วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
Home > Cover Story > งดค่าวีซ่า-กระตุ้นเมืองรอง ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยวไทย?

งดค่าวีซ่า-กระตุ้นเมืองรอง ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยวไทย?

ความพยายามของกลไกภาครัฐที่จะกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผูกพันหนักหน่วงอยู่กับภาคอุตสาหกรรมการส่งออกและธุรกิจการท่องเที่ยวดูเหมือนจะเข้าสู่เส้นทางที่ตีบตันลงมากขึ้น ทั้งจากผลของสภาพเศรษฐกิจระดับโลก ที่กำลังเผชิญกับการคุกคามจากสงครามการค้ารอบใหม่ ที่นำไปสู่การกีดกันทางการค้า และภาวะชะลอตัวอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งนับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เคยเป็นปัจจัยหนุนนำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญของผู้ประกอบการ ซึ่งแม้ในห้วงปัจจุบันจะนับเป็นฤดูการท่องเที่ยวแล้ว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวและยอดจองห้องพักในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าไม่มีการจองการท่องเที่ยวจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากเหมือนเช่นที่ผ่านมาในอดีต ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ซึ่งเคยพลุกพล่านและหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน ตกอยู่ในภาวะซบเซา และสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเชียงใหม่อย่างมาก

สถานการณ์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ด้วยการประเมินจากยอดการจองทัวร์ การใช้บริการรถบัสโดยสาร ปริมาณการจองห้องพัก นับตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง หรือหายไปในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนปริมาณการจองทัวร์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนเพื่อเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ก็ดำเนินไปอย่างเบาบาง

ก่อนหน้านี้เชียงใหม่นับเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอีกแห่งของนักท่องเที่ยวจีน โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้าสู่เชียงใหม่มากถึง 2 ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติของผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม กิจการขนส่ง และการให้บริการทัวร์ แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่เชื่อมั่นในปัจจุบัน ดูเหมือนลมหายใจทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเหล่านี้กำลังดำเนินไปโดยความรวยริน

ภาวะลดน้อยถอยลงของนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ประเทศไทย เป็นกรณีที่มีผลสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดเหตุเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยอย่างหนักหน่วง ในขณะที่คำชี้แจงจากภาครัฐจนถึงขณะปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนทั้งในมิติของสาเหตุและในกรณีของผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์สลดในครั้งนั้น

ส่วนเงินชดเชยที่รัฐจัดสรรให้กับเหยื่อผู้ประสบภัยก็เป็นเพียงมาตรการเยียวยาที่ไม่สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นในเรื่องสวัสดิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับผู้ประกอบการ ตัวแทน และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้เลย

ยังไม่รวมภาพลักษณ์ด้านลบที่มีผลต่อการท่องเที่ยวไทยโดยตรง ทั้งกรณีการทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวโดยเจ้าหน้าที่ของไทยที่ท่าอากาศยาน หรือการฉวยโอกาสเอาเปรียบนักท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการ และข่าวเชิงลบอื่นๆ ที่แพร่สะพัดออกไปยังสื่อนานาชาติอย่างกว้างขวาง ที่ทำให้ความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยตกต่ำไปโดยปริยาย

ภายใต้กลไกรัฐที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่เป็นระยะ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมานโยบายว่าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่งด้วยหวังว่า ความเป็นไปของเมืองรองเหล่านี้จะช่วยหนุนเสริมให้ระบบเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นพัฒนาและฟื้นตัวขึ้น

ขณะเดียวกันนโยบายส่งเสริมเมืองรองยังดำเนินไปท่ามกลางความเชื่อและคาดหวังว่าอาจเป็นส่วนเติมเต็มให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเป็นเหตุให้รัฐบาล คสช. เห็นชอบที่จะกำหนดให้บุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

นอกจากนี้ยังมีเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาและการเดินทางท่องเที่ยวและที่พัก เพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรองทั้ง 55 จังหวัดอีกด้วย

กระบวนการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองนอกจากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานในการจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐแล้ว ยังดำเนินไปท่ามกลางความร่วมมือของ 4 รัฐวิสาหกิจ ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัทการบินไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อสนองยุทธศาสตร์และเป้าหมายของรัฐในการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเมืองรองในทิศทางเดียวกัน

