วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > รังไข่ … อวัยวะจิ๋วสุดเจ๋งของคุณผู้หญิง

รังไข่ … อวัยวะจิ๋วสุดเจ๋งของคุณผู้หญิง

Column: Well – Being

นิตยสาร Prevention เสนอบทความว่าด้วยรังไข่ อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่มีขนาดเล็กแต่ทรงพลังมหาศาลต่อร่างกายทั้งระบบของคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ รังไข่เป็นต่อมไร้ท่อรูปทรงลูกมะเดื่อ ตั้งอยู่ที่อุ้งเชิงกราน 2 ข้างของมดลูก นอกจากจะมีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง รังไข่ยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆ ในร่างกายเช่นกัน

รังไข่ทำอะไร
หน้าที่ของรังไข่ที่รู้จักกันมากที่สุด คือ ผลิตไข่ของผู้หญิง ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วมาก และเต็มไปด้วย DNA (ครึ่งหนึ่งเป็น DNA ของฝ่ายหญิง และถ้าไข่ใบนั้นได้ผสมกับสเปิร์มที่นำ DNA ของผู้ชายอีกครึ่งหนึ่ง ก็สามารถสร้างตัวอ่อนขึ้นมาได้) ในแต่ละเดือนรังไข่สร้างไข่ราวกว่าสิบใบ แต่มีไข่เพียงหนึ่งหรือสองใบ (ในกรณีลูกแฝด) ออกจากรังไข่ แล้วเดินทางผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูก ที่ที่ไข่อาจหรืออาจไม่ได้ผสมกับสเปิร์มก็เป็นได้

รังไข่ยังทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากการเป็นที่เก็บไข่ในระยะยาว นั่นคือ ผลิตฮอร์โมน ส่วนใหญ่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ควบคู่กับการควบคุมอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง รังไข่ยังผลิตฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนบางส่วนด้วยเช่นกัน ฮอร์โมนทั้งหมดนี้ออกจากรังไข่และไหลเวียนไปทั่วร่างกายของคุณผ่านทางกระแสเลือดนั่นเอง ฮอร์โมนไม่เพียงคอยรักษาให้ระบบสืบพันธุ์แข็งแรง แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนากระดูก กล้ามเนื้อ และสมองด้วย

ในรังไข่มีไข่มากน้อยแค่ไหน
คุณเกิดมาพร้อมรังไข่ที่มีไข่ราว 1–2 ล้านใบ เมื่อย่างเข้าสู่วัยแตกเนื้อสาว ไข่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงเหลือ 300,000 ใบ เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน คุณจะไม่มีไข่เหลืออยู่แม้แต่ใบเดียว นั่นเพราะเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เรียกว่า “กระบวนการตายของเซลล์” เพราะไข่มีขนาดเล็กมากจนต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ มันจึงถูกดูดซึมกลับสู่ร่างกายอีกครั้ง ตลอดชีวิตของคุณ มีไข่ประมาณ 400 ใบ ที่ผ่าน “กระบวนการตกไข่” โดยการตกไข่จะเกิดขึ้นทุกเดือน แต่ละเดือนไข่จะตกลงสู่ถุงในรังไข่ และเคลื่อนตัวออกไปสู่รังไข่ จากนั้นเดินทางผ่านท่อนำไข่ไปสู่มดลูก ถุงไข่จะหลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสมกับสเปิร์ม ร่างกายจะหยุดหลั่งฮอร์โมน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัว ทำให้คุณมีเลือดประจำเดือน เมื่อเวลาผ่านไปนาน คุณภาพไข่จะด้อยลง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมเมื่อคุณมีอายุอยู่ในวัยปลาย 30 ปีหรือมากกว่านั้น โอกาสตั้งครรภ์จึงยากขึ้นเรื่อยๆ

