วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > มาตรการแจกเงินไปเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจหรือร่วมกันอับปาง?

มาตรการแจกเงินไปเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจหรือร่วมกันอับปาง?

ความพยายามของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางตัวเลขและดัชนีบ่งชี้ถึงสภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง กำลังเป็นภาพสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับสังคมเศรษฐกิจไทย หลังจากที่กลไกภาครัฐพยายามโหมประโคมและเอ่ยอ้างผลงานว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ก่อนที่หัวหน้าคณะรัฐบาลคนปัจจุบันจะออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังมีปัญหา ก็เมื่อความเป็นจริงได้เคลื่อนมาประจันหน้าแล้ว

การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพื่อแจกเงินคนไทยจำนวน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า คนละ 1,000 บาท เพื่อใช้ในการท่องเที่ยว ซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร เข้าพักในโรงแรม และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ข้ามจังหวัดของตัวเอง ภายใต้โครงการ “ชิมชอปใช้” โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับประชาชนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) คนละ 1,000 บาท ให้ใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่โดยพิจารณาจากบัตรประจำตัวประชาชน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน หรือคิดเป็นวงเงินที่จะใช้ในมาตรการนี้รวม 1 หมื่นล้านบาท และจะเปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-22 กันยายนนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้สั่งให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกับเปิดแอปพลิเคชันเพื่อลงทะเบียนทั้งในฝั่งประชาชนและร้านค้า

นอกจากนี้ ยังมีเงินสนับสนุนเงินชดเชย หรือ cash rebate จำนวนร้อยละ 15 จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซื้อสินค้าท้องถิ่นและค่าที่พักรวมกันแล้วสูงสุดได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท หรือได้รับเงินคืนสูงสุด 4,500 บาทอีกด้วย

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ยังได้อนุมัติการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival สำหรับนักท่องเที่ยวจากทั้งตลาดจีนและอินเดีย ที่กำลังจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562 ให้เป็นสิ้นสุดมาตรการนี้ในสิ้นเดือนเมษายน 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยวางน้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยฝากความหวังไว้ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นด้านหลัก เพราะฟันเฟืองเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นอื่นๆ ดูเหมือนจะอยู่ในอาการที่ยากจะฟื้นฟู

ความคาดหวังของรัฐในการดำเนินมาตรการที่ว่านี้อยู่บนฐานความคิดที่ว่าการกระตุ้นการท่องเที่ยวน่าที่จะช่วยผลักดันให้กลไกทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมเหล่านี้ได้รับอานิสงส์ และช่วยให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่เหลือของปีกระเตื้องขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการแจกเงินให้ไปเที่ยวในครั้งนี้ กลับไม่ได้รับการตอบสนองในเชิงบวกจากประชาชนทั่วไปมากนัก ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน สิ่งที่ประชาชนต้องการอาจอยู่ที่การกระตุ้นให้เศรษฐสภาพในระดับครัวเรือนฟื้นตัวและสามารถลดภาระหนี้สินที่มีมากกว่าที่จะคำนึงถึงการท่องเที่ยวที่ดูจะไกลตัวออกไป

ประเด็นที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ มุมมองของผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่อนโยบายดังกล่าว ที่แม้จะรู้สึกว่ามาตรการที่ว่านี้มีประโยชน์อยู่บ้างในภาวะที่การท่องเที่ยวซบเซา แต่มาตรการนี้อาจไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังกลุ่มประชากรหรือผู้ประกอบการระดับฐานราก และทำให้ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและกำลังเผชิญกับปัญหาจากเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และยังประเมินว่าการให้เงินคนไปเที่ยวอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะคนที่ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจริงๆ คือคนในกลุ่มฐานราก

ข้อเสนอที่ย้อนแย้งต่อมาตรการแจกเงินให้คนไปเที่ยว จำนวนงบประมาณรวม 1 หมื่นล้านบาทของรัฐที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การระบุว่ารัฐควรนำเงินส่วนนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพัฒนากลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน ที่น่าจะเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน ควบคู่กับการทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับดีให้มาใช้เงิน และได้ประสบการณ์ดีๆ จากการเก็บรับและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยกลับไปด้วย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวของไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนและสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่พึงจะเป็นมากกว่าที่เป็นอยู่

ประเด็นดังกล่าวสอดรับกับทัศนะของจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ระบุว่าการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นและเติบโตอย่างยั่งยืนควรใช้งบประมาณไปพัฒนาคุณภาพของการท่องเที่ยว ทั้งในมิติของความสะดวก ปลอดภัย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางคมนาคม พัฒนาเทคโนโลยีและการใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่เพิ่มความสะดวกนักท่องเที่ยว เพิ่มและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวทั้งล่าม ไกด์ การตรวจคนเข้าเมือง และพนักงานที่ต้องสื่อสารกับชาวต่างประเทศ เงินจำนวนหมื่นล้านหากใช้เป็นจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและยังช่วยให้พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย

นอกจากนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ยังแสดงทัศนะและความห่วงใยต่อมาตรการของรัฐดังกล่าว ว่าการใช้งบประมาณของรัฐไปกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเน้นงบลงทุน ไม่ควรไปเพิ่มรายจ่ายที่ไม่ใช่งบลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแหล่งที่มาของงบประมาณเป็นเงินกู้หรือการสร้างหนี้ของรัฐบาล ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก

ขณะที่การใช้งบประมาณไปเพื่อการบริโภคของประชาชน แม้จะสามารถทำได้ แต่ควรเป็นกรณีจำเป็นเช่นคนตกงาน คนประสบภัยพิบัติต่างๆ ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมให้คนไปเที่ยว เพราะคนไทยมีภาระหนี้สินสูงมากอยู่แล้ว การแจกคนละ 1,000 บาทโดยหวังให้มีผลเหมือนเอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง จะยิ่งสร้างภาระหนี้สินให้กับคนหลายล้านคนที่จริงๆ แล้วควรจะออมเงินมากกว่า

ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการแจกเงินให้คนไปเที่ยวที่ผ่านมา มักลงท้ายด้วยการส่งเงินผ่านคนที่ไม่ค่อยมีสตางค์ไปให้ธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่ต้องพัฒนาขีดความสามารถของตนเองและยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้รุนแรงยิ่งขึ้น และเมื่อผนวกกับการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังจะของบเพิ่มอีกเป็นหมื่นล้านเพื่อใช้แจกไม่อั้น ยิ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งรัฐบาลคิดแบบนี้เศรษฐกิจจะยิ่งถดถอยแน่นอน และมาตรการเช่นว่านี้กำลังเป็นภาพสะท้อนความอับจนทางสติปัญญาของรัฐบาลปัจจุบัน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมไทยตลอดช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อเนื่องมาจนถึงประยุทธ์ 2/1 ที่สะท้อนผ่านออกมาเป็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทรุดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาสและยังมีแนวโน้มที่จะตกต่ำลงไปอีกจากสภาพการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสายน้ำวนที่กำลังหมุนตัวและดูดกลืนสรรพสิ่งให้คล้อยต่ำจมดิ่งสู่ผืนดินเบื้องล่าง

ความพยายามประคับประคองสถานการณ์ด้วยการแจกเงินให้คนไปเที่ยวครั้งล่าสุดนี้ จึงก่อให้เกิดคำถามมากมายว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาในลักษณะของการมุ่งหน้าสู่แสงอรุณใหม่ หรือเป็นเพียงการมุ่งหน้าเข้าสู่ดวงอาทิตย์ในยามอัสดงและความเสี่ยงที่พร้อมจะอับปางลงกลางสายน้ำแห่งมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้

ใส่ความเห็น