โดย ททท. ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรอง ส่วนการบินไทยจะจัดสายการบินร่วมกับสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ และ ทอท. ซึ่งรวมถึงการจัดทำทัวร์แพ็กเกจท่องเที่ยวในราคาที่น่าสนใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ธนาคารกรุงไทยจะสนับสนุนเรื่องสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ความพยายามของกลไกรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านการท่องเที่ยวยังดำเนินต่อไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรัฐบาล คสช. มีมติยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) นักท่องเที่ยว 21 ประเทศ ด้วยหวังว่ากรณีเช่นนี้จะช่วยให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่

สาระสำคัญร่างกฎกระทรวงปี 2561 ที่ปรับแก้กฎกระทรวงเดิม ฉบับที่ 30 ปี 2559 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง ปี 2522 อยู่ที่การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยว ในเวลาไม่เกิน 15 วัน ซึ่งยื่นขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa On Arrival (VoA)

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา VoA ที่ได้รับการยกเว้นนี้ เดิมจัดเก็บในอัตรา 2,000 บาทต่อราย โดยการงดเว้นค่าธรรมเนียมนี้เป็นไปสำหรับนักท่องเที่ยว 21 ประเทศ ได้แก่ อันดอร์รา, บัลแกเรีย, ภูฏาน, จีน, ไซปรัส, เอธิโอเปีย, ฟิจิ, อินเดีย, คาซัคสถาน, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, มัลดีฟส์, มอลตา, มอริเชียส, ปาปัวนิวกินี, โรมาเนีย, ซานมารีโน, ซาอุดีอาระเบีย, ยูเครน, อุซเบกิสสถาน และไต้หวัน

ประเด็นสำคัญของกรณีดังกล่าวอยู่ที่ความคาดหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะใช้สิทธิ์นี้มีมากเพียงใด เพราะถึงที่สุดแล้วจำนวนเงินค่าธรรมเนียมที่งดเว้นการจัดเก็บนี้ก็ไม่แตกต่างจากการอัดฉีดเงินลงทุนในระดับที่อาจมีมูลค่านับพันล้านบาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะได้รับอานิสงส์กลับมาในมูลค่าที่มากกว่า

ความเป็นไปของมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นวิถีความคิดของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะดำเนินมาตรการในระยะสั้น และต่อยอดมาตรการดังกล่าวออกไปไม่ว่ามาตรการดังกล่าวจะได้รับการประเมินผลในเชิงบวกหรือลบในอนาคตก็ตาม และยังเป็นกรณีที่ล่อแหลมต่อคำครหาว่าเป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์มิชอบของหน่วยราชการที่มีบทบาทรับผิดชอบ โดยขาดมาตรการและการวางแผนพัฒนาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย 21 ประเทศที่ได้รับการยกเว้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวอิสระในลักษณะ free and independent traveler (FIT) หากแต่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยผ่านตัวแทนการท่องเที่ยว ที่ต้องดำเนินการและอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องที่พัก การเดินทางและวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยอยู่ก่อนแล้ว โดยที่นักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางมาไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากการงดเว้นค่าธรรมเนียมนี้เลย เพราะถูกผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนท่องเที่ยวบวกรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายเดินทางไปแล้ว

การงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจึงไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำนวนนักท่องเที่ยวในมิตินี้มากนัก หากแต่จะยิ่งทำให้สภาพของการบริหารจัดการการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแต่ละแห่ง ซึ่งเคยอยู่ในภาวะแออัดคับคั่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวหนักขึ้นไปอีก

มาตรการเพื่อกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด และธุรกิจท่องเที่ยวไทย ซึ่งเคยเป็นดาวเด่นในการนำพาเศรษฐกิจให้กลไกภาครัฐได้ใช้เอ่ยอ้างความสำเร็จมาในอดีต จะมีวิถีที่ยั่งยืนและสดใสไปในอนาคตอย่างไร เวลาแห่งการพิสูจน์ทราบกำลังคืบใกล้เข้ามาให้ได้ประจักษ์ถึงทางรอดที่คาดหวังไว้

ใส่ความเห็น