Column: Women in Wonderland
องค์กร Prison Policy Initiative ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร มุ่งเน้นที่จะผลิตผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ และต้องการรณรงค์โครงการต่างๆ เพื่อให้สังคมดีขึ้น เปิดเผยจำนวนนักโทษของทุกประเทศในปี 2017–2018 Annual Report พบว่า ประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังสูงที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงประมาณ 698 คน จะถูกคุมขังต่อประชากรทุกๆ 100,000 คน ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงประมาณ 133 คนจะถูกคุมขังต่อประชากรทุกๆ 100,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้ในภาพรวมจำนวนผู้ถูกคุมขังในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง แต่จำนวนผู้ต้องขังหญิงกลับยังสูงอยู่มาก
องค์กร Prison Policy Initiative ยังอธิบายเพิ่มเติมเรื่องผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐฯ ว่า มีประชากรหญิงอาศัยอยู่ในประเทศเพียงแค่ 4% เท่านั้นเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรจากทั้งโลก แต่สหรัฐฯ กลับมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงถึง 30% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องขังหญิงในสหรัฐฯ มีจำนวนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย 2 รัฐที่มีผู้ต้องขังหญิงสูงสุดคือรัฐ Oklahoma และ Wyoming มี 281 คน และ 250 คน ตามลำดับ ต่อประชากร 100,000 คน และมี 26 รัฐ ที่จำนวนผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 133 คนของสหรัฐฯ
สาเหตุหนึ่งที่รัฐ Oklahoma มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงสูงที่สุดเพราะรัฐนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่ติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด ทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งมาจากการตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะสามี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อทำร้ายร่างกายภรรยาและลูก พ่อจะได้รับโทษถูกคุมประพฤติ ขณะที่ภรรยาถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 30 ปี เพราะไม่สามารถปกป้องลูกจากการถูกทำร้ายร่างกายทำให้กระดูกหักบางส่วน นี่เป็นปัญหาหนึ่งในรัฐนี้ที่กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และทำให้ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น World’s Prison Capital
สหรัฐฯ มีกฎระเบียบเรื่องการออกนอกเรือนจำของผู้ต้องขังว่า เมื่อผู้ต้องขังจำเป็นต้องเดินทางออกนอกเรือนจำ จะต้องถูกใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนที่ข้อเท้าทุกครั้งตลอดเวลาที่อยู่นอกเรือนจำ ซึ่งกฎระเบียบนี้ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้หญิงที่ใกล้คลอดหรืออยู่ในช่วงพักฟื้นหลังคลอด ต่อมาในปี ค.ศ.2009 องค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อผู้ต้องขังและนักวิชาการหลายคนได้ร่วมกดดันรัฐนิวยอร์กให้ผ่านกฎหมายยกเลิกการใส่กุญแจข้อมือและโซ่ตรวนข้อเท้าระหว่างที่ผู้ต้องขังหญิงกำลังจะคลอดและในช่วงพักฟื้นหลังคลอด โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ต้องผ่าตัดคลอด และที่เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นต่อที่เรือนจำ ซึ่งกฎหมายนี้ในเวลาต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในอีกหลายรัฐ
ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 เป็นต้นมา จะมีกฎหมายระบุห้ามใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนข้อเท้าในระหว่างการคลอดและพักฟื้นหลังคลอด แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีผู้ต้องขังหญิงหลายคนที่ถูกใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนระหว่างคลอดลูกและอยู่ในช่วงพักฟื้น
ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด มีหญิงวัย 27 ปีคนหนึ่ง ต้องการปกปิดชื่อจริงในคดีความเพื่อป้องกันไม่ให้ผลกระทบมาถึงลูกของเธอ ศาลให้เธอใช้นามสมมุติว่า Jane Doe ซึ่งถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2018 ข้อหาเป็นผู้กระทำผิดอาญาในคดีลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษเบา อย่างเช่นในประเทศไทย คดีลหุโทษคือคดีที่ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีนี้ Jan Doe ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพราะสามีเก่าของเธอแจ้งความเกี่ยวกับปัญหาในครอบครัว ซึ่งขณะที่เธอถูกตำรวจจับกุมนั้น เธอกำลังตั้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์และมีกำหนดคลอดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์
ต่อมาเมื่อตำรวจจับ Jane Doe เข้าไปในห้องขังได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง เธอเริ่มมีอาการเจ็บท้องจะคลอด ตำรวจนิวยอร์กจึงส่งเธอไปคลอดที่ Montefiore Medical Center ระหว่างที่กำลังส่งตัวเธอไปที่โรงพยาบาล ตำรวจใส่กุญแจมือเธอและเมื่อไปถึงโรงพยาบาลตำรวจตรึงมือของเธอไว้กับขอบเตียง ในขณะเดียวกันก็ใส่โซ่ตรวนข้อเท้าด้วย
หมอที่เข้ามาดูแลทำคลอดให้ Jane Doe บอกตำรวจให้เอากุญแจมือโซ่ตรวนข้อเท้าออก เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐนิวยอร์กผ่านกฎหมายในปี ค.ศ.2015 ระบุว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายหากเจ้าหน้าที่ใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนข้อเท้าผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์อยู่ในสัปดาห์ที่ 32 เป็นต้นไป และยังเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กที่จะเกิดมาอีกด้วย เพราะการที่มือและเท้าถูกตรึงไว้ ทำให้ขยับเปลี่ยนท่าทางได้เพียงเล็กน้อยในระหว่างที่กำลังคลอด และทำให้หมอและพยาบาลมีพื้นที่จำกัดในการทำคลอด นี่ยังไม่รวมความหวาดกลัวและวิตกกังวลของคนไข้ ซึ่งคงเหมือนฝันร้ายเมื่อเธอนึกถึงการคลอดลูกในอนาคต
