วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > ศรีลังกา: ชัยชนะของประชาชน?

ศรีลังกา: ชัยชนะของประชาชน?

 
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากำลังส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจในหลายประเทศได้ตระหนักว่าการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในห้วงเวลานับจากนี้ ไม่สามารถกระทำได้โดยผลของการเจรจาต่อรองอย่างลับๆ ในหมู่ชนชั้นนำ โดยปราศจากความเห็นชอบของประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว
 
เพราะในความเป็นจริงพลังของประชาชนต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดและเลือกหนทางเดินเพื่อความเป็นไปของประเทศชาติและพวกเขาเอง
 
ก่อนหน้าที่ศรีลังกาจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ อดีตประธานาธิบดี Mahinda Rajapaksa ซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2004 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2005 และถือเป็นผู้นำทางการเมืองที่ครองตำแหน่งและบทบาทอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งในเอเชียใต้ในปัจจุบัน จะมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถครองชัยชนะ และสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งเป็นวาระที่ 3 ได้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้อย่างง่ายดาย
 
ความมั่นใจของ Mahinda Rajapaksa ที่ประกอบส่วนด้วยผลงานการยุติสงครามกลางเมืองกับกลุ่มทมิฬ จากผลของการปราบปรามรุนแรง และการดำรงอำนาจที่ต่อเนื่องยาวนาน สอดคล้องกับการประเมินของสื่อและนักวิเคราะห์การเมืองจากหลายสำนักที่ว่า หากไม่ใช่ Mahinda Rajapaksa แล้ว ศรีลังกามีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกลายเป็นคำถามที่ท้าทายมากในสังคมศรีลังกาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
 
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ความนิยมในตัว Mahinda Rajapaksa อาจจะลดลงแต่ในฐานะผู้คุมกลไกอำนาจ Mahinda Rajapaksa คงไม่ยอมพ่ายแพ้การเลือกตั้งก่อนกำหนดที่เขาคาดหวังจะใช้เป็นโอกาสในการต่ออายุและหลีกหนีจากข้อจำกัดของการครองอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 2 วาระเท่านั้น และการเลือกตั้งครั้งนี้คงเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำรองรับความชอบธรรมให้ Mahinda Rajapaksa อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็น
 
แต่การณ์กลับกลายเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันแหลมคมและใกล้เคียงอย่างที่สุด เพราะพลันที่ Mahinda Rajapaksa ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2014 ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 8 มกราคม 2015 เขาก็ต้องพบกับความท้าทายเมื่อ Maithripala Sirisena รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการพรรค Sri Lanka Freedom Party ประกาศแยกตัวออกจากการนำของ Mahinda Rajapaksa และลงสมัครเป็นคู่แข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย
 
การประกาศแยกตัวและเดินออกจากร่มเงาทางอำนาจของ Maithripala Sirisena ได้รับการประเมินในชั้นต้นว่าคงเป็นได้เพียงสีสันที่ทำให้การเลือกตั้งดูมีความเป็นธรรมมากขึ้น หากแต่ในความเป็นจริงปรากฏการณ์ดังกล่าวสั่นคลอนฐานอำนาจของ Mahinda Rajapaksa อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นใต้น้ำที่กัดเซาะความมั่นคงของ Mahinda Rajapaksa ไปโดยปริยาย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ในฐานะผู้ควบคุมกลไกอำนาจรัฐ แผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของ Mahinda Rajapaksa ปรากฏควบคู่ไปพร้อมกับป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐที่ปรากฏภาพของ Mahinda Rajapaksa อยู่แทบทุกหนแห่งและหัวมุมถนนทุกย่านทั้งในโคลัมโบและพื้นที่ของประเทศก็ว่าได้
 
ในขณะที่ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามแทบจะไม่มีปรากฏหรือมีอยู่อย่างจำกัดอย่างยิ่ง จนผู้สังเกตการณ์และผู้เดินทางมาเยือนศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมาต่างประหลาดใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองอื่นสมัครเข้าแข่งขันด้วยหรือไม่
 
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือเดิมพันของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอนาคตของ Mahinda Rajapaksa ในตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลประโยชน์จากความสัมพันธ์กับมหาอำนาจจากทั้งจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย ที่ต่างประเมินศรีลังกาในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตด้วย รวมถึงสหรัฐอเมริกาและประเทศจากโลกตะวันตกที่เฝ้ามองความเป็นไปของศรีลังกาด้วยความสนใจ
 
ผู้สังเกตการณ์และนักวิเคราะห์การเมืองจำนวนไม่น้อยประเมินว่า Mahinda Rajapaksa ซึ่งกำลังถูกโจมตีด้วยประเด็นการคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบหลากหลายประการ น่าจะเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและครองอำนาจต่อไป แต่ผลการเลือกตั้งคงเป็นไปอย่างใกล้เคียงและสูสีที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างช้าๆ ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของศรีลังกา
 
เพราะหาก Mahinda Rajapaksa พ่ายแพ้การเลือกตั้งโอกาสที่ศรีลังกาจะเผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหม่ย่อมมีสูงมาก จากผลของการไม่ยอมสละอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมที่กำลังเผชิญกับการตรวจสอบและข้อกล่าวหามากมาย โดยเฉพาะความพยายามสืบทอดอำนาจในกลุ่มตระกูลพวกพ้อง
 
