วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ผลกระทบจาก Brexit ต่อผู้หญิงในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ผลกระทบจาก Brexit ต่อผู้หญิงในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

Column: Women in wonderland

ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ประเทศสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้จะเป็นช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เป็นเวลา 11 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2020

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้สหราชอาณาจักรจะยังอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ของสหภาพยุโรป แต่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐสภายุโรป (European Parliament) อีกต่อไป

สมาชิกรัฐสภาของยุโรปมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพลเมืองประเทศสมาชิก โดยผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง ในรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 751 คน และตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา สมาชิกรัฐสภาจะปรับลดจำนวนลงเหลือเพียง 705 คน หลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบเรื่อง Brexit เพราะจำนวนประชากรภายใต้สหภาพยุโรปลดลงจากการออกจากการเป็นประเทศสมาชิกของสหราชอาณาจักร

แน่นอนว่าหลังจากสหราชอาณาจักรออกสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ นักวิชาการจำนวนมากทำนายทิศทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรไปในทิศทางเดียวกันว่า สหราชอาณาจักรจะมีสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด และแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดก็คือ ผู้หญิง เพราะผู้หญิงคือกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทำงานและมีรายได้น้อย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ลง ผู้หญิงจะกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่อาจต้องตกงาน หรือหางานได้ยากขึ้น

ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้หญิงหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปไม่ได้มีเพียงแค่อาจตกงานหรือหางานได้ยากขึ้นเท่านั้น แต่กฎหมายของสหภาพยุโรปซึ่งปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงในการทำงาน อาจถูกยกเลิกไปหลังจากหมดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหมายถึงกฎหมายความเท่าเทียมกันในการทำงาน กฎหมายเกี่ยวกับการลาหยุดหลังคลอด และกฎหมายทำงานเป็นพนักงานชั่วคราว (Part Time)

สหราชอาณาจักรมีปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ศูนย์บริการทางสังคมต่างๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่เจอความรุนแรงในครอบครัวนั้นยังต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวนมาก และแน่นอนว่าที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ จำนวนผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือจากบ้านพักฉุกเฉินหรือศูนย์บริการทางสังคมของภาครัฐอีกเป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจล่าสุดของรัฐบาลอังกฤษเมื่อต้นเดือนมกราคม 2020 พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมีเพิ่มมากขึ้นถึง 83% แต่งบประมาณที่รัฐมีให้หน่วยงานเหล่านี้ถูกตัดลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการปรับลดงบประมาณจะทำให้ผู้หญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบ และเงินสนับสนุนที่เคยได้จากสหภาพยุโรปในการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวก็จะไม่มีอีกต่อไป

ไม่เพียงงบประมาณที่โดนตัดเท่านั้น แต่กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกในสหราชอาณาจักรที่มีการให้คำจำกัดความคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นครั้งแรก แต่กฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป เพราะมีการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2019 และขณะนี้ก็ยังไม่มีการนำกฎหมายฉบับนี้กลับมาพิจารณาประกาศใช้ นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลยังไม่รับประกันว่าจะสนับสนุนเงิน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมในแต่ละปี เพื่อให้ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถใช้บริการบ้านพักฉุกเฉินและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวได้

แม้รัฐบาลจะประกาศว่า จะปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงตามที่ได้ลงนามไว้ใน Istanbul Convention ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว แน่นอนว่าหนึ่งในมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลจะต้องทำคือ สนับสนุนงบประมาณที่มีจำนวนเงินเพียงพอต่อการให้ความสนับสนุนบ้านพักฉุกเฉิน หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกข่มขืนหรือใช้ความรุนแรงทางเพศ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอังกฤษยังไม่มีแนวโน้มว่าจะพิจารณากฎหมายความรุนแรงในครอบครัวเมื่อไหร่ สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ หลังจากอังกฤษออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรปคือ บ้านพักฉุกเฉินที่มีขนาดเล็กและก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล อาจไม่ได้รับเงินสนับสนุนอีกต่อไปและต้องปิดตัวลงในที่สุด นอกจากนี้ เงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปยังคงไปถึงหน่วยงานที่ทำวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและการฝึกเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อรัฐบาลอังกฤษออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรป เงินสนับสนุนเหล่านี้ก็จะถูกตัดออกไปด้วย ปัจจุบันองค์กร Rights, Equality and Citizenship Programme (REC) ภายใต้สหภาพยุโรป ให้เงินสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงในทุกประเทศสมาชิก โดยแต่ละปีให้เงินสนับสนุนประมาณ 343 ล้านยูโร โดย 1 ใน 3 ของเงินจำนวนนี้นั้นเป็นเงินสนับสนุนที่ให้กับองค์กรผู้หญิงในสหราชอาณาจักร ซึ่งนี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสหราชอาณาจักรที่จำเป็นต้องหาเงินงบประมาณมาสนับสนุนในส่วนที่จะหายไปจำนวนมาก

