ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความจำเริญทางอารยธรรมและการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกมาอย่างต่อเนื่องเช่นศรีลังกานี้ ย่อมไม่ได้ดำเนินไปท่ามกลางความหอมหวานและราบรื่น หากแต่เต็มไปด้วยประวัติการณ์แห่งการต่อสู้ช่วงชิง ทั้งในมิติของอำนาจ ดินแดนและทรัพยากร
การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากการครอบงำของมหาอำนาจจากภายนอกที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาช่วงชิงโรมรันพันตูของศรีลังกา ในด้านหนึ่งกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานในความห้าวหาญและกล้าแกร่งที่มีไว้เพื่อเชิดชูวีรชนที่ต่อสู้อย่างไม่ลดละด้วยหวังให้ดินแดนแห่งนี้ยังสามารถคงความเป็นเอกราช
แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพของความเลวร้าย ตกต่ำ และทุรยุค ที่เกิดจากการปกครองของเหล่ากษัตริยาทั้งหลายที่กลายเป็นทรราช บนบัลลังก์ที่กรุ่นไปด้วยคาวเลือดของการไขว่คว้าราชศักดิ์ ท่ามกลางความเดือดร้อนวุ่นวายซึ่งเกิดขึ้นในทุกหย่อมย่านในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน
ความเป็นไปของศรีลังกาในยุคสมัยใหม่ ที่อาจนับเนื่องได้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่กองทัพโปรตุเกส ซึ่งนำโดยผู้บัญชาการและนักสำรวจนาม Lourenco de Almeida ขึ้นฝั่งศรีลังกาเมื่อปี ค.ศ. 1505 พร้อมกับครอบครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลก่อนประกาศให้ดินแดนเหล่านี้เป็นของจักรวรรดิโปรตุเกส
ราชอาณาจักรที่สืบเนื่องและผ่านยุคสมัยที่ยาวนานมากว่า 2,000 ปี ท่ามกลางความเป็นไปของราชสำนักหลากหลายบนแผ่นดินศรีลังกาก็เริ่มเข้าสู่ปฐมบทของการเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ
เป็นการเสื่อมถอยที่มีเฮือกของการสะอึกสำลักลมปราณให้ได้เห็นเป็นจังหวะประหนึ่งว่ากำลังมีอาการดีขึ้น ก่อนจะปลดเปลื้องลมหายใจรวยรินให้สิ้นไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ไม่ต่างจากอาการของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกฤทธ์ยากดทับและกล่อมอาการ จนหลงเข้าใจผิดในฤทธานุภาพที่กลายเป็นมายาภาพให้ยึดกุม
การเกิดขึ้นและดำเนินไปของราชอาณาจักรในนาม Kingdom of Kandy ดูจะเป็นประจักษ์พยานในข้อเท็จจริงที่ว่านี้ได้อย่างแจ่มชัดและเป็นตัวอย่างของความเสื่อมที่ไม่ได้เกิดจากภัยคุกคามภายนอกโดยลำพังเท่านั้น หากแต่สนิมย่อมเกิดแต่เนื้อในตนด้วย
ความพยายามที่จะรักษาอำนาจของเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ ให้รอดพ้นจากผู้รุกรานนำไปสู่การถอยร่นขึ้นสู่เขตป่าดงดอยและเทือกเขาสูงที่อยู่ลึกห่างเข้าไปจากชายฝั่งทะเล ด้วยหวังจะอาศัยสภาพภูมิประเทศทุรกันดารเหล่านี้เป็นประหนึ่งปราการและเกราะคุ้มกันภัย
ราชอาณาจักร Kandy สามารถสถาปนาและยืนหยัดตั้งตัวเป็นอิสระจากการครอบงำจากต่างประเทศ ได้อย่างยาวนานถึงกว่า 300 ปี (1521-1815) และกลายเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์สุดท้ายในความรุ่งเรืองของยุคราชอาณาจักรบนแผ่นดินศรีลังกา
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในความเป็นไปของ Kandy ในช่วง 200 ปีแรกของอาณาจักรก็คือแม้อิสรภาพของ Kandy แลกมาด้วยความขมขื่น ท่ามกลางการแข่งขันประลองอำนาจระหว่างโปรตุเกสและดัตช์ ที่ต่างหวังจะครอบครองและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรเหนือดินแดนแห่งนี้
แต่การมาถึงของกองกำลังจากอังกฤษเพื่อเข้าแทนที่อิทธิพลของดัตช์ในปี 1739 ต่างหากที่สร้างรอยบาดแผลร้าวลึกและผลักให้อิสรภาพที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีของราชอาณาจักรบนแผ่นดินศรีลังกาต้องสูญสลายกลายเป็นเพียงภาพจำแห่งความหลัง ภายในเวลาเพียง 20 ปี ควบคู่กับความระส่ำระสายของการสืบทอดราชบัลลังก์ภายในราชสำนัก Kandy ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ราชอาณาจักรแห่งนี้เสื่อมถอยอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมานี้
สงครามระหว่างอังกฤษและอาณาจักร Kandy ที่ถูกเรียกต่อมาในภายหลังว่า Kandyan Wars เริ่มขึ้นในปี 1803-1805 ก่อนที่จะสงบลงชั่วคราวจากผลของการเปลี่ยนตัวข้าหลวงที่มาปกครองดินแดนนี้ และเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1815 ที่นำไปสู่การสิ้นสุดลงในเอกราชของอาณาจักร Kandy ราชอาณาจักรสุดท้ายของชนพื้นถิ่นบนแผ่นดินศรีลังกา และถูกผนวกให้เป็นอาณานิคมแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น
กระนั้นก็ดี ความพยายามที่จะทวงคืนเอกราชของศรีลังกาในปี 1817-1818 ซึ่งถูกเรียกว่า Uva Rebellionกลายเป็นบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งของศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ก่อการทั้งหมดถูกฝ่ายอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมประณามและกล่าวโทษในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็นกบฏผู้ทรยศ พร้อมกับการยึดทรัพย์ การทารุณกรรมและกระทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิมากมาย
การเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกเนื่องในโอกาสที่พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1948 แต่ยังคงสถานะเป็นประเทศในเครือจักรภพแห่งสหราชอาณาจักร จึงมีนัยความหมายที่เจ็บร้าวในความรู้สึกของชนชาวศรีลังกามากกว่าการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมผู้รุกรานจากตะวันตกรายอื่นๆ
ขณะที่รัฐบาลของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมาพยายามยกเลิกประกาศที่น่าละอายของราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว เพื่อคืนความเป็นธรรมและเกียรติภูมิแก่ผู้วายชนม์ในการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมในครั้งนั้น ก่อนที่ในปี 2011 ความพยายามของศรีลังกาก็บรรลุผล เมื่อประธานาธิบดี Mahinda Rajapaksa เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และทำให้ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะวีรชนแห่งชาติของศรีลังกาต่อมา
แม้ว่าศรีลังกาจะได้การปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมเมื่อปี 1948 หากแต่สำหรับชนชาวศรีลังกาแล้ว บางทีการได้ถอยออกจากอำนาจของราชสำนักอังกฤษมาสู่การเป็นสาธารณรัฐต่างหากที่เป็นการปลดปล่อยศรีลังกาอย่างแท้จริง