วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง

ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง

Column: Women in Wonderland

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างมาก หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน อาจจะไม่คาดคิดว่าเราสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคคลอีกซีกโลกหนึ่งได้เพียงในเวลาไม่กี่วินาที หรือแม้กระทั่งสามารถพูดคุยกับบุคคลที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งโดยเห็นหน้ากันไปด้วยระหว่างพูดคุย ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น

ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร อย่างโทรศัพท์ การพูดคุยกันใน Social Network เป็นต้น ด้านการศึกษาที่สามารถเรียนได้จากที่บ้าน หรือที่ประเทศอื่น หรือแม้กระทั่งด้านการเงินที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกต่อไป เราสามารถจ่ายเงินผ่านทางโทรศัพท์ได้ และแน่นอนว่าทางด้านภาคธุรกิจเอง ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการขายของ ทุกคนสามารถสั่งซื้อของออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องมาที่ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งภาคการเกษตรก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิต

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันคือ การสั่งงานด้วยเสียง หรือการพูดคุยตอบโต้กับหุ่นยนต์ ในปี 2011 ค่ายโทรศัพท์ Apple ได้เปิดตัว Siri ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยหรือเลขานุการของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ โดย Siri ถือว่าเป็น Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์สามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ แต่ไม่มีอารมณ์เหมือนกับมนุษย์ ดังนั้น Siri จึงสามารถเข้าใจภาษาพูดของคนและสามารถตอบสนองได้เหมือนคนจริงๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้ผู้พิการสามารถใช้โทรศัพท์ได้สะดวกขึ้น และคนที่กำลังขับรถก็สามารถที่จะส่งข้อความหรืออีเมลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกขึ้น

การสั่งงานด้วยเสียงเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กร United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) หรือ องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประเทศเยอรมนี และองค์การ Equals Global Partnership ได้เผยแพร่รายงานชื่อ I’d blush if I could โดยในรายงานเล่มนี้ได้พูดถึงปัญหาในปัจจุบันที่มีผู้หญิงทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยมาก ตอนนี้มีผู้หญิงที่มีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันน้อยกว่าผู้ชายถึง 25% ผู้หญิงมีความรู้ด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์น้อยกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า และมีผู้หญิงยื่นขอจดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีน้อยกว่าผู้ชายถึง 13 เท่า

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของงานด้านเทคโนโลยีคือ เสียงพูดตอบโต้ของเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะใช้เป็นเสียงผู้หญิง นี่ถือว่าเป็นการเหยียดเพศหรือไม่

แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแล้ว บางอุปกรณ์และบางโปรแกรมก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการให้เสียงตอบโต้เป็นหญิงหรือชาย และต้องการให้เสียงที่ตอบกลับมามีสำเนียงแบบใด แต่หลักๆ แล้วเสียงแรกที่เป็นพื้นฐานมาจากโรงงานผลิตก็ยังเป็นเสียงของผู้หญิง นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักว่า การใส่เสียงของผู้หญิงเป็นเสียงแรกหรือเสียงพื้นฐานถือเป็นการเหยียดเพศหรือไม่

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เสียงของ Siri ในอุปกรณ์ทุกชนิดของบริษัท Apple จะเป็นเสียงของผู้หญิง ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่มีการเปิดตัว Siri นั้น มีคนจำนวนมากจากทั่วโลกใช้คำพูดที่ไม่สุภาพกับ Siri และ Siri ในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่สามารถเข้าใจการใช้คำศัพท์แสลงต่างๆ ทำให้ในบางครั้งคำตอบที่ Siri ตอบกลับกลายเป็นเรื่องตลกไป อย่างชื่อเรื่องของรายงานที่ถูกเปิดเผยโดยองค์การ UNESCO ก็มาจากประโยคที่ Siri ตอบกลับเมื่อมีคนพูดกับ Siri ว่า You are a bitch! (คุณเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี) แน่นอนว่าในช่วงหลังๆ Siri ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันหากมีคนพูดคำหยาบใส่ Siri เธอจะตอบกลับด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “ชั้นไม่รู้ว่าชั้นควรจะตอบคำถามนี้อย่างไรดี”

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า ทำไมเทคโนโลยีที่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงจะต้องใช้เสียงผู้หญิงเป็นหลัก หรือเป็นเสียงแรก และไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงผู้หญิงที่ตอบกลับจะเป็นเสียงที่ดูอ่อนน้อมมากๆ อย่างในกรณีของ Siri ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมาก แต่น้ำเสียงที่ Siri ใช้ก็ยังดูเป็นน้ำเสียงที่อ่อนน้อม อยู่ดี ในขณะเดียวกันไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากขนาดไหน Siri ก็ยังเจอกับปัญหาการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ การใช้น้ำเสียงไม่ดี หรือพูดจาโมโหเกรี้ยวกราดเหมือนเดิม ซึ่งนี่ทำให้นักวิชาการและนักสิทธิสตรีหลายคนมองว่า การใช้เสียงผู้หญิงในเทคโนโลยีและใช้น้ำเสียงที่อ่อนน้อมนั้น เป็นการแสดงให้เห็นการเลือกปฏิบัติในงานด้านเทคโนโลยี และการที่ผู้คนคุ้นเคยกับการใช้คำพูดหรือน้ำเสียงไม่ดีกับอุปกรณ์เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะนำคำพูดและน้ำเสียงที่ไม่ดีเหล่านี้มาใช้กับคนใกล้ชิดได้เช่นกัน

