วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงมักถูกทำร้ายจิตใจระหว่างคลอดในโรงพยาบาล

ผู้หญิงมักถูกทำร้ายจิตใจระหว่างคลอดในโรงพยาบาล

Column: Women in Wonderland

 

เดือนที่แล้วเขียนถึงสิทธิของนักโทษหญิงระหว่างตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรไปแล้ว ครั้งนี้จะเขียนถึงปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่เป็นปัญหาของผู้หญิงทั่วไป ที่เมื่อไปคลอด ลูกที่โรงพยาบาลกลับได้รับการปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ที่แย่มาก หรือในกรณีที่แย่กว่านั้น ถูกทำร้ายจิตใจในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นเวลาแห่งความยินดีและความทรงจำที่ดี

เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ที่มีผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลกได้รับการปฏิบัติที่แย่มาก หรือถูกทำร้ายจิตใจในขณะที่คลอดลูก และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นในทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานว่า มีผู้หญิงจำนวนมากกลัวที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ การทำร้ายร่างกายและจิตใจระหว่างที่คลอดลูกในโรงพยาบาล มีหญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เกี่ยวกับประสบการณ์อันเลวร้ายนี้

เธอเล่าว่า เมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนแรกและจำเป็นต้องผ่าคลอด เธอตื่นขึ้นมาบนเตียงผ่าตัด และรู้สึกเจ็บมากเพราะหมอและพยาบาลกำลังกรีดมีดลงบนท้องของเธอ ตอนแรกสติของเธอยังไม่ค่อยสมบูรณ์ดีนัก เธอคิดว่าตายไปแล้วและกำลังถูกทรมาน แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เธอเริ่มมีสติมากขึ้นและรับรู้ว่าเธออยู่ในห้องผ่าตัด และรู้สึกเจ็บ เธอคิดว่าหมอและพยาบาลให้ยาชาไม่เพียงพอทำให้ยังรู้สึกเจ็บ ถึงแม้ว่าตั้งแต่ช่วงเอวลงมาจะถูกฉีดยาทำให้ไม่สามารถขยับได้ก็ตาม ที่สำคัญเธอไม่สามารถบอกหมอหรือพยาบาลได้ว่า เจ็บมากเพราะยาชาไม่เพียงพอหรือยายังไม่ออกฤทธิ์แบบเต็มที่ เพราะในปากมีท่อสอดอยู่ ระหว่างที่พวกเขากำลังผ่าคลอดให้เธอ หมอและพยาบาลก็ได้พูดเป็นภาษาเยอรมันว่า ตอนนี้เธอสามารถได้รับยาทั้งหมดสำหรับการผ่าตัดได้ แต่เธอฟังที่หมอและพยาบาลพูดออก เพราะเคยอาศัยอยู่ที่เยอรมนีมาก่อน แน่นอนหลังจากได้ยินเธอก็หมดสติ

เธอตื่นขึ้นมาอีกทีในห้องพักฟื้น พยายามที่จะพูดกับพยาบาลคนที่เธอจำได้ว่าอยู่ในห้องผ่าตัดเป็นภาษาเยอรมัน เพื่อซักถามสิ่งที่เธอได้ยินในห้องผ่าตัด แต่พยาบาลทำเป็นไม่เข้าใจ พยาบาลเพียงแค่ตบมือเธอเบาๆ และเรียกสามีของเธอเข้ามาในห้องพักฟื้นพร้อมกับลูกของเธอ ไม่มีใครพูดหรืออธิบายให้เธอฟังเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ได้ยินมาในห้องผ่าตัด ทุกคนทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเมื่อเธอพยายามถามเรื่องนี้ ทุกคนก็ทำเป็นไม่สนใจและปล่อยผ่านไป เหมือนกับว่าเธอควรจะลืมเรื่องที่เกิดขึ้น และสนใจ เพียงแค่ดูแลลูกและร่างกายเธอให้กลับมาแข็งแรงตามเดิม

