วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > สกว.จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือกระตุ้นการวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

สกว.จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือกระตุ้นการวิจัยสู่สตาร์ทอัพ

สกว.จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือกระตุ้นการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หวังต่อยอดสู่สตาร์ทอัพ ทุ่มงบวิจัยต่อยอดรวม 10 ทุน ด้านผู้บริหาร มช. ย้ำนักวิจัยมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสังคมและยกระดับมหาวิทยาลัยเคียงบ่าเคียงไหล่นานาประเทศ

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมงานสัมมนากระตุ้นการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ “การแปลงงานวิจัยและยกระดับสู่การใช้ประโยชน์” และการศึกษาการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากงานวิจัยพื้นฐานภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. และเยี่ยมชมการดำเนินงานของอุทยานฯ และโรงงานต้นแบบ-บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การผลักดันของอุทยานฯ

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวระหว่างการบรรยายโครงสร้างและระบบวิจัยใหม่ ว่าอยากให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีช่วยกันจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยแลลำนวัตกรรมของประเทศ โดยใช้กลไกสนับสนุนทุนวิจัย งบประมาณ และการติดตามประเมินผล เป็นตัวขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ดีแบบมีส่วนร่วมผ่านกองทุนในระดับหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศ สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นน่าจะทำการวิจัยด้านปฏิกิริยานิวเคลียร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่น่าลงทุน

ขณะที่ รศ. ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนฐานนวัตกรรมในยุคประเทศไทย 4.0 บทบาทของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยจะทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการสอนและทำวิจัยแล้วยังต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสังคมด้วย มิฉะนั้นจะถูกดิสรัป ถ้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยก็จะไปไม่รอด เราจึงต้องยกระดับมหาวิทยาลัยให้เคียงบ่าเคียงไหล่ประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาไปไกลแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่การวิจัยเชิงก้าวหน้าไปไกลมาก ในโลกยุคใหม่ใครหยุดนิ่งหรือพัฒนาช้าก็ไม่รอด โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น กำลังดำเนินการจัดตั้ง “อ่างแก้ว โฮลดิ้ง คอมปานี” เพื่อช่วยดูแลอาจารย์ให้มีการพัฒนางานวิจัยสู่งานต้นแบบหรือแนวคิดที่จะต่อยอดทำธุรกิจ โดยปรับแก้กลไกหรือระบบการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาให้นักวิจัยสามารถจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้ คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งผลประโยชน์แก่นักวิจัยมากขึ้นเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดธุรกิจมากขึ้น

ด้าน ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยถึงนวัตกรรมและทิศทางการวิจัยในอนาคตเพื่อยกระดับสู่พาณิชย์ ว่าถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิจัยเป็นเพียงผลงานตีพิมพ์ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิจัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จริงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ ทุกงานวิจัยมีคุณภาคแต่การจะกระโดดข้ามกำแพงของการขายได้เป็นเรื่องยาก การสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่และเพิ่มการจ้างงานที่มีทักษะขั้นสูงจึงถือเป็นความท้าทายของเราที่จะต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ นักวิจัย และเครื่องมือหรือห้องปฏิบัติการกับการบริหารจัดการจากหิ้งสู่ห้าง โจทย์จากภาคเอกชน และการเป็นสตาร์ทอัพ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ การแพทย์ และพลังงาน

ขณะที่ ผศ. ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานฯ ได้แนะแนวทางการต่อยอดงานวิจัยที่สามารถยกระดับสู่การใช้ประโยชน์ ว่าจะต้องพัฒนาความพร้อมด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการทำการตลาด เพื่อให้มีแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนและสามารถเพิ่มพลังให้ยกระดับได้จริง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจึงต้องทำให้เร็วและปรับตามความต้องการของตลาดในสถานการณ์ที่เหมาะสม การกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทิศทางการเคลื่อนไหวในตลาดโลกที่จะนำเทคโนโลยีไทยไปใช้เชิงพาณิชย์

ในโอกาสนี้ สกว.และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยที่เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาและนักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย โดยจะได้รับเงินสนับสนุนต่อยอดสูงสุด 1 ล้านบาท จำนวน 10 ทุนจาก สกว.

ใส่ความเห็น