ในรายงานเรื่อง I’d blush if I could นอกจากจะมีการระบุถึงปัญหาที่ขาดแคลนผู้หญิงในการทำงานด้านเทคโนโลยีแล้ว ในรายงานนี้ยังมีข้อเสนอในเรื่องนโยบายและวิธีการต่างๆในการลดช่องว่างทางเพศในงานด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาด้านเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน ถ้าหากว่ายังคงมีผู้หญิงน้อยคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ในอนาคตช่องว่างนี้จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก และอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องอื่นๆ ตามมา ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือ สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้นก็สามารถเพิ่มพูนทักษะความสามารถในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

นอกจากรายงานนี้จะเสนอแนะให้สนับสนุนผู้หญิงให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเสนอแนะให้ยกเลิกใช้เสียงผู้หญิงเป็นเสียงพื้นฐาน และผู้ผลิตและเจ้าของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเสียงในการทำงานควรจะมีการพัฒนาโปรแกรมให้ระบบเหล่านี้ไม่ตอบสนองต่อการใช้คำพูดที่รุนแรงและไม่สุภาพ เพื่อแสดงให้เห็นทางอ้อมว่า ควรพูดกับผู้หญิงด้วยถ้อยคำที่สุภาพ

ปัญหาข้างต้นนี้ มองผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้ามองดูรอบๆ จะพบว่า การใช้งานเทคโนโลยีที่สั่งการด้วยเสียงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น บางประเทศมีการใช้เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน หรือในหลายประเทศก็มีการใช้เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงทั้งในบ้าน รถ และที่ทำงาน

ลองคิดดูว่าถ้าหากตื่นนอนมาเริ่มกิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็เริ่มพูดกับเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว และก็พูดกับเทคโนโลยีนี้ทั้งวัน เป็นแบบนี้ทุกวัน แน่นอนว่า เราจะซึมซับและคุ้นเคยกับวิธีการพูดคุย การได้รับปฏิบัติจากเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อเริ่มคุ้นเคยเราก็อาจจะนำความคุ้นเคยนี้มาใช้ในการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากวันหนึ่งเราไปทำงาน และมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น หรือมีความเครียดจากการทำงานสูง เมื่อกลับมาบ้านก็อาจจะใช้น้ำเสียงที่ไม่ดีในการสั่งงานเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยี AI เหล่านี้ สามารถตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์แต่ไม่มีอารมณ์เหมือนมนุษย์ ดังนั้น ต่อให้ใช้น้ำเสียงไม่ดีขนาดไหนในการสั่งงาน น้ำเสียงที่ตอบกลับมาก็ยังคงเป็นน้ำเสียงที่มีความอ่อนน้อม ไม่มีความโกรธหรือความไม่อยากตอบเมื่อเจอคำพูดหรือน้ำเสียงที่ไม่ดี

การที่คนคนหนึ่งได้รับการปฏิบัติแบบนี้มาเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดความเคยชิน และจะนำพฤติกรรมนี้ไปทำกับคนอื่น เช่น ภรรยาของตัวเอง ที่เมื่อมีความเครียดจากที่ทำงาน ก็อาจจะเคยชินกับการใช้น้ำเสียงไม่ดีในการพูดคุยด้วย และเคยชินว่าจะต้องได้รับการตอบกลับมาด้วยความอ่อนน้อม ไม่มีอารมณ์โกรธหรือโมโหใดๆ แต่ในความเป็นจริงมันไม่สามารถเป็นไปได้เลย เมื่อมีคนพูดด้วยคำพูดที่ไม่ดี แสดงกิริยาเกรี้ยวกราด แน่นอนว่าบางคนสามารถอดทนอดกลั้นต่อการแสดงออกเหล่านี้และพูดกลับด้วยความสุภาพ แต่อาจจะได้ไม่นาน เพราะมนุษย์เรามีอารมณ์โกรธ โมโห กันได้ ดังนั้น จะให้มนุษย์เราตอบสนองต่ออารมณ์เกรี้ยวกราดด้วยความอ่อนน้อมเหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์ AI นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการเหยียดเพศในด้านเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญ เพราะผู้หญิงไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์ และผู้ชายไม่ควรถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการได้รับการปฏิบัติเหมือนราชาที่สามารถพูดอะไรก็ได้ ด้วยน้ำเสียงแบบไหนก็ได้

หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปมากกว่านี้และมีคนจำนวนมากใช้เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงมากขึ้น ปัญหานี้ก็จะมีมากขึ้นและแผ่ขยายไปมากขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นอาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้ยาก ดังนั้น รัฐบาลในทุกประเทศควรสนับสนุนให้ผู้หญิงเรียนด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นนับจากนี้ เพราะเมื่อผู้หญิงเข้าไปทำงานด้านเทคโนโลยีมากขึ้น มุมมองและการพัฒนาเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงอาจจะเปลี่ยนไป และจะลดหรือไม่มีการเหยียดเพศหรือความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเกิดขึ้น เพราะคนในแวดวงเทคโนโลยีจะสามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่าใครเป็นคนคิดเรื่องกำหนดเพศของระบบคอมพิวเตอร์ AI
Photo Credit: https://pixabay.com/photos/artificial-intelligence-robot-ai-ki-2167835/

ใส่ความเห็น