สาเหตุที่เธอตัดสินใจเล่าประสบการณ์การคลอดลูกให้หนังสือพิมพ์ The Guardian ฟังก็เพราะเชื่อว่า เธอไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวที่ต้องพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ เธอเชื่อว่าผู้หญิงแทบทุกคนน่าจะพบเจอประสบการณ์คลอดลูกที่เลวร้ายเหมือนเธอและถูกบอกให้เงียบไว้ เพราะควรดีใจที่ลูกออกมาปลอดภัย และพวกเธอก็ปลอดภัยจากการคลอด ไม่ควรสนใจว่าพวกเธอทุกข์ทรมาน หรือเจ็บปวดขนาดไหน หรือถูกทำร้ายจิตใจอย่างไร ในห้องรอคลอด ห้องคลอด หรือห้องผ่าตัดก็ตาม ซึ่งการได้รับการปฏิบัติที่แย่หรือถูกทำร้าย
จิตใจระหว่างคลอดอาจส่งผลให้ผู้เป็นมารดามีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือเกิดความกลัวและวิตกกังวลได้ เพราะพวกเธอไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้กับใครได้เลย

นอกจากเรื่องราวของหญิงคนนี้ยังมีเรื่องราวของผู้หญิงอีกหลายคนที่มีประสบการณ์เลวร้าย รวมไปถึงโรงพยาบาลในลอนดอนด้วย อย่างกรณีหญิงคนหนึ่งที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลลอนดอน เธอเป็นคนผิวขาวและเป็นคนอังกฤษ แต่ก็ยังได้รับการปฏิบัติและดูแลที่แย่มาก เธอถูกพยาบาลที่ดูแลตะคอกใส่เมื่อลูกของเธอร้องตอนตีสอง และเธอไม่มีน้ำนมเพียงพอให้ลูกกิน พยาบาลตะโกนใส่เธอและว่า ทำไมเธอถึงไม่สามารถให้นมลูกของเธอได้ ถ้าเธอไม่มีนมให้ลูกของเธอกิน ก็หาอะไรใส่ขวดนม แล้วเอาขวดนมยัดใส่
ปากลูก เพื่อให้ลูกของเธอเงียบ เพราะพยาบาลคนนี้ถูกปลุกขึ้นมาจากการนอนด้วยเสียงร้องของเด็ก

จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่า แม้กระทั่งคนขาวและคนอังกฤษโดยกำเนิดยังได้รับการปฏิบัติที่แย่มากจากการคลอดในโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ และถ้าเป็นคนผิวดำ คนเอเชียที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ หรือคนกลุ่มน้อย ก็น่าจะได้รับการปฏิบัติที่แย่กว่านี้

นอกจากนี้ งานวิจัยในสหราชอาณาจักรหลายชิ้นยังพบว่า ผู้หญิงที่ไม่สามารถพูดและสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ไม่สามารถนำคนที่เป็นล่ามไปอยู่และคอยแปลให้พวกเธอฟังได้ระหว่างคลอด รวมถึงโรงพยาบาลเองก็ไม่มีการจัดหาล่ามให้ ดังนั้น คนเหล่านี้จะต้องคลอดตามลำพัง โดยที่ไม่สามารถสื่อสารกับพยาบาลได้เลย ซึ่งการสื่อสารที่เป็นปัญหาอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้หญิงที่มาคลอดได้ เพราะไม่สามารถบอกให้พยาบาลเข้าใจได้ว่าเธอมีอาการอย่างไร หรือเจ็บตรงไหน นี่อาจจะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ในกรณีที่
ร้ายแรงที่สุด

ประสบการณ์เลวร้ายของผู้หญิงระหว่างคลอดลูก ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่เกิดขึ้นที่รัสเซียและยูเครนเช่นกัน ในรัสเซียและยูเครนมีแฮชแท็กว่า “ฉันไม่กลัวที่จะพูดออกมา” (#IAmNotAfraidToSpeak) และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เมื่อผู้หญิงรัสเซียและยูเครนจำนวนมากบอกเล่าประสบการณ์ที่ถูกใช้ความรุนแรงระหว่างคลอดลูก

หลังจากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ศูนย์ Doulas ที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ให้เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพ เรียนรู้วิธีการพูดและดูแลผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจ ศูนย์ Doulas จึงได้ริเริ่มแฮชแท็ก “ความรุนแรงในสูตินรี” (#violence_in_obstetrics) ในโลกโซเชียลมีเดีย และได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนรัสเซีย เพียงแค่เริ่มโครงการประมาณ 2 เดือน ศูนย์ Doulas ก็ได้รับเรื่องราวประสบการณ์เลวร้ายของหญิงที่คลอดลูกในโรงพยาบาลรัสเซีย
มากกว่า 70 เรื่องต่อวัน

