วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > New&Trend > สกว.-มจธ.โชว์ฐานข้อมูลวิศวกรรมโบราณสถาน หวังไทยเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

สกว.-มจธ.โชว์ฐานข้อมูลวิศวกรรมโบราณสถาน หวังไทยเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

สกว.จับมือ มจธ. จัดกิจกรรมสื่อสัญจรโชว์การจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานให้ใกล้เคียงของเดิม และคำนวณได้อย่างแม่นยำ พร้อมจัดทำต้นแบบฐานข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ด้านรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมหวังสร้างองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำภูมิภาคในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “การจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน” ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัย ‘การพัฒนาฐานข้อมูลทางวิศวกรรมเพื่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของไทย’ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงแถลงถึงความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัย ตลอดจนการใช้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ต่อไปว่ามูลค่าของมรดกวัฒนธรรม ไม่มีระบบการจัดเก็บที่คนสามารถเข้าไปสืบค้นและนำมากล่าวอ้างทางวิชาการได้ สกว. นอกจากช่วยเก็บฐานข้อมูลวิศวกรรมของประเทศแล้วจะช่วยให้กรมศิลปากรและคนทั่วไปสามารถเข้าไปดูข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้โบราณสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และจะขยายผลได้อีกต่อไป

“แม้ว่าปัจจุบันบิ๊กดาต้าจะมีข้อมูลโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั่วไปที่สามารถเข้าไปดูได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ช่วยในการบูรณะอย่างถูกต้อง เรามองไปไกลกว่านั้นว่าจะมีบทบาทในกลุ่มภูมิอินโดจีนซึ่งมีลักษณะโครงสร้างใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงอยากให้ไทยมีบทบาทนำและใช้ศักยภาพของประเทศในการสร้างเกียรติภูมิ ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้เรามีบทบาทในการเป็นผู้นำหรือจุดศูนย์กลางของภูมิภาคได้นอกจากการมีฐานข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้แล้วยังต้องมีคนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาร่วมทำงานกับกรมศิลปากร เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่าเรามีองค์ความรู้และบุคลากรที่ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เพราะการสำรวจ รังวัด ปักหมุดอาจไม่ทันต่อความเจริญของบ้านเมือง จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมในการกำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการประกาศเขตเมืองเก่าและเข้าไปควบคุมดูแลหรืออนุรักษ์ นอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชนได้ ดังนั้นกรมศิลปากรจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นและพยายายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่างานวิจัยนี้เป็นการเปิดมิติใหม่ของการวิจัยและงานด้านโบราณสถานที่ถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามาศึกษาในหลายมิติ และเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้นำเทคโนโลยีจากงานวิจัยเข้ามาศึกษางานที่มีมานานหลายร้อยปี นอกจากนี้ยังได้ชิ้นงานซึ่งเป็นนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น การสแกนสามมิติ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในมุมมองต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะการสนับสนุนของรัฐบาลในการเปลี่ยนความรู้ไปเป็นสิ่งที่มีมูลค่า เพราะโบราณสถานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ทำเงินและรายได้ให้กับประเทศ นับเป็นการใช้ความรู้ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเรียนการสอนในด้านนี้ และเราต้องคิดต่อว่าจะใช้ประโยชน์จากงานนี้อย่างไรให้คุ้มค่าด้วย

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. ที่กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของงานวิจัยนี้เกิดจากการหารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และคณะวิจัยที่มองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานที่อาจถูกละเลย จึงได้มีการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้คงความเป็นชาติต่อไป โดยหวังให้เติมเต็มการทำงานด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละโครงการวิจัยย่อย และเกิดการบูรณะโบราณสถานโดยไม่กระจุกตัวเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่ม แต่ยังสามารถจุดประกายให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายจากการรวบรวมบิ๊กดาต้าของคณะวิจัย

รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม สกว. จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลจากวิจัยในชุดโครงการนี้ทำให้ได้ข้อมูล ณ สภาพปัจจุบันของโครงสร้างโบราณสถานที่ศึกษา รวมถึงแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในงานบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร แต่ปัญหาสำคัญคือ เรายังขาดการบันทึกข้อมูลที่ดี รวมถึงขนาดขององค์กรที่จะเข้ามาดูแล จึงอยากเสนอให้กรมศิลปากรมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีบุคลากรจำนวนหนึ่งซึ่งพร้อมจะมาเรียนรู้เทคนิคและเทคโนโลยีจากคณะวิจัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก

ด้าน รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถานมีความจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์ ประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวอย่างฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านวิศวกรรมของโบราณสถานของไทย ซึ่งจะครอบคลุมถึงข้อมูลทางพิกัดและมิติต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์โครงสร้าง ข้อมูลคุณสมบัติทางกลและความทนทานของวัสดุ รวมถึงศึกษาแนวทางการประเมินและติดตามสภาพโบราณสถาน ตลอดจนเทคนิคการทดสอบแบบไม่ทำลาย โดยงานวิจัยนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่

1) การใช้เทคโนโลยีสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ สำรวจและเก็บข้อมูลพิกัด รวมถึงมิติต่างๆ ของโบราณสถาน ผ่านกรณีศึกษาโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นรูปภาพหรือแบบจำลองของวัตถุเสมือนจริง ที่บ่งบอกถึงขนาดและรูปทรงของวัตถุได้อย่างแม่นยำเมื่อสแกนโบราณสถานเดียวกันอีกครั้งในอนาคต และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับผลการสแกนก่อนหน้า จะทำให้สามารถทราบถึงสภาพหรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้

2) การศึกษาคุณสมบัติของวัสดุก่อและวัสดุเชื่อมประสานโบราณ (ปูนก่อ หรือปูนสอ และอิฐ) จากการเก็บตัวอย่างจริงและทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และประเมินเสถียรภาพโครงสร้าง รวมถึงช่วยเลือกวัสดุซ่อมแซมที่มีสภาพใกล้เคียงกับวัสดุโบราณได้ ฐานข้องมูลคุณสมบัติของวัสดุโบราณนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในทางวิทยาศาสตร์ และผู้สนใจการอนุรักษ์โบราณสถานต่อไป

3) การศึกษาคุณสมบัติวัสดุก่อสมัยใหม่และความเหมาะสมในการนำไปใช้กับงานซ่อมแซมโบราณสถาน โดยใช้ฐานข้อมูลของคุณสมบัติวัสดุโบราณเป็นแนวทางในการพัฒนาวัสดุก่อใหม่ เพื่อให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ใกล้เคียงกับวัสดุที่พบในโบราณสถาน ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ปูนซีเมนต์ในส่วนผสม และใช้วัสดุที่ดั้งเดิมให้มากที่สุด ได้แก่ ปูนหมัก เพื่อให้มีความเข้ากันได้และสอดคล้องกับวัสดุโบราณดั้งเดิม ที่สำคัญต้องไม่เป็นวัสดุที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของวัสดุดั้งเดิม นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุประเภทวัสดุปอซโซลาน เช่น เถ้าแกลบ หรือเถ้าลอย เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติปูนก่อสำหรับงานซ่อมแซม

4) การศึกษาแนวทางการหาทดสอบคุณสมบัติวัสดุโบราณในสภาพหน้างานจริง โดยการตรวจสภาพแบบไม่ทำลาย วิธีต่างๆ ซึ่งการอ่านค่าจากวิธีการทดสอบแบบต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับเทียบค่าที่เหมาะสม ผ่านการทดสอบทั้งจากหน้างานจริงร่วมกับผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุม เพื่อให้ทราบว่าวิธีใดที่เหมาะสมกับการไปใช้งานจริงและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

5) การจัดทำต้นแบบฐานข้อมูลดิจิทัลทางวิศวกรรม ได้แก่ การพัฒนากระบวนการในการแปลงข้อมูลจากการสแกนวัตถุ 3 มิติที่มีขนาดข้อมูลที่ใหญ่มาก ให้สามารถดูได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลตัวอย่าง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาในรูปแบบที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าโครงการ

 

ใส่ความเห็น