นอกจากสถานการณ์ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว หรือ PM2.5 ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมไทยอย่างหนักหน่วงแล้ว ดูเหมือนว่าภัยคุกคามทางเศรษฐกิจลูกใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และพร้อมที่จะสร้างผลกระทบสั่นสะเทือนสังคม เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปไม่น้อยเลย
หนี้ครัวเรือนไทยในช่วงปี 2563 หรือระยะนับจากนี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงหรือแม้กระทั่งมีโอกาสที่จะเติบโตเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าแม้หนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 3/2562 มียอดคงค้างที่ 13.239 ล้านล้านบาท ชะลอการเติบโตลงมาที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส
หากแต่หนี้ครัวเรือนที่ชะลอตัวลงดังกล่าว เป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วยซ้ำ และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 2563 ขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 80.0-81.5 ต่อจีดีพีเลยทีเดียว
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยขยับไล่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 79.1 ในไตรมาสที่ 3/2562 สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี จากระดับร้อยละ 78.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินและเงินออมของครัวเรือนปี 2562 ซึ่งพบว่าร้อยละ 44 ของผู้กู้-ครัวเรือนที่มีหนี้ มีภาระหนี้หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น
แม้ว่าผลสำรวจดังกล่าวจะสะท้อนภาพและมีจุดเน้นอยู่ที่ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นด้านหลัก แต่ก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของตลาดสินเชื่อรายย่อยในระดับภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังที่ปรากฏการเติบโตเร่งขึ้นของหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไปแบบไม่ระบุวัตถุประสงค์ รวมถึงสินเชื่อบุคคลทั้งที่มีหลักประกันเป็นบ้านและรถยนต์ที่ปลอดภาระหรือผ่อนหมดแล้วที่เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
การขยายตัวขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม รวมไปถึงสินเชื่อบัตรเครดิต นับเป็นสัญญาณที่สะท้อนสถานการณ์ว่า ภาคครัวเรือนในอีกหลายส่วนยังคงมีความจำเป็นที่ต้องก่อหนี้เพิ่ม เพื่อใช้จ่าย-ลดความตึงตัวของฐานะทางการเงินภายในครัวเรือน และ/หรือใช้ช่องทางการขอสินเชื่อบุคคลเพื่อนำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อประคองธุรกิจของครัวเรือนในยามที่สภาพคล่องจากรายได้ปกติยังมีความไม่แน่นอนและผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในลักษณะที่เผชิญอยู่นี้ นับเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่เพียงแต่จะสะท้อนภาพสถานะทางการเงินของระดับครัวเรือนไทยเท่านั้น หากยังมีนัยต่อเนื่องต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพใหญ่ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่ขยับสูงขึ้นดังกล่าว ย่อมเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อและการบริโภคของครัวเรือนในภาพรวมอย่างไม่อาจเลี่ยง
ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อประเมินในมิติที่ย่อยลงมาระดับครัวเรือน ผลสำรวจสถานการณ์หนี้และเงินออม พบข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับภาพรวมทั้งประเทศว่า ครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม GenY และกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท อยู่ในภาวะที่มีภาระหนี้ต่อเดือนค่อนข้างสูง ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย และน่าจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับข้อจำกัดในการก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มเติม ซึ่งนั่นหมายความว่าประชากรกลุ่มนี้พร้อมจะก่อให้เกิดหนี้เสียในระบบการเงินในระยะถัดไปได้ไม่ยากเลย
แนวทางการเข้าดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามและเป็นโจทย์ระยะยาวที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว ขณะที่ความเข้าใจปัญหาหนี้ครัวเรือนจากข้อมูลภาพรวมในห้วงปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่สามารถวางแนวทาง-มาตรการการแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องเพราะสาเหตุและปัญหาที่แท้จริงในการเป็นหนี้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกัน ขณะเดียวกันการเป็นหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอาจยังไม่สะท้อนผ่านฐานข้อมูลที่มีในระบบ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้จร-ไม่มีงานประจำ ตลอดจนผู้กู้ที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะยังเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบด้วย
