จุดเริ่มต้นการค้นหาคุณค่าความหมายของนักเดินทางท่องเที่ยว เพื่อฝ่าผจญไปในโลกกว้างส่วนใหญ่ มักมีที่มาจากความสงสัยในชื่อบ้านนามเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้คงสะท้อนความเป็นมาและเป็นไป อีกทั้งยังแฝงเคลือบด้วยเสน่ห์มายาแห่งทัศนคติที่อยู่รายล้อมให้ได้พินิจพิจารณากันอย่างไม่รู้จบและรู้เหนื่อยกันเลย
กรณีดังกล่าวนี้ ดูจะสอดรับได้ดีกับวิถีความเป็นมาและเป็นไปของศรีลังกา ซึ่งสามารถสืบย้อนเรื่องราวไปได้ไกลถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์นานกว่า 5 แสนปี หรืออย่างน้อยก็ยาวนานกว่า 1.25 แสนปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมีหลักฐานปรากฏการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ยุค Paleolithic และยุค Mesolithic ไล่เรียงสู่ยุคโลหะที่ยาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ความเก่าคร่ำของดินแดนแห่งนี้ ดำเนินไปพร้อมกับคำกล่าวขานเรียกนามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย และจากการจดบันทึกของผู้ผ่านทางที่มีมาอย่างหลากหลายชาติพันธุ์ และจากอารยธรรมที่มีจุดหมายและเริ่มต้นมาจากดินแดนที่ไกลออกไป
ชื่อเสียงเรียงนามที่ดินแดนแห่งนี้ได้รับการจดจำมีอยู่มากมายหลากหลายชื่อ แต่ที่คุ้นเคยและมีรากฐาน นับถอยหลังกลับไปได้ไกลถึงกว่า 7,000 ปี ก็คงต้องเริ่มจาก “ลังกาหรือลงกา” ที่ปรากฏอยู่และเกี่ยวเนื่องอยู่ในมหากาพย์รามายะนะ ของอินเดีย
หากพิจารณาโดยรากศัพท์จากที่มาของคำว่า Lanka ซึ่งเชื่อว่าเป็นคำศัพท์จากกลุ่มภาษา Austro-Asiatic แล้ว ลังกา หมายถึงภูมิประเทศทั่วไปที่เป็นเกาะ ซึ่งดูเหมือนว่าคำว่า Lanka นี้ จะไม่ได้มีใช้เฉพาะในศรีลังกาเท่านั้น หากแต่ชนพื้นถิ่นในหมู่เกาะใหญ่น้อยในมหาสมุทรอินเดียและบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับอิทธิพลทางภาษามาใช้แป็นสร้อยคำเรียกขานดินแดนของพวกเขาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
แต่สำหรับนักเดินทางสำรวจจากแดนไกล ดินแดนแห่งนี้ได้รับการเรียกขานด้วยชื่ออื่นๆ โดยนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกระบุถึงดินแดนแห่งนี้ด้วยคำว่า Taprobane หรือ Taprobana เพื่อระบุถึงอาณาจักร Tambapanni หรือ Thambapanni ซึ่งเป็นราชอาณาจักรแรกๆ ที่ได้สถาปนาอำนาจการปกครองขึ้นในศรีลังกาในช่วง 543 ก่อนคริสตกาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งร่วมสมัยพุทธกาลก็ว่าได้
การดำรงอยู่ของอาณาจักร Tambapanni หรือ Thambapanni แห่งนี้ ได้รับการจารึกเป็นหลักฐานปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในศิลาจารึกของอโศกมหาราช ซึ่งระบุว่า พุทธศาสนาได้จำเริญอยู่ในดินแดนแห่งนี้ด้วย
มรดกทางวัฒนธรรมจากชื่อ Taprobana ของชาวกรีกยังมีนัยแฝงไปสู่การอ้างอิงถึงเทพปกรณัมของฮินดู (Tribhuvana) ซึ่งดูจะสอดรับกับแนวความคิดแบบเทพปกรณัมของชาวกรีกที่แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพมากมายอย่างน่าสนใจ
สะท้อนผ่านผลงานทั้งในบทกวีและวรรณกรรมในยุคต่อมาเมื่อ Luis de Camoes มหากวีแห่งศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสระบุถึงดินแดนแห่งนี้ใน Os Lusiadas (going beyond Taprobana) และส่งผ่านแรงบันดาลใจข้ามศตวรรษไปสู่งานชิ้นเอกอุ Paradise Lost ของ John Milton ในศตวรรษที่ 17 หรือแม้แต่ Miguel de Cervantes ก็ได้ระบุถึงดินแดนที่น่าประทับใจในนาม Taprobana นี้ไว้ในผลงานชิ้นเยี่ยม Don Quixote ของเขาด้วย
