่อผู้หญิง และความเชื่อและทัศนคติด้านลบเหล่านี้ตัดสินผู้หญิงไปแล้ว ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเท่าเทียมกันในสังคม
ยกตัวอย่างเช่น การทำงาน ผู้หญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการศึกษาและจบการศึกษาสูงเช่นเดียวกันกับผู้ชาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้หญิงเริ่มทำงานกลับถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะพวกเธอไม่มีความสามารถหรือความรู้ แต่เป็นเพราะคือผู้หญิง และทำให้ได้รับเงินเดือนที่น้อยกว่า แม้จะรับผิดชอบงานที่ขอบเขตเหมือนกัน มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารน้อยกว่าผู้ชาย นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้หญิงเพียง 27% เท่านั้นที่ทำงานในระดับผู้บริหารจากทั่วโลก
หรือเรื่องการเมือง ผู้หญิงและผู้ชายออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแทบจะเท่ากัน แต่กลับมีสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั่วโลก และมีผู้หญิงเพียงแค่ 10 คนเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล จาก 193 ประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน เมื่อปี 2014 พบว่ามีผู้หญิงเป็นหัวหน้ารัฐบาลถึง 15 คน
ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทัศนคติด้านลบของคนในสังคมที่มีต่อผู้หญิงนั้นมีอยู่ทุกที่ทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะรวยหรือจนต่างก็มีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงด้วยกันทั้งสิ้น
จากรายงานของ Gender Social Norms Index พบว่า 91% ของผู้ชายและ 86% ของผู้หญิงจะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่มีทัศนคติด้านลบอย่างชัดเจน และในบางประเทศความคิดและความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศมีแนวโน้มที่จะลดลง ห้าประเทศที่ผลการสำรวจออกมาชัดเจนว่าความคิดและทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงสูงมากคือ ปากีสถาน กาตาร์ ไนจีเรีย ซิมบับเว และจอร์แดน
จากการสำรวจเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีทัศนคติด้านลบต่อความเท่าเทียมทางเพศ เพียงแต่ผู้ชายมีทัศนคติด้านลบมากกว่าผู้หญิงเท่านั้นเอง โดยผู้หญิงมากกว่า 50% จะมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับผู้หญิงในเรื่องการเมือง ในขณะที่ผู้ชายมากกว่า 63% มีทัศนคติด้านลบในเรื่องการเมืองและการทำงานของผู้หญิง ผู้ชายเหล่านี้เห็นด้วยที่ว่า “ผู้ชายเป็นผู้นำที่ดีทางการเมืองมากกว่าผู้หญิง” และ “ผู้ชายควรได้รับสิทธิและโอกาสในการทำงานมากกว่าผู้หญิง” นี่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ทำงานในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในระดับผู้บริหารในแต่ละประเทศต้องเผชิญกับปัญหา แรงกดดันต่าง ๆ เป็นอย่างมาก และที่แย่ที่สุดคือ ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจริงๆ จากสามีในการทำงาน
รายงานนี้ยังชี้เพิ่มเติมให้เห็นว่า ความเชื่อและความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ที่มีต่อเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและผู้หญิงนั้นกำลังจะแย่ลง ครั้งแรกที่มีการสำรวจเรื่องนี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2005-2009 พบว่ามีเพียงแค่ 15 ประเทศเท่านั้นที่ประชากรส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน แต่ในการสำรวจครั้งที่สองเมื่อปี 2010-2014 พบว่าประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นเป็น 31 ประเทศในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น
ในขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่ผู้ชายแทบจะไม่มีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับผู้หญิงเลย อย่างเช่น ชิลี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ และผู้หญิงในประเทศเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติด้านเพศดีขึ้น ในขณะที่สวีเดน เยอรมนี อินเดีย แอฟริกาใต้ รวันดา บราซิล และเม็กซิโก นั้นประชาชนมีแนวโน้มทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ในรายงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายที่ยังอายุน้อยไม่ค่อยยอมรับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและมีแนวโน้มว่าทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคนที่มีอายุในปัจจุบัน
ปัจจุบันรัฐบาลส่วนใหญ่มีการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ แต่กฎหมายและนโยบายเหล่านี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติของคนในสังคมได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทัศนคติด้านลบของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีต่อผู้หญิงนั้นเพิ่มมากขึ้น
ความเชื่อและทัศนคตินั้นเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ถ้าครอบครัวมีความเชื่อหรือทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิง แน่นอนว่าเด็กที่โตมาก็จะได้รับการหล่อหลอมความเชื่อเหล่านี้มาด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กเรียนรู้จากการที่พ่อกับแม่มีการแบ่งกันทำงานบ้านอย่างไร หากแม่เป็นคนรับผิดชอบงานบ้านแต่เพียงผู้เดียว แน่นอนว่าเมื่อเด็กคนนี้โตมาความเชื่อและความเข้าใจของเขาคือ งานบ้านคืองานของผู้หญิงและผู้ชายไม่จำเป็นต้องช่วยทำ เพราะไม่เคยเห็นพ่อของทำงานบ้านเช่นกัน ดังนั้นความเชื่อและทัศนคติด้านลบเหล่านี้จึงต้องถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก และคนที่เป็นพ่อแม่จะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อเหล่านี้
ดังนั้น UNDP จึงเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับทัศนคติของเด็กที่มีต่อผู้หญิงและเพศ โดยเริ่มจากในโรงเรียนด้วยการให้ข้อมูลเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคม การสร้างความตื่นตัวในเรื่องทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งหากรัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ได้จริงก็จะสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้ง (Bully) กันในที่ทำงานและโรงเรียนได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและประสบความสำเร็จแล้วคือ นโยบายให้คุณพ่อลางานหลังจากที่ลูกเกิดในแคนาดา ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2006 ทำให้คุณพ่อหลายคนมีโอกาสในการช่วยเลี้ยงลูก ไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ภรรยาอย่างเดียวใน ซึ่งคุณพ่อที่มีโอกาสลางานช่วงหลังคลอดพบว่า หลังจากนั้นคุณพ่อเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะช่วยภรรยาทำงานบ้านมากขึ้น เมื่อเทียบกับคุณพ่อที่ไม่ได้ลางานเมื่อตอนลูกเกิดจะพบว่า คุณพ่อที่ไม่ได้ลางานจะช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานบ้านน้อยกว่าถึง 23%
แม้ปัจจุบันจะมีน้อยกว่า 40 ประเทศที่ให้คุณพ่อลางานหลังคลอดได้ และบางประเทศสามารถลางานได้สูงสุดเพียงแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น แต่นโยบายนี้ก็เริ่มทำให้ผู้ชายหลายคนอยากใช้วันลาเพื่ออยู่กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และในบางประเทศยังคงมีการให้เงินเพิ่มหากคุณพ่อตัดสินใจใช้วันลานี้ ทำให้ผู้ชายจำนวนมากอยากใช้วันลาหลังจากลูกเกิดเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเพศของผู้ชายในสังคม
นี่เป็นตัวอย่างของนโยบายหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ชายได้มีโอกาสเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง หากเราสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงได้ ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมก็จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้แน่นอน