หนึ่งในองค์กรที่เกี่ยวกับผู้หญิงและได้รับผลกระทบเรื่องเงินสนับสนุน คือ องค์กร Iranian and Kurdish Women’s Rights Organization (IKWRO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้หญิงจากตะวันออกกลางและอัฟกานิสถานที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรและมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งองค์กรสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 40% ตั้งแต่ปี 2016 เมื่อรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจที่จะออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปเองก็ตัดสินใจไม่ให้เงินสนับสนุนอีกต่อไป

แน่นอนว่าเมื่อไม่มีเงินสนับสนุนผู้หญิงจำนวนมากจะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่มีปัญหาเรื่อง Honour Killing (พ่อจะฆ่าลูกสาวเมื่อลูกสาวไม่ยอมปฏิบัติตามกฎของศาสนา เพราะรู้สึกอับอายจากการกระทำของลูกสาว จึงตัดสินใจฆ่าลูกสาว) เมื่อเงินสนับสนุนน้อยลง อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ได้

ผู้หญิงอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้หญิงที่อพยพมาอยู่ที่อังกฤษ ในตอนนี้สหภาพยุโรปมีกฎหมาย EU Settlement Scheme รับรองว่าหากมีการอพยพเข้ามาอยู่ในอังกฤษเป็นเวลา 5 ปีแล้วสามารถทำเรื่องยื่นขออยู่ในอังกฤษแบบถาวรได้ ซึ่งโดยปกติเมื่อผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกทำร้ายร่างกาย มักจะไม่มีที่อยู่อาศัย และเอกสารต่างๆ อาจถูกยึดไว้ได้ การที่องค์กรให้ความช่วยเหลือต่างๆ ถูกลดงบประมาณก็อาจจะทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่มีที่อยู่อาศัยหากหนีออกมาจากบ้าน และการติดตามขอเอกสารหรือหากต้องรอเพื่อให้ครบ 5 ปี เพื่อทำเรื่องขออยู่ในประเทศอังกฤษต่อไปก็อาจจะไม่มีที่อยู่ และแน่นอนว่าท้ายที่สุดเมื่อผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีที่อยู่ อาจจะกลายเป็นคนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษแบบผิดกฎหมาย นี่จะกลายเป็นปัญหาต่อไปของอังกฤษในอนาคต

แม้ในตอนนี้อังกฤษจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน กฎหมายหลายฉบับของสหภาพยุโรปจะยังมีผลต่อสหราชอาณาจักรอยู่ แน่นอนว่าหากรัฐบาลอังกฤษไม่มีการวางแผนรับมือที่ดี อีก 9 เดือนข้างหน้าเมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านสิ้นสุด เงินสนับสนุนต่างๆ ถูกตัดออกไป รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินงบประมาณมาสนับสนุนองค์กรต่างๆ เหล่านี้ เพราะหากไม่สามารถหาเงินมาสนับสนุนได้ สิทธิของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรจะถูกลดทอนอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะจะมีผู้หญิงจำนวนมากที่อาจมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่มีที่พักยามฉุกเฉิน และที่เลวร้ายที่สุดบางคนอาจจะยอมทนอยู่ในบ้านและถูกทำร้ายร่างกายต่อไป ดีกว่าตัดสินใจออกมาแล้วไม่มีที่อยู่ ซึ่งนี่อาจทำให้มีจำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/brexit-1634032

ใส่ความเห็น