ขณะที่ชาวอาหรับที่เดินทางตามเส้นทางสายไหม (sea silk route) มาเยือนดินแดนแห่งนี้ เรียกดินแดนในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ว่า Serendib ซึ่งปรากฏเป็นคำศัพท์ (serendip) ทั้งในภาษาเปอร์เซียและอูรดู (Persian and Urdu) และเป็นรากศัพท์ต้นทางของคำว่า serendipity ที่หมายถึงการค้นพบความงดงามและสิ่งมีค่าโดยบังเอิญอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ที่สื่อแสดงและสะท้อนทัศนะของนักเดินทางจากโลกอาหรับที่แวะพักบนดินแดนแห่งนี้ แม้จะมีจุดหมายปลายทางอยู่แสนไกลอีกซีกโลกหนึ่งได้เป็นอย่างดี
ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งของศรีลังกาในห้วงยามนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดภาพความประทับใจและการเล็งเห็นถึงโอกาสในการค้าของผู้ผ่านทางแล้ว ความเป็นไปของศรีลังกายังได้รับการบันทึกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในเทพนิยายเปอร์เซียภายใต้ชื่อ The Three Princes of Serendip ที่ปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ 1,001 ราตรี (The Book of One Thousand and One Nights) ด้วย
เรื่องราวของ serendib ในมิติที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีภูมิประเทศเป็นเกาะแต่ศรีลังกาไม่ได้ถูกจำกัดให้ขาดการติดต่อจากโลกภายนอก หากในความเป็นจริงนี่คือดินแดนที่เต็มไปด้วยอาคันตุกะจากต่างแดนที่มาเยี่ยมเยือนด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ มากมาย
นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า Serandivis ขณะที่นักเดินเรือจากยุโรปส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากภาษาละติน Selan และ Sielan ก่อนที่จะแผลงไปเป็น Ceilao ในภาษาโปรตุเกส เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงดินแดนแห่งนี้ในช่วงปี 1505
ขณะที่นักเดินทางจากยุโรปชาติอื่นๆ เรียกขานดินแดนนี้ด้วยสำเนียงและเสียงที่แตกต่างกันออกไปเป็น Ceilan (สเปน) Selon (ฝรั่งเศส) Zeilan (ดัตช์) รวมถึง Seylon และ Ceylon ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นชื่อเรียกดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษแห่งนี้เรื่อยมา
ไม่เฉพาะนักเดินทางจากซีกโลกตะวันตกเท่านั้น ที่ได้มาแวะเวียนผ่านทางเข้าออกศรีลังกาเพื่อดำเนินกิจกรรมการค้าบนเส้นทางสายไหมที่รู่งเรืองนี้ หากแต่นักเดินทางจากตะวันออกไกล โดยเฉพาะจากจีนก็เดินทางมาเยือนถิ่นดินแดนแห่งนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่นๆ
ชาวจีนเรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่า Pa-Outchow หรือเกาะแห่งอัญมณี ซึ่งต่อมาทำให้ดินแดนแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงประหนึ่งไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Pearl of the Indian Ocean) และเป็นส่วนหนึ่งภายใต้พื้นที่ยุทธศาสตร์ของจีนว่าด้วย String of Pearl ในปัจจุบันอีกด้วย
แม้ศรีลังกาจะมีชื่อเรียกขานผ่านมามากมายหลายชื่อทั้งอย่างเป็นทางการ หรือแบบที่จำกัดอยู่เฉพาะชนบางกลุ่ม แต่ร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีตที่ทั้งชาวกรีกจากซีกโลกตะวันตกและชาวจีนจากฝั่งฟากตะวันออกได้สะท้อนผ่านการเรียกขานดินแดนแห่งนี้เหมือนกัน ภายใต้ชื่อ เกาะแห่งการบ่มเพาะ (Island of Teaching) จากผลที่มีผู้คนมากมายเดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ เป็นประจักษ์พยานที่บ่งบอกความเป็นไปแห่งยุคสมัยที่ศาสนาพุทธจำเริญเฟื่องฟูอยู่ในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ชื่อเรียกขานนามแห่งเมืองของศรีลังกา ที่อุดมไปด้วยความหมายหลากหลายมิติและดำเนินผ่านกาลเวลาเช่นนี้ ย่อมสะท้อนความเป็นไปของดินแดนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยปรากฏการณ์ที่สลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย
หวังเพียงแต่ว่าผู้ที่จะนำพาศรีลังกานับจากนี้ จะสามารถนำคุณค่าความหมายจากนามเรียกขานเหล่านี้ ฝ่าข้ามมายาคติที่เป็นปัจจัยและต้นทางของปมเงื่อนความขัดแย้งไปได้ด้วยดีนะคะ