วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กับผลกระทบที่ไทยต้องรับมือ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กับผลกระทบที่ไทยต้องรับมือ

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2019 ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน กระทั่งล่วงเลยมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 สถานการณ์ของการแพร่ระบาดเชื้อร้ายยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุด

แม้หลายประเทศจะมีมาตรการป้องกันประชาชนของตัวเองอย่างเต็มที่ ทว่าปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 37,198 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 811 ราย (ณ วันที่ 9 ก.พ.)

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สร้างผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ที่มีคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศที่มีการติดเชื้อเป็นเดิมพัน ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหามาตรการป้องกันและรักษาให้เกิดผลเสียในทางกายภาพน้อยที่สุด

ผลกระทบของไวรัสโคโรนาไม่เพียงทำให้ประเทศจีนตกอยู่สถานการณ์แห่งความยากลำบาก ทั้งการต้องดูแลและควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้ขยายวงมากไปกว่าปัจจุบันเท่านั้น แต่ในทางเศรษฐกิจ จีนได้รับผลกระทบไม่น้อย

ความรุนแรงของสถานการณ์ทำให้จีนต้องใช้มาตรการระงับการสัญจรเข้าออกจากเมือง ระบบขนส่งคมนาคมถูกชัตดาวน์ การท่องเที่ยวของจีนได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต่อเศรษฐกิจจีนเบื้องต้นในกรอบเวลา 1 เดือน อาจสูงถึง 3 แสนล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP จีนทั้งปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5-5.9 โดยมีผลกระทบหลักๆ ผ่านทางภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว

และแน่นอนว่า ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการส่งออก การผลิต การท่องเที่ยว และธุรกิจสายการบิน

ภาคการส่งออกและนำเข้าของไทยได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อไทยยังต้องพึ่งพาจีนเป็นหลัก จีนเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกสินค้าขั้นกลางถึงร้อยละ 46 และ 45 ของการส่งออกและนำเข้าทั้งหมดของไทยกับจีน

นอกจากนี้ ภาคการผลิตของไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่า 600-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะธุรกิจไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง และนำเข้าจากจีนเป็นหลัก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคอมพิวเตอร์ และยานยนต์ในกลุ่มวงจรพิมพ์ แบตเตอรี่/เซลล์ปฐมภูมิสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเคมีภัณฑ์อนินทรีย์และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ ตัวถังรถยนต์ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการผลิตแก้ว เซรามิก และเหล็กก็อาจประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสกินเวลานานถึง 3 เดือน จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศห้ามกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางออกจากเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประเมินไว้ว่า อาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท และหากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนายุติได้ในเดือนมีนาคม การฟื้นตัวน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

กระนั้นในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทยลดลง แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เช่น ยุโรป เดินทางมาเที่ยวไทยมากขึ้น จากเดิมที่จะไปเที่ยวประเทศจีน ซึ่งการเบนเข็มของนักท่องเที่ยวชาติอื่นน่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์เลวร้ายทางการท่องเที่ยวของไทยได้บ้าง

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบแล้ว ธุรกิจสายการบินน่าจะเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยธุรกิจสายการบินกำลังเจอโจทย์ใหญ่ท้าทายจากการแข่งขันตัดราคาจนอัตราค่าโดยสายเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวะดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจสายการบินลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2562 เหลือเพียง 3.14 แสนล้านบาท

และในปี 2563 นอกจากปัจจัยด้านการแข่งขันตัดราคาและดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินในประเทศที่ยังคงหดตัวแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนอาจส่งผลให้ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ภายใต้กรอบสมมุติฐานว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนจะมีระยะเวลาไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อ 1. จำนวนนักเดินทางจากจีนที่มาไทยลดลงประมาณ 1.1 ล้านคน 2. จำนวนนักเดินทางไทยที่ไปจีนลดลงประมาณ 55,000 คน และ 3. จำนวนนักเดินทางชาติอื่นๆ ที่มาไทยลดลงจากคาดการณ์เดิมประมาณ 320,000 คน

ซึ่งในปี 2563 มูลค่าธุรกิจสายการบินจะยังหดตัวลงอีก 4.3-6.2 เปอร์เซ็นต์ เหลือมูลค่าเพียง 2.94-3.00 แสนล้านบาท และค่าเฉลี่ยของอัตราบรรทุกผู้โดยสารจะลดลงเหลือ 72.0-73.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยปกติสายการบินในไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท

หากธุรกิจสายการบินสามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ในปีนี้ไปได้ ในระยะ 3.5 ปีข้างหน้า ธุรกิจสายการบินจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะการแข่งขันด้านราคาเริ่มมีแนวโน้มลดความรุนแรงลง เนื่องจากสายการบินราคาประหยัดเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันเป็นการสร้างแบรนด์และเสนอบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น ส่วนสภาวะดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินยังพอขยายตัวได้ แต่คงไม่กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนในช่วงปี 2559-2561 คาดว่ามูลค่าตลาดสายการบินจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง แต่คงต้องใช้เวลาและการเติบโตของมูลค่าตลาดเป็นไปอย่างช้าๆ

นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่น้อยสำหรับประเทศที่ต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดและแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่เชื้อร้ายกลับสร้างปัญหาให้โยงใยไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ และคงไม่ใช่แค่ความแข็งแรงทางร่างกายเท่านั้นที่จะฝ่าฟันเชื้อไวรัสนี้ไปได้

ใส่ความเห็น