ปตท. กำลังเร่งเปิดแนวรบธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการบุกเข้าสู่สมรภูมิใหม่ในยุคเทคโนโลยีขยายตัวอย่างรวดเร็วและตลาดอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด ผลพวงจากนโยบาย “Digital Economy” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2558
การนำร่องเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ CLICK2JOY ของยักษ์น้ำมันอย่าง ปตท. จึงตั้งเป้าหมายรุกเข้าสู่ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ เจาะกลุ่มผู้บริโภคตามแผนโรดแมป 5 ปีแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 สอดประสานกับเครือข่ายค้าปลีกที่เดินหน้าสยายปีกครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ มินิซูเปอร์มาร์เก็ตจิฟฟี่ ร้านจอยคาเฟ่คอนวีเนียน ร้านอาหารในเครือจิฟฟี่ ร้านชานมไข่มุก “เพิร์ลลี่ ที” ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” รวมทั้งยังมีฐานลูกค้าสมาชิก “บลูการ์ด” อีกส่วนหนึ่งจากธุรกิจน้ำมัน
แม้ช่วงเวลากว่า 6 เดือน เว็บไซต์ CLICK2JOY ยังทำรายได้ยอดขายเฉลี่ยเพียงหลักแสนบาทต่อเดือน เนื่องจากหลังเผยโฉมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ยังไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สู่สื่อสาธารณะ แต่อาศัยการบอกต่อลูกค้าผ่านร้านจิฟฟี่และเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสั่งซื้อสินค้าจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและลูกค้าประจำของร้านจิฟฟี่
สรีนา แซ่ด่าน ผู้จัดการส่วนบริหารแบรนด์และกิจกรรมการตลาดลูกค้า บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า นโยบายของบริษัทแม่ให้ความสำคัญกับการรุกเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และต้องการรองรับการแข่งขันในตลาดค้าปลีกรูปแบบใหม่ “Shopping Online” ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกที่ทุกค่ายต่างขยายเข้าสู่ตลาดออนไลน์ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์สมัยใหม่
ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา การซื้อสินค้าออนไลน์ขยายตัวมากและธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ประสบความสำเร็จสูง สามารถกอบโกยรายได้มูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น E-Bay หรือ Alibaba เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าชาวต่างชาตินิยมการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์
แต่ลูกค้าคนไทย แม้ตลาดมีอัตราเติบโต เมื่อเทียบจำนวนและมูลค่ายังมีจำนวนน้อยกว่ามาก ทั้งที่เป็นประเทศที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกจากผลสำรวจรายงานประจำปี 2557 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตติดอันดับ 67 ของโลก รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบ 1 ใน 3 ต่อวัน
ขณะเดียวกันผลวิจัยพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค โดย “บัซซ์ ซิตี้” เครือข่ายโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือชั้นนำระดับโลก พบว่า มีผู้บริโภคชาวไทยประมาณ 19% หรือ 1 ใน 5 ซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกวัน อีกร้อยละ 23 ซื้อสินค้าออนไลน์เป็นรายสัปดาห์ และร้อยละ 22 เป็นผู้บริโภครายเดือน
สินค้าที่สั่งซื้อ ได้แก่ อาหารและของอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่เน้นจับจ่ายในช่วงโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม
นั่นทำให้ ปตท. เห็นโอกาสและช่องทางการเติบโตของตลาดชอปปิ้งออนไลน์ในอนาคต ซึ่งเฉพาะปีนี้คาดว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยจะเติบโต 30-40% โดยเฉพาะช่องทาง “โมบายคอมเมิร์ซ” ซึ่งประเมินจากยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน จำนวนมากกว่า 44 ล้านราย
ปัจจุบัน CLICK2JOY จัดจำหน่ายสินค้า 5 หมวดหลัก ประกอบด้วยหมวดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม, หมวดสินค้าแฟชั่น, หมวดไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้า, หมวดเครื่องใช้ภายในบ้าน และหมวดคูปองแพ็กเกจต่างๆ เช่น แพ็กเกจท่องเที่ยว แพ็กเกจที่พักโรงแรม โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ได้แก่ สินค้าเครื่องสำอาง น้ำหอม สินค้าแฟชั่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม เช่น ลาแมร์ ลังโคม ชิเซโด้ เอสเต้ลอเดอร์ เรย์-แบน
สรีนากล่าวถึงแผนการทำตลาดระยะแรกเน้นการสร้างแบรนด์ ขยายการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภค การนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า พุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับ B และสำคัญที่สุด คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าทั้งในแง่คุณภาพของสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น รวมถึงระบบความปลอดภัยในการชำระเงิน เพราะถือเป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้ลูกค้าหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จริงจังมากขึ้น
“คอนเซ็ปต์ของ CLICK2JOY มีลักษณะคล้ายๆ กับ ZALORA ผสมกับชอปปิ้งออนไลน์ของเทสโก้โลตัส คือ มีทั้งสินค้าแฟชั่นและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อเปิดดีซีแห่งใหม่ เราจะสามารถนำเสนอสินค้ามากขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 3,000 รายการ ขยายไปทั้งกลุ่มอาหารสด อาหารแช่แข็ง สินค้าที่วางจำหน่ายในร้านจิฟฟี่และร้านจอย คาเฟ่ คอนวีเนียน รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป เช่น น้ำมันเครื่อง” สรีนากล่าว
ตามโรดแมปธุรกิจของ ปตท. ตั้งเป้า 5 ปีแรก CLICK2JOY ต้องสร้างรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 ล้านบาทและมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจะทำการตลาดอย่างจริงจังหลังจากศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center: DC) แห่งใหม่ใน อ. วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลตอบรับของลูกค้าได้ชัดเจน โดยเฉพาะยอดคลิกและจำนวนออร์เดอร์สินค้าตั้งแต่ครึ่งปีหลัง
การบุกแนวรบใหม่ของ ปตท. ตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 120,000 ล้านบาทและมีคู่แข่งกลุ่มยักษ์ค้าปลีกนับสิบราย ไม่รวมรายกลางรายเล็กอีกนับไม่ถ้วน สงครามชอปปิ้งออนไลน์ดุเดือดเลือดพล่านแน่ แค่คิดก็ร้อนฉ่าแล้ว