พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมผลงานวิจัยการท่องเที่ยววิถีคลองในประเทศไทย สกสว. โดยมี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผอ.ภารกิจจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. ผศ.ดร.ประทีป วจีทองรัตนา ผอ.แผนงานวิจัย จาก มรภ.สวนสุนันทา พร้อมด้วย ดร.นราวดี บัวขวัญ และคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับและนำเสนอผลงาน ระหว่างลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.ราชบุรี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงงานวิจัยของ สกสว. ว่าเป็นงานที่ดีมากและชื่นชมที่จะมีการขยายผลไปทั้วประเทศทั้ง 25 ลุ่มน้ำบนฐานทรัพยากรรายภูมิภาค
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีดำริเรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเลือก “คลองดำเนินสะดวก” เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนา และมอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งกำกับดูแล องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เร่งดำเนินการ โดยมอบหมายให้ อพท.จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบทางวัฒนธรรม “วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยคลองดำเนินสะดวก” ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจศักยภาพและพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อคลองดำเนินสะดวกในส่วนของคลองสาขา จังหวัดราชบุรี เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว ให้ขยายวงกว้างขึ้น โดยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
จากการลงพื้นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงาน องค์การหนุนเสริมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การขยายผลการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ “วิถีคลอง วิถีไทย” ไปยังพื้นที่ในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ ในช่วงต้นปี 2562 อพท.จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว). เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยไปสู่การพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย สกสว. ได้อนุมัติทุนสนับสนุนให้คณะผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย “ศักยภาพของการท่องเที่ยววิถีคลองในประเทศไทย” ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษา สำรวจ และประเมินศักยภาพการท่องเที่ยววิถีคลองในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยววิถีคลองแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
ผลการวิจัย “ศักยภาพของการท่องเที่ยววิถีคลองในประเทศไทย” ภายใต้การได้ใช้ฐานทางกายภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำ 25 แหล่งของประเทศไทย เป็นฐานการสำรวจและศึกษาศักยภาพเพื่อจัดลำดับการท่องเที่ยววิถีคลองในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีคลองกระจายอยู่จำนวน 1,825 คลอง จำแนกตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยรูปแบบของการท่องเที่ยววิถีคลองประกอบด้วย 1. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ 2. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานการเกษตร 3. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานประวัติศาสตร์ 4. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชน 5. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานศาสนา/ศรัทธา/ควาเชื่อ 6. การท่องเที่ยววิถีคลองบนฐานทรัพยากรท่องเที่ยวแบบผสมผสาน
จากการศึกษาพบว่าในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีชุมชนท่องเที่ยววิถีคลองที่มีศักยภาพที่สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวภายใต้การศึกษาและประเมินจากวิจัย ซึ่งสามารถยกตัวอย่างในแต่ละภูมิภาคได้ดังนี้ คือ 1. พื้นที่ภาคกลาง อาทิ ชุมชนตลาดน้ำท่าคา จ.สมุทรสงคราม คลองลัดมะยม และคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นต้น 2. พื้นที่ภาคเหนือ อาทิ ชุมชนบ้านศาลาบัวบก จ.ลำปาง เป็นต้น 3. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ บ้านหัวนา อ.กันทรารมย จ.ศรีสะเกษ , บ้านชีทวน จ.อุบลราชธานี เป็นต้น 4. พื้นที่ภาคใต้ อาทิ ชุมชนบางใบไม้ คลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี, ชุมชนคลองแดน จ.สงขลา 5. พื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ ชุมชนริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี ตลาดคลองสวนร้อยปี คลองประเวศบุรีรัม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 6. พื้นที่ภาคตะวันตก อาทิ คลองบางปู จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ผลการวิจัยในระยะแรกทำให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลในด้านระดับศักยภาพการท่องเที่ยววิถีคลองในของประเทศไทย นำไปสู่การวิจัยต่อยอดในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบหรือพื้นที่นำร่อง เพื่อขยายผลจากการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ให้เกิดความเป็นรูปธรรมด้านการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีคลองในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยต่อไป