วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > Make a Change Agenda กับการมาของ เนวิน สินสิริ

Make a Change Agenda กับการมาของ เนวิน สินสิริ

 
การมาถึงของเนวิน สินสิริ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองของรัฐบาล แม้ไม่อาจเรียกความมั่นใจให้หน่วยงานภาครัฐกึ่งเอกชนอย่างสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังได้
 
แต่ประสบการณ์การทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) ที่มีชั่วโมงบินมากกว่า 20 ปี อาจช่วยให้ผู้ปฏิบัติภายใต้ระบบงานแบบราชการมั่นใจขึ้นได้บ้าง 
 
กระนั้นปัญหาแรกที่ผู้อำนวยการคนใหม่ของ NEDA ต้องเจอน่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับระบบการทำงานใหม่ จากที่เคยชินกับความเป็นสากลที่ได้รับมาจาก ADB แต่ต้องมาทำงานในระบบราชการกับองค์การมหาชนอย่าง NEDA 
 
งานของ NEDA ดูจะเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของเนวินไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นงานที่ต้องใช้พลวัตทางใจพอสมควรเพราะหน่วยงานอย่าง NEDA ที่ดูจากเปลือกนอกแม้จะมีความเป็นเอกชนอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเอกเทศที่จะหลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองภายในได้ ซึ่งไม่ว่าหน่วยงานราชการไหนก็คงต้องประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบทางการเมืองอยู่บ้าง และการถูกแทรกแซงในรูปแบบนี้เองที่จะเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดความก้าวหน้าขององค์กร
 
ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อครั้งยังอยู่ที่ ADB ของเนวินนั้น หลายคนคงจะแปลกใจอยู่บ้างถึงสาเหตุของการตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับ NEDA “ถึงเวลาต้องกลับบ้าน” ประโยคที่ทำให้อดีตนายธนาคารตัดสินใจกลับมาใช้ความชำนาญในบ้านเกิดเมืองนอน งานใหม่ที่มาพร้อมกับความท้าทาย
 
ช่วงเวลาสำคัญที่เนวิน สินสิริ เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารองค์การมหาชน คือช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สู่การยึดอำนาจของ คสช. ช่วงเวลาที่ใครหลายคนอาจคิดได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากจะทำงาน หากแต่นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลนี้กลับเป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวตะเข็บชายแดน 
 
นับเป็นปีแรกของการทำงานที่ต้องเจอกับบททดสอบในทันทีเมื่อมีการบ้านเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจากรัฐบาลออกมา แน่นอนว่าผู้อำนวยการ NEDA ต้องกล้าพอที่จะ Make a Change หลังได้รับงานที่ต้องอาศัยความลุ่มลึกและมีการบ้านในการวางหมากสำคัญ เพื่อที่จะเกื้อกูลเศรษฐกิจของไทย และทุกหมากที่วางไปจะต้องสร้าง Value Chain ซึ่งถือเป็นทฤษฎีในการจัดการเชิงกลยุทธ์ชั้นสูง
 
หากแต่ผู้นำองค์กรที่มีความคิดแตกต่างอย่างเนวิน จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้นั้น อาศัยแค่ความสามารถเพียงอย่างเดียวนั้นคงจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน คงต้องอาศัยการเปิดใจจากผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาที่เติบโตมาในระบบราชการไทย ให้รับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือทัศนะใหม่ๆ ในการที่จะนำพา NEDA สู่ความเป็นสากลอย่างแท้จริง
 
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องเงินงบประมาณที่น้อยและล่าช้าสำหรับใช้ในแต่ละโครงการแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องกำลังคนของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอจนต้องจัดหา Outsource ในบางครั้งนั้น “จะยืมจมูกคนอื่นหายใจตลอดเวลาไม่ได้” ความคิดของเนวินในเรื่องนี้ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความคิดที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กร
 
แน่นอนว่าทุกการปรับเปลี่ยนต้องอาศัยระยะเวลา ไม่ต่างจากเกมฟุตบอลในสนามที่มีโค้ชคนใหม่ ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นให้สอดคล้องกับแผนการเล่นที่โค้ชวางเอาไว้ แม้ในระยะแรกของการปรับรูปแบบการเล่นไม่อาจคาดหวังถึงผลสำเร็จหรือถ้วยรางวัลได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถหวังได้เลย เพราะผู้เล่นทุกคนต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว
 
โครงการต่างๆ ที่ NEDA เสนอขึ้นมานั้น จะต้องเป็นโครงการที่มียุทธศาสตร์ที่จะสร้างประโยชน์ต่อไทยให้มากที่สุดแล้ว แน่นอนว่ายังต้องตอบสนองความพึงพอใจของประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน นอกเหนือไปจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ผู้อำนวยการ NEDA ยังมีแนวคิดที่ให้เกิดการพัฒนามากกว่าถนนหนทาง แต่ยังลัดเลาะไปตามสภาพแวดล้อมรอบข้างโดยหวังให้เกิดชุมชนเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงสถานศึกษาในเขตพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงอีกด้วย 
 
นอกจากยุทธศาสตร์ที่ต้องสร้างเพื่อเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามแล้ว อีกระยะหนึ่งที่เนวินต้องเดินต่อไปคือหมุดหมายที่ชื่อว่า BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ที่ประกอบไปด้วยบังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า ที่มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 
 
ดูเหมือนการมาถึงของเนวินในองค์การมหาชนเล็กๆ ที่ชื่อ NEDA นั้น การทำงานอาจจะไม่ได้สะดวกหรือคล่องตัวมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานที่ ADB แต่วาระการทำงาน 4 ปีแรก อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพทางความคิดของผู้อำนวยการคนใหม่ได้ไม่ยาก
 
การทำงานในก้าวต่อไปจากนี้เนวินจะเป็นผู้เดินตามกรอบโครงนโยบายที่มีผู้กำหนดเอาไว้แล้ว หรือจะขึ้นไปยืนบนเวทีอาเซียนพร้อมนำยุทธศาสตร์ที่เกิดจากแนวความคิดของผู้นำขององค์การมหาชนอย่าง NEDA ที่ชื่อว่า เนวิน สินสิริ