ในกรณีนี้ตำรวจไม่ยินยอมที่จะเอากุญแจข้อมือและโซ่ตรวนออก โดยตำรวจให้เหตุผลว่าพวกเขาปฏิบัติตามกฎระเบียบในคู่มือของตำรวจลาดตระเวนของตำรวจนิวยอร์ก (NYPD Patrol Guide) ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามีอำนาจเหนือกฎหมายของรัฐ ซึ่งในกฎระเบียบนี้ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะต้องใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนที่ข้อเท้าสำหรับผู้ที่ถูกจับกุมและต้องการดูแลรักษาจากหมอหรือต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะถอดกุญแจมือและโซ่ตรวนออกได้หากหมอที่ทำการรักษาต้องการให้ถอด และเมื่อหัวหน้าอนุญาตให้ถอดออกได้ ดังนั้น ตำรวจที่พาเธอไปคลอดที่โรงพยาบาลจึงตัดสินใจที่จะไม่ถอดกุญแจมือและโซ่ตรวนออกให้
10 นาทีก่อนที่ Jane Doe จะคลอดลูก ตำรวจตัดสินใจถอดโซ่ตรวนออกและใส่กุญแจมือเธอเพียงข้างเดียว โดยตรึงข้อมือเธอไว้กับหัวเตียง หลังจากที่เธอคลอดลูกได้ไม่นานตำรวจก็นำโซ่ตรวนมาใส่ที่ข้อเท้าของเธออีก ทำให้เธอไม่สามารถให้นมลูกได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว
เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในสหรัฐฯ เพราะในรัฐนิวยอร์กกฎหมายห้ามใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนนั้นมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 แล้ว และในปี ค.ศ.2015 ก็มีกฎหมายห้ามใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนให้กับผู้หญิงตั้งครรภ์และคนที่อยู่ในช่วงพักฟื้น และกฎหมายนี้ก็บังคับใช้ใน 26 รัฐ รวมถึงรัฐนิวยอร์กด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อพบว่า แม้กฎหมายจะระบุข้อห้ามต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์กลับไม่ปฎิบัติตามข้อกฎหมายเหล่านี้ Correctional Association of New York ได้เปิดเผยว่า ในปี ค.ศ.2015 หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้แล้ว ยังมีผู้หญิงถึง 23 คน จาก 27 คน รายงานเข้ามาว่า พวกเธอถูกใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนในระหว่างที่กำลังคลอดลูก
หลังจากที่ Jane Doe ต้องถูกใส่กุญแจมือระหว่างคลอดลูก เธอตัดสินใจฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใส่กุญแจมือ Jane Doe ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการสอบสวนว่า ความผิดที่เธอทำนั้นเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย แต่กลับได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนผู้ร้ายในคดีร้ายแรง ถ้าเธอซึ่งทำผิดเล็กน้อยยังได้รับการปฏิบัติขนาดนี้แล้วผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำจะได้รับการปฏิบัติที่แย่กว่าเธอขนาดไหน
นอกจากนี้ นี่ยังเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนทางสังคมและการเมือง และถือเป็นความล้มเหลวของตำรวจนิวยอร์กในการปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีของผู้หญิงในช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิต การใส่กุญแจมือในระหว่างคลอดลูกถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายและไม่มีมนุษยธรรม เป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้นในนิวยอร์กในปี 2018
Jane Doe หวังว่ากรณีของเธอจะเป็นกรณีสุดท้าย และไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนที่ต้องมีประสบการณ์เลวร้ายแบบเธออีก สำหรับเรื่องนี้ตำรวจนิวยอร์กยังไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพียงแต่ระบุว่า จะมีการพิจารณาข้อร้องเรียนในเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก ก็ยังไม่ได้ออกมาพูดถึงกรณีนี้ มีเพียงการชี้แจงสั้นๆ ว่า ต้องรอศาลพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้และตัดสินออกมาในทิศทางใด
นอกจากนี้ Federal Bureau of Prisons และ United States Marshals Service ได้เสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้กุญแจมือกับผู้ต้องขังหญิงที่ถูกคุมขังและดูแลภายใต้รัฐบาลกลาง ซึ่งสภาคองเกรสเองก็เห็นด้วยและผ่านกฎหมาย First Step Act ภายใต้ประธานาธิบดี Donald Trump เพื่อห้ามการใช้การกุญแจมือกับผู้ต้องขังที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ในเรือนจำกลาง
การใส่กุญแจมือและโซ่ตรวนระหว่างคลอดเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้านทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ และนักวิชาการด้านทัณฑวิทยา อย่างเช่น American Public Health Association, American College of Obstetricians and Gynecologists, American Correctional Association และ American Medical Association เป็นต้น ที่พยายามร่วมมือกันต่อต้าน เพื่อปกป้องประสบการณ์เลวร้ายของผู้ต้องขังหญิงและเพื่อให้การทำงานของหมอและพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องของ Jane Doe คงต้องติดตามต่อไปว่าศาลจะตัดสินคดีนี้อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่คดีแรกที่เกิดขึ้นหลังจากมีกฎหมายออกมา และขณะที่รัฐนิวยอร์กมีกฎหมายห้ามใช้กุญแจมือในระหว่างการคลอดแต่กลับมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญประสบการณ์เลวร้าย แล้วในรัฐอื่นๆ อีก 24 รัฐ ที่ไม่มีกฎหมายนี้จะเลวร้ายมากกว่านี้
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/noah-5-1486929