วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > ชาระมิงค์แตกยอด ร่วมกับอินเดีย เปิดโรงเรียนสอนชงชา The Asian School of Tea

ชาระมิงค์แตกยอด ร่วมกับอินเดีย เปิดโรงเรียนสอนชงชา The Asian School of Tea

ชาระมิงค์แตกยอด ร่วมกับอินเดีย เปิดโรงเรียนสอนชงชา The Asian School of Tea ส่งเสริมผู้สนใจ ชูการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมสู่ระดับโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ร้านรามิโน่ คาเฟ่ ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ได้กล่าวว่า “ชาระมิงค์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากการสำรวจและบุกเบิกไร่ชาของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ปัจจุบันชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ชาฝรั่งหรือชาดำ, ชามะลิ, ชากลุ่มสมุนไพร นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเป็นผู้ผลิตชาดำหรือชาฝรั่งแบบสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเนื่องจากชาระมิงค์มีไร่เป็นของตัวเอง จึงให้ความสำคัญกับการปลูกชา การผลิตชาแบบออแกนิค โดยได้รับ Certificate ของ USDA Organic ซึ่ง certified by One Cert. จากประเทศอเมริกา สำหรับภาพรวมในปี 2562 ชาระมิงค์ได้มีการทำตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่องทางการขายสินค้าผ่านช่องทาง Online ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญของการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ จะเห็นได้ว่าในปีนี้ชาระมิงค์ได้มีสินค้าชนิดใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายทางช่องทาง Online และในปีหน้าบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญของการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อาทิ การปรับบุคคลิกและรูปลักษณ์ให้เข้าถึงกลุ่มคนอายุ 25-45 ปี
เพื่อดึงให้คนกลุ่มนี้สนใจบริโภคชา นอกจากนี้เราได้เปิดธุรกิจใหม่ร่วมกับประเทศอินเดีย คือเปิดโรงเรียนเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านชาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และยังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมได้อีกด้วย รายได้รวมในปีนี้คาดว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.62 จะมีตัวเลขรายได้อยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10% รายได้หลักๆ มาจากการจำหน่ายชาแปรรูป ผ่านช่องทางผู้จัดจำหน่าย, ชาระมิงค์จัดจำหน่ายเอง, การส่งออก และการขายผ่านช่องทาง Website ที่เหลือเป็นการจำหน่ายกาแฟและผลไม้”

ด้าน นางวงเดือน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ได้กล่าวถึงการเปิดโรงเรียน The Asian School of Tea ภายใต้ความร่วมมือกับ Global India Foundation องค์กรสอนการชงชาชั้นนำจากประเทศอินเดียว่า “เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะหาประสบการณ์ความรู้เรื่องชาจากต่างประเทศแบบจริงจัง พบว่ามีสถาบันแห่งหนึ่งใน Kolkata ประเทศอินเดีย ชื่อว่า The Asian School of tea ก่อตั้งโดยนักธุรกิจอินเดียซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่หลงรักชา และมี passion ที่อยากจะส่งผ่านวีถีชาเมืองดาร์จีลลิ่ง และความรู้เรื่องชาไปสู่ผู้ที่สนใจชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากได้เรียบจบจากสถาบันฯ จึงได้ติดต่อขอเปิดโครงการที่ประเทศไทย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งระบบการเรียนของสถาบันนี้ให้ความสำคัญทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ ซึ่งทางชาระมิงค์มีคุณสมบัติครบถ้วน เนื่องจากมีไร่ชาที่เป็นแหล่งกำเนิดชาแห่งหนึ่งของโลกที่ผู้เรียนได้ศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ การผลิต การเบลนด์ชา การชงชาและการชิมชา

สำหรับการเรียนการสอนจะมี 3 หลักสูตรด้วยกัน คือ

1) Tea Sommelier โดยเน้นกลุ่มที่เรียกว่า “คอชา” เป็น การสอนเพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องชา ซึ่งเน้นการสอนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยผู้เรียนจะได้เข้าไปรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย วิธีการปลูก การผลิต การเก็บรักษา การ blending การชงชา และการชิมชา ซึ่งใช้เวลาเรียน 4 วัน 3 คืน

2) Raming’s Art School of Tea ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีสีสันเน้นกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติที่นิยมการท่องเที่ยวธรรมชาติ และทำกิจกรรม DIY ประกอบด้วยการเยี่ยมชมบรรยากาศไร่ชา ทำกิจกรรมเก็บใบชา กระบวนการผลิต โรงงานชาระมิงค์ บนไร่ชา กิจกรรมการทำอาหารจากใบชา เรียนรู้ศิลปะการ paint ถ้วยชาศิลาดล เรียนรู้การชิมชา และการ blending ชา ใช้เวลาเรียน 2 วัน 1 คืน

3) Personalized สำหรับกลุ่มบุคคล ธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหารที่ต้องการให้จัดสอนพิเศษในหลักสูตรเฉพาะของตนเอง
เพื่อฝึกอบรมพนักงาน หรืออยากได้องค์ความรู้เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ ไป โดยทุกหลักสูตรจะเริ่มเปิดสอนในเดือนพฤษภาคม 2563”

ด้าน Mr.Nandy Souvik, Chairman, Global India Foundation ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากประเทศอินเดีย ได้กล่าวว่า “ชาเป็นเครื่องดื่มที่คนในเอเชียดื่มเป็นปกติมาช้านานและปัจจุบันการรับรู้เกี่ยวกับชากูร์เม่ต์ได้เติบโตอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นการผสมชาสมุนไพรก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงานของ Tea Sommelier จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะขยายไปถึงเรื่องการออกแบบ การเบลนด์ชากับส่วนผสมอื่น เช่น สมุนไพร ผลไม้ เครื่องเทศ และชาผสม ซึ่งโปรแกรม Tea Sommelier ได้ออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนของเรามีความรู้แบบองค์รวมเกี่ยวกับชา เป็นหลักสูตรที่เรียนทั้งทฤษฎีและเรียนรู้จากไร่ชาเพื่อเน้นประสบการณ์จริง ครอบคลุมทุกแง่มุมของชาเริ่มจากการเพาะปลูกจนถึงการเบลนด์และการชิม การเรียนรู้ ทั้งชาธรรมดา และชาสมุนไพร ซึ่งตอนนี้คนไทยสามารถมาเรียนที่ไร่ชาระมิงค์ จ.เชียงใหม่ กันได้แล้ว”

Mr.Nandy Souvik ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากประเทศอินเดีย

วงเดือน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด

การชิมชา

จักริน วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด

 

ผลิตภัณฑ์ชาระมิงค์
การเบลนด์ชา

 

ใส่ความเห็น