แต่ดูเหมือนว่าประชาชนและกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของศรีลังกาจะมีความก้าวหน้าทางการเมืองสูงกว่าที่ผู้คนภายนอกประเมิน เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่า Maithripala Sirisena สามารถครองชัยชนะในสัดส่วนร้อยละ 51.28 เหนือคะแนนเสียงร้อยละ 47.58 ที่ Mahinda Rajapaksa ได้รับ ซึ่งนอกจากผลการเลือกตั้งดังกล่าวจะสร้างความประหลาดใจอย่างกว้างขวางให้กับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองในศรีลังกาแล้ว
 
กระบวนการส่งผ่านอำนาจหลังจากผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ กลับเป็นประเด็นที่สะท้อนความก้าวหน้าทางการเมืองของศรีลังกาที่น่าสนใจยิ่ง แม้ว่าจะปรากฏกระแสข่าวว่า Mahinda Rajapaksa และพวกพยายามขัดขวางการนับคะแนนและยึดอำนาจกลับคืน หลังรู้ผลว่ากำลังจะพ่ายแพ้ แต่ผู้นำเหล่าทัพปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 
 
สถานการณ์ที่ประหนึ่งยืนอยู่บนขอบเหวแห่งวิกฤตภายหลังการเลือกตั้งในศรีลังกาจึงผ่านพ้นไปได้ด้วยความสงบ และ Maithripala Sirisena สามารถได้รับการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างรวดเร็วในวันรุ่งขึ้นทันที (9 มกราคม) ซึ่งถือเป็นการผ่องถ่ายอำนาจที่รวดเร็วและเรียบร้อยที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียใต้เลยทีเดียว
 
เนื่องเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มตระกูลทางการเมืองไม่กี่ครอบครัว เบียดแทรกด้วยการกระทำรัฐประหารโดยกลุ่มขุนศึกขุนนางทหารนิยม และความรุนแรงจากการลอบสังหารผู้นำฝ่ายตรงข้าม เป็นวัฏจักรที่ปรากฏอยู่ให้เห็นไม่ต่างจากหลายประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตย
 
ประเด็นหาเสียงของ Maithripala Sirisena ที่ถือว่ามีความแหลมคมประเด็นหนึ่งอยู่ที่การระบุว่าสังคมศรีลังกาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มครอบครัวทางการเมืองครอบครัวเดียว และกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นรัฐเผด็จการที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและการละเมิดกฎหมายอย่างกว้างขวาง
 
รวมถึงการประกาศคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อและปฏิปักษ์ทางการเมืองที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องจากการบริหารของ Mahinda Rajapaksa ทั้ง Sarath Fonseka อดีตผู้บัญชาการกองทัพศรีลังกาและ Shirani Bandaranayake อดีตประธานศาลยุติธรรม ซึ่งถูกถอดถอนในสมัยของ Mahinda Rajapaksa ด้วย
 
ชัยชนะของ Maithripala Sirisena จึงเป็นประหนึ่งการแสดงออกของประชาชนที่จะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำและอิทธิพลของกลุ่มตระกูลการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ขณะเดียวกันความมุ่งหมายที่จะสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยทมิฬและมุสลิมในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางด้วย
 
นักการเมืองในวัย 63 ปีนาม Maithripala Sirisena ผู้นี้ (เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน1951) สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จาก Maxim Gorky Literature Institute ในรัสเซีย ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ หากแต่ดำเนินชีวิตผ่านสมรภูมิการเมืองมาอย่างโชกโชนทั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภาศรีลังกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (23 พฤศจิกายน 2005-23 เมษายน 2010) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (23 เมษายน 2010-21 พฤศจิกายน 2014) รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ซึ่งทำให้เขาตกเป็นเป้าจากการลอบสังหารโดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้
 
สิ่งที่น่าสนใจจับตามองในจังหวะก้าวของ Maithripala Sirisena อยู่ที่การเน้นย้ำถึงการสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ให้กับศรีลังกา โดยระบุว่าเขาเข้ามาเพื่อการเปลี่ยนผ่านศรีลังกาไปสู่หนทางที่ก้าวหน้า ภายใต้คำประกาศและแผน 100 วัน ซึ่งรวมถึงการประกาศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2015
 
พร้อมกับการระบุว่าการสมัครเป็นประธานาธิบดีครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของเขา โดยจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนี้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น พร้อมกับเร่งระดมเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายในสภาเพื่อสร้างรัฐบาลปรองดองแห่งชาติในช่วงที่ศรีลังกาต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเช่นนี้
 
คำประกาศของ Maithripala Sirisena ดังกล่าวนี้ จะถือเป็นคำมั่นสัญญาที่จะส่งให้นักการเมืองรายนี้ก้าวเดินสู่หนทางของการเป็นรัฐบุรุษ ที่จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์ศรีลังกาสมัยใหม่ หรือเป็นเพียงวาทกรรมของนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป 
 
บางทีโจทย์ใหญ่อาจไม่ใช่การต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเดิม หากแต่เป็นการนำนโยบายที่เป็นความหวังของประชาชนไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ มากกว่าที่จะเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตและความสำเร็จ-ล้มเหลวของ Maithripala Sirisena บนตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ 
 
เพราะเมื่อประชาชนเลือกให้เขามาได้ ก็ย่อมดำรงสิทธิที่จะเลือกให้เขาไปได้ และนี่คือเสน่ห์ของประชาธิปไตยที่หลายประเทศยังต้องเรียนรู้