วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > คอร์น เฟอร์รี่ ชี้ผลสำรวจช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับล่างกับผู้จัดการระดับสูงในไทยเพิ่มขึ้น 9.3%

คอร์น เฟอร์รี่ ชี้ผลสำรวจช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับล่างกับผู้จัดการระดับสูงในไทยเพิ่มขึ้น 9.3%

ข้อมูลการศึกษาครั้งใหม่ของ คอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: KFY) ระบุว่า ความแตกต่างของเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับล่างกับผู้จัดการระดับสูงของบริษัทในประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.3% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของทุกภูมิภาคทั่วโลกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา การศึกษาครั้งนี้ใช้สถิติจากฐานข้อมูลค่าตอบแทนระดับโลกของ คอร์น เฟอร์รี่ ซึ่งพบว่า 77% ของ 58 ประเทศที่ทำการวิเคราะห์มีช่องว่างเงินเดือนที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ประเทศในเอเชีย 8 ใน 9 ประเทศ มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนระหว่างกลุ่มพนักงานระดับล่าง ระดับกลาง จนถึงในระดับบน โดยประเทศไทยขยายตัวที่ 9.3% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้ง 9 ประเทศคือ 15.3% มีเพียงอินเดียที่มีอัตราขยายตัวช่องว่างเงินเดือนพุ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างมากคืออยู่ที่ 66%

ชนัตถ์ อธิบาย Senior Client Partner and Head of Rewards and Benefits, Korn Ferry Thailand กล่าวว่า “เมื่อพูดถึงช่องว่างเงินเดือนในตลาดประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณาถึงนิยามของ ‘ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม’ ใหม่ ตัวอย่างเช่น องค์กรหลายแห่งในเมืองไทยกำลังประสบภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในงานดิจิทัล โดยเฉพาะองค์กรที่วางแผนแปรรูปกระบวนการทำงานในแบบเดิม ๆ โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ (AI) ดังนั้น บุคลากรที่มีความสามารถซึ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงมักได้รับเงินเดือนสูง”

“ค่าตอบแทนจึงกลายเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดว่าบุคลากรที่มีความสามารถต่างต้องการแรงกระตุ้นในการเข้าทำงานในสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบัน ทั้งการปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่ ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การปรับตำแหน่งขึ้นและลงได้โดยปราศจากอุปสรรค หากยอมรับเงื่อนไขการทำงานใหม่ได้ ก็จะได้รับอัตราค่าตอบแทนใหม่ด้วย ดังนั้น ความเป็นธรรมของค่าตอบแทน (Pay Equity) จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำหนักงานเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนไปตามการดำเนินงานและความต้องการขององค์กร” ชนัตถ์ กล่าวเสริม

บทวิเคราะห์ของ คอร์น เฟอร์รี่ ยังชี้ให้เห็นถึงสาเหตุเพิ่มเติมอีกหลายประการ ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

“สำหรับกลุ่มพนักงานระดับล่างในตลาดแรงงานเหล่านี้ การใช้ระบบอัตโนมัติและการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ก็ส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาด คือมีคนมากกว่าตำแหน่งงาน ซึ่งทำให้การปรับขึ้นเงินเดือนช้าลง” บ็อบ เวสเซลเคมเปอร์ หัวหน้างานระหว่างประเทศฝ่าย Rewards and Benefits Solutions คอร์น เฟอร์รี่ กล่าว “ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มระดับบน กลับเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะจำเป็นและประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือ อาทิ สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ อีกทั้งองค์กรต่าง ๆ พากันแย่งตัวผู้จัดการระดับสูงที่มีทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ที่จำเป็น อาทิ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการบริหารทีมงานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น อัตราค่าตอบแทนของพนักงานในกลุ่มนี้จึงพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่างานอื่น ๆ”

แม้ช่องว่างเงินเดือนที่กำลังขยายตัวขึ้นจะเป็นเรื่องปกติในประเทศส่วนใหญ่ หากยังมีบางแห่งที่ช่องว่างนี้กำลังลดลง เช่น ช่องว่างค่าตอบแทนกำลังหดแคบตัวลงในบางประเทศอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราภาษีที่สูงกว่าสำหรับผู้มีเงินได้สูง ดังนั้น จึงมีการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนน้อยลงแก่พนักงานระดับสูง รวมถึงการแทรกแซงของรัฐบาลและสหภาพในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานระดับล่างก็ส่งผลด้วยเช่นกัน

สำหรับการวิเคราะห์ในภูมิภาคอื่น ๆ มีดังนี้

ทวีปอเมริกาเหนือ: สหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนสูงกว่าคานาดา

สหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนที่ 12% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 9% อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างแคนาดามีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนเพียง 5%

ทวีปยุโรป: ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีช่องว่างเงินเดือนแคบลง

โดยเฉลี่ย ทั้งภูมิภาคมีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนที่ 2% โดย 13 ประเทศในยุโรปมีช่องว่างเงินเดือนระหว่างกลุ่มพนักงานระดับล่างและกลุ่มระดับบนที่แคบลง ประเทศที่เห็นได้ชัดเจนมากคือฝรั่งเศส (-6%) อิตาลี (-3%) โปแลนด์ (-13%) และสหพันธรัฐรัสเซีย (-3%) ส่วนสหราชอาณาจักรมีช่องว่างเงินเดือนสูงขึ้นที่ 9% โดยมีเพียง 3 ประเทศในยุโรปที่มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนสูงกว่าสหราชอาณาจักร ได้แก่ โปรตุเกส (10%) กรีซ (11%) และยูเครน (79%)

ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกามีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนที่สูงอย่างเหลือเชื่อ

การขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนระหว่างกลุ่มพนักงานระดับล่างและกลุ่มระดับบนในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกามีอัตราสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ที่ 58% และ 49% ตามลำดับ โดย 6 ใน 10 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนสูงสุดอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ บาห์เรน ที่ 118% ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนสูงสุดในการศึกษาครั้งนี้

ละตินอเมริกามีเพียง 2 ประเทศที่ช่องว่างเงินเดือนแคบลง

ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคละตินอเมริกามีการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนเพิ่มขึ้น ด้วยค่าเฉลี่ยทั้งภูมิภาคที่ 13% ซึ่งโคลัมเบียเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนสูงสุดที่ 32% โดยมีเพียงอาร์เจนตินาและเวเนซูเอลาเพียง 2 ประเทศที่เป็นข้อยกเว้น เพราะมีช่องว่างเงินเดือนที่แคบลงที่ 2% และ 18% ตามลำดับ

ภูมิภาคแปซิฟิกมีการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนน้อยที่สุดเป็นอันดับสองโดยค่าเฉลี่ย

ด้วยค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่ 7% ทำให้ภูมิภาคแปซิฟิกมีการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนน้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากยุโรปที่มีเพียง 2% โดยประเทศออสเตรเลียมีอัตราการขยายตัวของช่องว่างเงินเดือนที่ 8% และนิวซีแลนด์ที่ 5%

ใส่ความเห็น