วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ไทยในฐานะประธานอาเซียน ก้าวไปข้างหน้า หรือ ย่ำอยู่กับที่

ไทยในฐานะประธานอาเซียน ก้าวไปข้างหน้า หรือ ย่ำอยู่กับที่

แม้ว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 วาระที่ 2 ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 จะดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หากแต่กำหนดเวลาว่าด้วยการจัดสรรตำแหน่งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่จะต้องผ่านพิธีการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณและการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ก่อนที่สังคมไทยจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยอีกครั้ง ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลออกไปอย่างน้อยก็อาจต้องใช้เวลานานรวมกว่าอีก 1 เดือนนับจากนี้

เป็นที่คาดหมายว่าการจัดสรรบุคลากรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะสามารถกระทำได้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาน่าจะดำเนินการได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เป็นลำดับถัดมา

ภารกิจของรัฐบาลชุดใหม่ นอกเหนือจากการนำพาความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับทั้งผู้คนในสังคมไทยและประชาคมนานาชาติแล้ว ประเด็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่เบื้องหน้าว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและปัญหาปากท้องของประชาชนในระดับฐานรากแล้ว ยังผูกพันอยู่กับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่เป็นประหนึ่งภาพสะท้อนในเชิงนโยบายและทิศทางที่รัฐไทยภายใต้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประสงค์จะก้าวเดินเพื่อมุ่งหน้าสู่การรังสรรค์ประเทศไทย ให้มีที่อยู่ที่ยืนในประชาคมโลกอย่างสง่างามกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือกรอบเวลาแห่งความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวาระและกำหนดการประชุมสุดยอดโดยคณะผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 34 (34th ASEAN SUMMIT) ที่จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 โดยมีประเทศไทยดำรงสถานะเป็นทั้งเจ้าภาพจัดการประชุมและเป็นประธานอาเซียน ตามระบบหมุนเวียนระหว่างสมาชิกอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ผู้นำรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศในพิธีรับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงความพร้อมในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ ASEAN SUMMIT และเสนอแนวคิดหลัก (theme) ของการเป็นประธานอาเซียนของไทยไว้ที่ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ซึ่งทำให้นักวิชาการด้านการระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ

ภายใต้แนวคิดหลักว่าด้วย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่ถอดความไปสู่การเป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค การก้าวไปสู่ดิจิทัลอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาอาเซียนให้มีความยั่งยืนในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนา ดูจะเป็นแนวคิดที่สอดรับกับตราสัญลักษณ์ที่สื่อแสดงออกมาในรูปของ “พวงมาลัย” ที่มีประชาชนเปรียบเหมือนดอกไม้ดอกเล็กๆ ที่ร้อยเรียงขึ้นมาเป็นพวงมาลัย และมีรัฐของประเทศสมาชิกเป็นประหนึ่งอุบะมาลัยงดงาม พร้อมทั้งสะท้อนวิถีความคิดแบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี

หากแต่ความน่าสนใจของการประชุมที่ดำเนินไปภายใต้แนวคิดว่าด้วย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่นำเสนอโดยประเทศไทยในด้านหนึ่งดูจะยั่วแย้งกับข้อเท็จจริงและบริบทของสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ไม่น้อยเลย เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดูเหมือนจะตกอยู่ในภาวะชะงักงันของการพัฒนาในหลากหลายด้าน

ข้อเท็จจริงจากดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังสะท้อนให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด เพราะในขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนกำลังพัฒนาขยายตัวในระดับร้อยละ 6-9 ต่อปี ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8 ต่อปีเท่านั้น

ข้อน่าสังเกตสำคัญสำหรับกรอบระยะเวลาการเป็นประธานอาเซียนซึ่งสัมพันธ์และทับซ้อนกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ดำเนินไปภายใต้คณะผู้แทนจากประเทศไทย ซึ่งมีที่มาที่ไปจากคณะรัฐมนตรี คสช. ชุดเดิม และอยู่ในฐานะที่เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ อาจทำให้การผลักดันวาระการประชุมและการเจรจาที่จะเกิดมีขึ้นในที่ประชุมครั้งนี้ มีความลักลั่นในมิติของบทบาทและความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีต่างประเทศไม่น้อยเลย

ก่อนหน้านี้ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องของกำหนดวันการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมถึงการปฏิเสธที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ ได้ฉุดรั้งภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยมาแล้ว และทำให้วาระการเป็นประธานอาเซียนของไทยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ดูจะอยู่ในภาวะที่ยากจะคาดหวังความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

ประเด็นการเจรจาและการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนควรจะแสดงบทบาทอย่างแข็งขันนอกเหนือจากแนวคิดหลักที่เสนอไว้แล้ว ยังประกอบส่วนด้วยประเด็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา หลักปฏิบัติ (code of conduct) ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในทะเลจีนใต้ และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ไม่เฉพาะในหมู่ประเทศสมาชิกประชาชาติอาเซียนเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องกับบทบาทท่าทีและอิทธิพลจากมหาอำนาจจากภายนอกภูมิภาคด้วย

กรณีว่าด้วยหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคดูจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้โดยตรง และอาจทำให้การจัดทำตัวบทเพื่อการเจรจาเรื่อง code of conduct ในทะเลจีนใต้ถูกตีความตามแนวทางของจีน เพื่อกีดกันประเทศนอกภูมิภาคไม่ให้มีกิจกรรมทางการทหารในทะเลจีนใต้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อท่าทีของทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลย อย่างไม่อาจเลี่ยง

ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP ถูกผูกโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในจังหวะก้าวทางยุทธศาสตร์ของจีน ที่พยายามนำเสนอยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) และการแข่งขันจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่เสนอแนวคิด Indo-Pacific เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนในปัจจุบัน ยังไม่นับรวมถึงท่าทีของอินเดีย และความไม่เป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ทำให้การเจรจราในกรอบ RCEP มีความก้าวหน้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ภายใต้เหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ดำเนินอยู่นี้ นอกจากอาเซียนจะยังไม่สามารถแสวงหาจุดยืนร่วมกันในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีเอกภาพแล้ว ในส่วนของประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะประธานอาเซียน ดูเหมือนจะยิ่งมีจุดอ่อนเปราะบางมากขึ้นไปอีก

เพราะภายใต้แนวความคิดของรัฐไทยในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกกำหนดขึ้นด้วยทัศนคติด้านความมั่นคงทางการทหาร และอำนาจอย่างเป็นด้านหลัก ทั้งที่สภาพการณ์ของโลกในห้วงปัจจุบัน สังคมไทยต้องการผู้นำที่อุดมด้วยสติปัญญาและวิสัยทัศน์ ที่พร้อมนำเสนอและแสวงหาจุดยืนร่วมเพื่อกำหนดสร้างยุทธศาสตร์อาเซียน ให้เหมาะควรแก่บทบาทการเป็นผู้นำและประธานอาเซียนที่ได้รับ ซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนมิติของการก้าวผ่านไปสู่ยุคสมัยใหม่ มากกว่าที่จะย่ำยึดอยู่กับที่

แม้ว่าตราสัญลักษณ์ “พวงมาลัย” และแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ จะสื่อแสดงนัยความหมายที่งดงาม หากแต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจมีค่าเป็นเพียงพวงมาลัยประกอบพิธีกรรม ที่หานัยสำคัญต่อทั้งสังคมไทยและอาเซียนโดยรวมใดๆ ไม่ได้มากเกินไปกว่าการจัดให้ผ่านพ้นไปตามวาระเท่านั้น

ใส่ความเห็น