การบาดเจ็บที่เกิดกับรังไข่
ถุงน้ำรังไข่
ถ้าถุงไข่ไม่แตกออกเพื่อปล่อยไข่ออกมา มันจะมีอาการบวมน้ำและพัฒนาเป็นซิสต์หรือถุงน้ำ ถุงน้ำส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่เจ็บปวด คุณมีแนวโน้มไม่รู้แม้จะเกิดถุงน้ำขึ้น ยกเว้นเข้ารับการตรวจภายใน ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่ถุงน้ำจะพัฒนาเป็นมะเร็ง ในบางคน ถุงน้ำอาจทำให้เกิดอาการปวดในช่องท้อง รู้สึกผนังหน้าท้องบวมตึง และประจำเดือนผิดปกติ

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
PCOS เป็นอีกอาการหนึ่งที่สามารถเกิดกับคุณได้ อาการเด่นคือ เกิดสิว น้ำหนักตัวเพิ่ม ประจำเดือนผิดปกติ หรือขนตามร่างกายขึ้นดกหนาขึ้น โรคนี้สามารถเกิดกับผู้หญิงร้อยละ 20 และหมายความว่า รังไข่ของคุณผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ทำให้ถุงไข่ปิด ซึ่งกระตุ้นให้เกิดถุงน้ำขึ้น การใช้ยาคุมกำเนิดอาจช่วยจัดการปัญหานี้ได้
มะเร็งรังไข่

แต่ละปีมีผู้หญิงกว่า 20,000 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งมักได้ฉายาว่าเป็นฆาตกรเงียบ เพราะช่วงเริ่มต้นเป็น ซึ่งง่ายต่อการรักษามากกว่า แต่ยากต่อการตรวจพบมาก เพราะรังไข่ตั้งอยู่ใกล้กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ ทำให้คุณมีอาการท้องอืด ปวดในช่องท้อง ปวดหลัง หรือปวดท้องน้อย อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย หรือท้องผูก อาการเตือนเหล่านี้ง่ายต่อการถูกละเลย ดังนั้น จึงแนะนำให้ใจใส่ต่อความผิดปกติในร่างกายของคุณ และต้องแน่ใจว่าคุณพบแพทย์ ถ้าเกิดมีอาการเตือนดังกล่าวข้างต้นมากกว่า 12 ครั้งต่อเดือน

เกิดอะไรขึ้นกับรังไข่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
ภาวะหมดประจำเดือนเป็นภาวะที่เปรียบได้กับการที่รังไข่ได้พักและผ่อนคลาย และระยะเวลาไม่กี่ปีที่นำไปสู่ภาวะหมดประจำเดือนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจคาดหมายได้เรียกว่า ภาวะใกล้หมดประจำเดือน เมื่อรังไข่ของคุณมีอายุมากขึ้น มันอาจไม่รับสัญญาณจากฮอร์โมนของคุณได้อย่างสม่ำเสมอว่า ถึงเวลาต้องผลิตไข่ออกมาแล้ว ส่งผลให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุล สามารถนำไปสู่อาการประจำเดือนแปรปรวน อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาการนอน และอาการร้อนวูบวาบ โชคดีที่แพทย์ของคุณสามารถช่วยให้คุณหาวิธีควบคุมอาการน่ารำคาญเหล่านี้ได้

ดูแลรังไข่ให้แข็งแรงได้อย่างไร
มี 3 วิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รังไข่ของคุณอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง

รับการตรวจภายในประจำปี ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบความเสี่ยงต่างๆ เช่น ถุงน้ำ และเนื้อร้ายที่บ่อยครั้งไม่แสดงอาการในช่วงเริ่มต้น

ไม่สูบบุหรี่ สารเคมีในควันบุหรี่ทำลายสารพันธุกรรมของไข่ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นไข่ และเป็นสาเหตุให้ไข่ตายเร็วขึ้น สามารถทำให้ประสิทธิภาพการเจริญพันธุ์ลดลง หรือทำให้หมดประจำเดือนเร็วขึ้น

รักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ การทำอย่างนี้ช่วยรักษาระดับฮอร์โมนและความสม่ำเสมอของประจำเดือน ซึ่งช่วยควบคุมและลดความรุนแรงของอาการโรค PCOS ได้

ใส่ความเห็น