วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
Home > Cover Story > จากเถ้าธุลีสู่ฝุ่นพิษ PM2.5 ภัยคุกคามต่อชีวิตประจำวัน

จากเถ้าธุลีสู่ฝุ่นพิษ PM2.5 ภัยคุกคามต่อชีวิตประจำวัน

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือที่เรียกขานกันในนามฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานได้แปลงสภาพจากเรื่องเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ขยายตัวออกไปอย่างที่ยังไม่อาจหาบทสรุปสุดท้ายได้ว่าจะสิ้นสุดลงด้วยมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติจากกลไกภาครัฐได้อย่างไร

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็กน้อยได้เข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทยมาเป็นระยะและถูกทำให้มีฐานะเป็นมลภาวะที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในช่วงหน้าแล้งโดยระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้งในกระบวนการผลิตของเกษตรกร ขณะที่กลไกภาครัฐนับตั้งแต่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้เคยออกมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 .ในฐานะที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ประกอบส่วนด้วยมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการระยะกลางและมาตรการระยะยาว

หากแต่ดูเหมือนว่าคำสั่งของหัวหน้าคณะ คสช. การสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงที่ผ่านมากลับไม่สามารถนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังและอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มิหนำซ้ำสถานการณ์ฝุ่นพิษกลับทวีความรุนแรงจนคุกคามการดำเนินชีวิตปกติประจำวันของผู้คนในสังคมไทยในลักษณะที่แพร่กว้างและหนักหน่วงขึ้นอีกด้วย

การตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และความพยายามของกลไกภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมาอาจเห็นได้จากการสั่งการของหัวหน้าคณะ คสช. นับตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการควบคุมดูแลเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานในฝ่ายตำรวจ ทหาร เร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป

ความยั่งยืนของการป้องกันและแก้ไขปัญหาภายหลังการสั่งการดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้เบาบางลงแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่ารัฐต้องเร่งสั่งการเพิ่มเติมให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2562 ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 แทนน้ำมันดีเซลให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดภาวะการเกิดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ รวมทั้งให้เร่งรัดจัดให้มีจุดบริการประชาชนในการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้สามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 ได้

พัฒนาการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของกลไกภาครัฐ ดำเนินไปท่ามกลางการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวให้ชัดเจนทั้งในระยะสั้น (มาตรการเร่งด่วน) ระยะกลาง ระยะยาว และให้ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งสะท้อนภาพความไม่ชัดเจนและภาวะไร้รูปธรรมในการกำหนดมาตรการแก้ไขที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานและวนเวียนกลับไปสู่จุดตั้งต้นเดิมเป็นระยะโดยยังหาความคืบหน้าไปได้ไม่มากนัก

แม้ว่าจะมีการกำหนดระยะเพื่อเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ไว้ 3 ระยะทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2565-2567) ภายใต้เป้าหมายในการ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” ขณะที่ข้อเท็จจริงที่สังคมไทยเผชิญอยู่ดูจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นเพียงวาทกรรมสูญเปล่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าสนใจมากประการหนึ่งจากสถานการณ์ฝุ่นผิษ PM2.5 ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่อุบัติภัยที่เกิดขึ้นอย่างคาดการณ์ไม่ได้ และกลไกภาครัฐได้รับรู้ถึงมูลเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏมาตรการหรือกลไกในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและดูแลสถานการณ์ให้กระเตื้องดีขึ้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การรับมือหรือแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ดำเนินผ่านกลไกภาครัฐยังสะท้อนภาพการบริหารจัดการต่อปัญหาที่สังคมไทยเผชิญในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือแม้กระทั่งภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อยาวนาน ที่ดำเนินไปในลักษณะไม่แตกต่างกันกล่าวคือเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาอย่างเฉพาะหน้า ควบคู่กับการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ โดยขาดรูปธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง

วาทกรรมในลักษณะที่ดำเนินไปด้วยท่วงทำนองของการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดและเป็นรูปธรรม ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาปัญหา ความเป็นไปได้ และทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จจริงจัง กลายเป็นความเลื่อนลอยที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐนาวาที่มีประยุทธ์เป็นหัวหน้านับตั้งแต่ประยุทธ์ 1 สู่ประยุทธ์ 2 โดยที่สังคมไทยยังไม่เห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่จับต้องหรือสัมผัสได้เลย

มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการด้อยประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและบริหารจัดการของกลไกภาครัฐที่เด่นชัด เพราะมาตรการ 12 ประการที่ ครม. เห็นชอบในหลักการดังกล่าวนี้ หลายมาตรการเป็นกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดในฐานะที่เป็นมาตรการพื้นฐานในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ขณะที่บางมาตรการเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่มีลักษณะชั่วคราวอย่างยิ่ง

ข้อน่าสังเกตจากมติ ครม. ว่าด้วยมาตรการตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ และการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ การตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

รวมถึงการกำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจรบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง

ถึงที่สุดแล้วกรณีเหล่านี้ล้วนเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุให้ต้องมีมติ ครม. ออกมาเป็นคำสั่งกำกับเพิ่มเติมอีก

ขณะที่มาตรการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 การลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง ดูจะเป็นมาตรการชั่วคราวระยะสั้นที่ไม่อาจหวังผลในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้มากนัก

มิพักต้องกล่าวถึงมาตรการในการสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองที่ในวันนี้ดูจะไปไกลกว่าที่รัฐรับรู้และเข้าใจ ควบคู่กับการขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน ซึ่งดูจะย้อนแย้งกับการระบุให้รถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน ที่สะท้อนภาพความตระหนักรู้และความรับผิดชอบที่กลไกภาครัฐพึงมีต่อสังคมด้วย

ความเบาบางและทุเลาลงของปัญหาเถ้าธุลีฝุ่นพิษ PM2.5 อาจลดลงในห้วงเวลานับจากนี้ แต่ก็พร้อมจะกลับมาคุกคามชีวิตประจำวันของสังคมไทยได้อีกในอนาคต ขึ้นอยู่กับสติปัญญาในการบริหารจัดการปัญหาว่าจะหนักแน่นหรือโปร่งเบาอย่างไร

ใส่ความเห็น