วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > นโยบายพลังงาน เฟืองตัวใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย?

นโยบายพลังงาน เฟืองตัวใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย?

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่ดัชนีชี้วัดหลากหลายสะท้อนภาพความตกต่ำไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ติดลบ การชะลอตัวลงของกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ยังไม่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้น หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จนนำไปสู่ข้อกังขาว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 จะนำพารัฐนาวาฝ่าคลื่นลมของปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ไม่ให้เกิดเป็นวิกฤตได้อย่างไร

ความเคลื่อนไหวของกลไกรัฐภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นประหนึ่งการเริ่มต้นบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่าจะนำเสนอมาตรการหรือขับเคลื่อนองคาพยพของสังคมเศรษฐกิจไทยไปในแนวทางที่ได้แถลงนโยบายไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถก่อให้เกิดพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้มากน้อยเพียงใด ประการสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือจะสามารถพยุงหรือฉุดสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซานี้ให้ตื่นฟื้นขึ้นมาได้หรือไม่

การประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการระบุว่ากำลังจะปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 (Power Development Plan: PDP2018) ทั้งที่แผนดังกล่าวเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จึงเป็นจังหวะก้าวที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการปรับกระบวนทัศน์ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปของทั้งพลังงานและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ก่อนหน้านี้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แสดงบทบาทนำในการใช้กลไกของนโยบายด้านพลังงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการขยายระยะเวลาในการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร) และตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไปอีก 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน 2562) เพื่อให้กระทรวงพลังงานได้มีเวลาเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ชัดเจนขึ้น ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง

ขณะเดียวกัน กบง. ได้ขยายระยะเวลาให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี 7) ที่อัตรา 5 บาทต่อลิตร จากเดิมที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 31 กรกฎาคม ออกไปอีก 2 เดือน หรือสิ้นสุด 30 กันยายน 2562 เพื่อช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวและยกสูงขึ้นได้ในห้วงเวลาระยะสั้นๆ นี้

แต่การประกาศว่าจะปรับปรุง PDP2018 ในงานเสวนา “เจาะลึก แผนพีดีพี ทิศทางพลังงานไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะเป็นประเด็นที่กว้างขวางและแหลมคมกว่าความเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะหน้าในช่วงก่อนหน้านี้อย่างมาก

นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาถูกบรรจุไว้ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในข้อที่ 5.6.3 โดยระบุถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน

กรณีดังกล่าวเป็นที่มาของการพิจารณาทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP2018 ใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน กับพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม จาก PDP2018 ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักถึงร้อยละ 53 รวมทั้งการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนในการส่งเสริมพลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ จากที่ PDP2018 เน้นเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 10,000 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์

การปรับปรุงแผน PDP2018 นอกจากจะอยู่ที่การปรับทิศทางของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และลดรายจ่ายสำหรับประชาชนในระดับฐานรากแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องถึงการปรับลดค่าไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินว่ายังสามารถปรับลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่าระดับ 3.58 บาทต่อหน่วยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับปรุง PDP2018 อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การกระตุ้นเร้าให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนภายใต้หลักการของการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงไฟฟ้าจากขยะซึ่งต้องหารือและประสานความเป็นไปได้กับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง

“กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในการเตรียมการในการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมลงทุน แล้วแบ่งปันผลกำไรกับภาคชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นการเปิดโอกาสของความร่วมมือที่ประชาชนพร้อมจับมือกันและมีส่วนในการเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงานได้ โดยจะใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ระเบียบเงินกองทุนนี้ ส่วนการยื่นขอโครงการที่จะเริ่ม ก็จะปรับแก้ระเบียบ วิธีการขอ และองค์กรที่ขอเข้ามา เพื่อสอดรับกับทิศทางการเกิดพลังงานชุมชนไปสู่ข้างล่าง”

หากแต่ความมุ่งหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการตอบโจทย์ให้พลังงานเป็นของทุกคนและทุกระดับ โดยเฉพาะให้ชุมชนมีส่วนร่วมการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น เพราะยังหวังให้กระบวนการดังกล่าวนำพาให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในอาเซียน และทำให้ไทยสามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านไฟฟ้าอย่างเป็นระบบจากการมีผู้ซื้อผู้ขายที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีก

เป้าหมายที่ว่านี้ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ทั้งในมิติของแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่มีระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการกํากับ ดูแลกิจการด้านพลังงานให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจด้านพลังงานในอนาคต การดําเนินการให้มีการสํารวจและค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาพลังงานด้วย

“ทิศทางของเรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renewable) เป็นเรื่องสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดจนเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิต ตลาดกลางการซื้อขายพลังงาน การจัดทำสมาร์ทกริด ไมโครกริด เรื่องดิจิทัลดิสรัปชันเข้ามามากต้องศึกษา สิ่งที่กระทรวงพลังงานพยายามดำเนินการก็คือการมุ่งให้เป็นพลังงานเพื่อประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุ

บางทีในขณะที่กลไกและฟันเฟืองในการหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในภาคอื่นๆ กำลังหักบิ่นและอยู่ในสภาพชำรุดแบบที่ต้องยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ เครื่องมือที่ดำเนินผ่านนโยบายพลังงานอาจกลายเป็นความหวังครั้งใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นรั้งให้เศรษฐกิจสังคมไทย ไม่ให้ต้องจมดิ่งสู่มุมอับแห่งอนธการที่ยาวนานมากไปกว่านี้

ใส่ความเห็น