แม้หลายฝ่ายอาจมุ่งไปที่การเน้นสร้างวินัยการใช้เงินและการลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ตามกระแสบริโภคนิยม ตลอดจนการกำหนดมาตรการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้วยหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยชะลอปัญหาการเป็นหนี้เร็วโดยไม่สมเหตุสมผลสำหรับผู้กู้บางกลุ่ม อาทิ กลุ่ม Gen Y กลุ่ม Gen Z และกลุ่มที่สร้างหนี้เพื่อการใช้จ่ายระยะสั้น หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพบเห็นอยู่ในสังคมก็คือกลุ่มประชากรจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงจากผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่ความจำเป็นในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังมีอยู่เช่นเดิมและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีก
ปัญหาหนี้ของครัวเรือนอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีรายได้ประจำ หรือกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ จึงอยู่ในสภาวะที่ต้องก่อหนี้เพราะความจำเป็นกดดัน อาจต้องการแนวทางการดูแลปัญหาหนี้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นโจทย์ที่มีความทับซ้อนกันในมิติของผู้กู้และสถาบันการเงิน ซึ่งในมิติของฝั่งผู้กู้เองก็จะต้องพยายามหารายได้เพิ่ม-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเคร่งครัดเพื่อให้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้
ขณะที่ในส่วนของสถาบันการเงิน การช่วยให้ผู้กู้ที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ หรือกลุ่มที่ไม่เคยเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้นอกระบบ และได้รับบริการที่คำนึงถึงความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้นควรเป็นกรณีที่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยสถาบันการเงินควรต้องเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้กู้
การใช้ฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผู้กู้และความสามารถในการยืนยันข้อมูลแหล่งรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากรายได้ปกติ มาใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อนอกเหนือไปจากหลักฐานเพื่อแสดงสถานะทางการเงินในรูปแบบเดิม ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้ที่แต่เดิมอาจต้องกู้นอกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำลง ทำให้น่าจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครัวเรือนได้ดีขึ้น
จริงอยู่ที่ว่าภาระหนี้ครัวเรือนไทยอาจจะยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในห้วงเวลาขณะนี้ แต่การดำเนินไปอย่างไร้ทิศทางและการเยียวยาอาจนำไปสู่การผลักให้หนี้ครัวเรือนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่พร้อมจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบบการเงินไทยหลังจากที่สะสมความเปราะบางจากปัจจัยลบของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ดำเนินมาเนิ่นนานอีกด้วย
หนี้ครัวเรือนที่ดำเนินอยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งเป็นการขยายตัวจากสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท จนมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน รวมถึงธุรกิจ SMEs ซึ่งมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย
เนื่องเพราะหนี้ครัวเรือนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ในลักษณะของการผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง โดยร้อยละ 42 ของการผ่อนชำระหนี้ เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หากต้องเผชิญกับปัญหาที่ทำให้รายได้ลด ก็จะเพิ่มโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเปราะบาง ครัวเรือนเกษตรกร และผู้ที่เกษียณอายุ
ความเป็นไปของหนี้ครัวเรือนไทย จึงเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขแบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือน หรือสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน รวมถึงการเน้นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม ภายใต้การคำนึงถึงความสามารถดำรงชีพของผู้กู้ หากแต่ควรเน้นนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เดิม และการหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น หากแต่ควรมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถสร้างหรือมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแทน
เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) อยู่ในอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 39.4 ของรายได้ต่อเดือน ขณะที่มีรายจ่ายในชีวิตประจำวันประมาณร้อยละ 48 ของรายได้ต่อเดือน เท่ากับว่า เงินที่เหลือสำหรับการออม-ลงทุน หรือเก็บไว้เป็นกันชนยามฉุกเฉินจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12ของรายได้เท่านั้น จนเป็นสาเหตุให้ผู้กู้มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลง ขณะเดียวกันก็มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้นไปโดยปริยาย
การปล่อยให้หนี้ครัวเรือนไทยดำเนินไปอย่างขาดมาตรการในการแก้ไขจึงมีสถานะเป็นประหนึ่งการสะสมวัตถุทำลายล้างที่มีสมรรถภาพสูง ซึ่งไม่เพียงแต่จะพร้อมสร้างความสูญเสียในแนวระนาบต่อพื้นฐานรากหญ้าเท่านั้น หากแต่ยังมีอานุภาพเพียงพอที่จะขย่มความมั่นคงและถล่มเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยไปในคราวเดียวกันอย่างยากที่จะหาจุดฟื้นตัวกลับมาใหม่ด้วย