ยกตัวอย่างเช่น นิตยสาร Index On Censorship ได้เปิดเผยเรื่องราวประสบการณ์เลวร้ายในการคลอดลูกในโรงพยาบาลในรัสเซีย โดย Zlata Ivanova ว่า เธอต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดเป็นเวลานานเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยว่าอุ้งเชิงกรานของเธอมีปัญหาอะไรที่ทำให้เธอตกเลือด แต่เมื่อเธอไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ที่เข้าเวรกลับบอกว่าเธอมาถึงโรงพยาบาลเร็วเกินไป และไม่มีใครสนใจเธอเลย เธอต้องทนเจ็บปวดและคลานสี่ขาขึ้นไปอีกสองชั้นเพื่อไปยังห้องตรวจ เพื่อตรวจว่าลูกของเธอที่อยู่ในครรภ์ยังแข็ง
แรงและปกติดีหรือไม่

หลังจากได้รับการตรวจว่าเด็กในครรภ์ยังแข็งแรงดี พยาบาลให้เธอนอนบนผ้ายาง 16 ชั่วโมง อยู่ในห้องเดียวกันกับผู้หญิงอีก 7 คน ที่ร้องและดิ้นด้วยความเจ็บปวด ขณะที่พยาบาลก็ตะโกนใส่พวกเธอให้เงียบ จากนั้นไม่นาน พยาบาลและหมอไม่บอกอะไรเธอเลย รวมทั้งไม่ขออนุญาตหรือขอความยินยอมจากเธอ พยาบาลฉีดยาเร่งคลอด และหมอก็พยายามเร่งให้น้ำเดินเพื่อให้เธอคลอดเร็วขึ้น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หลังจากคลอดแล้วหมอให้แพทย์ฝึกหัด 3 คน เป็นคนเย็บแผลที่ช่องคลอดให้เธอโดยที่ไม่ได้ฉีดยาชา

Zlata Ivanova ให้ความเห็นเพิ่มว่า ประสบการณ์เลวร้ายนี้เกิดขึ้นที่รัสเซีย แต่เธอเชื่อว่าในโลกนี้ ผู้หญิงคนไหนก็ตามที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน จะต้องผ่านประสบการณ์เช่นเธอแน่นอน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ที่เป็นผู้ชาย Zlata Ivanova เล่าว่าเพื่อนของเธอหลายคนมีประสบการณ์จากการฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ที่เป็นผู้ชาย ยกตัวอย่างเช่น หมอเหล่านี้พร้อมที่จะเอานิ้วสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด โดยไม่ขออนุญาตหรือขอคำยินยอมก่อน เพื่อดูว่าทารกในครรภ์ปกติหรือไม่ พวกหมอจะตะโกนและดุ
ว่าคนไข้ เมื่อลูกของพวกเธอร้อง หรือเมื่อเธอบ่นเจ็บท้องจนทนไม่ไหว

เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงในหลายประเทศมีประสบการณ์เลวร้ายระหว่างที่คลอดบุตร ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพราะการคลอดลูกไม่ใช่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้บ่อย และหลายคนก็เชื่อว่า มันเป็นความเจ็บปวดที่สวยงาม ที่จะได้เห็นหน้าและชื่นชมลูก ดังนั้น ทั้งหมอและพยาบาลควรเรียนรู้ที่จะทำงานแบบมืออาชีพ รับฟัง มีความอดทน และไม่ตะโกนใส่คนไข้

โดยเฉพาะในปี 2019 ที่เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก ยาที่ใช้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดก็มีมากขึ้น ดังนั้น ถ้าหมอและพยาบาลทำงานอย่างมืออาชีพ พยายามเข้าใจและให้กำลังใจแทนการตะโกน ก็ถือเป็นการสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีให้กับผู้หญิงที่มาคลอดลูกแล้ว เพราะนี่จะกลายเป็นหนึ่งความทรงจำอันมีค่าครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเธอ
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/birth-1441966

ใส่ความเห็น