วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Life > เดินเท้าเปล่าดีตรงไหน

เดินเท้าเปล่าดีตรงไหน

Column: Well – Being

มนุษย์เดินเหยียบย่างบนพื้นผิวโลกมาหลายล้านปีแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ เรากลับมารณรงค์ให้หันกลับมาเดินเท้าเปล่ากันอีก จริงๆ แล้วผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า เมื่อเราเดินด้วยเท้าเปล่าโดยปราศจากการสวมรองเท้า การเคลื่อนไหวของเราจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คือมีความกลมกลืนหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมักหมายถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ และที่น่าประหลาดคือ สามารถปกป้องเท้าและร่างกายโดยรวมได้ดีขึ้นด้วย

นิตยสาร Top Health & Beauty แนะนำให้จินตนาการว่า เท้าของคุณทำหน้าที่เสมือนฐานรากของบ้าน สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ฐานรากนั้นวางตัวอย่างถูกต้อง แล้วจะส่งผลให้โครงสร้างของร่างกายโดยรวมทรงตัวอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง !

โทนี ริดเดิล ผู้เชี่ยวชาญการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า “ปกติแล้วเท้าของมนุษย์บริเวณส่วนของนิ้วเท้าจะกว้างกว่าและเรียวแคบเข้าตรงบริเวณส้นเท้า แต่มีรองเท้าสมัยใหม่มากมายที่ออกแบบตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง นั่นหมายความว่า เท้าของคุณต้องถูกยัดเข้าไปในรองเท้าที่เปลี่ยนรูปร่างของเท้า หรือผู้สวมใส่ต้องสวมรองเท้าส้นหนาที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของปลายประสาทสัมผัส ส่งผลให้เกิดการเดินที่เป็นธรรมชาติน้อยลงและสามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายตามมา เช่น เจ็บเอ็นร้อยหวาย กล้ามเนื้อสะโพกหย่อนยาน และแกนกลางลำตัวอ่อนแอ”

แต่อย่าวิตกกังวลถึงขั้นถอดรองเท้าส้นสูงทิ้งกลางร้านอาหาร หรือเดินเท้าเปล่าในซูเปอร์มาร์เก็ต สิ่งที่แนะนำคือ ให้คุณหันมาเดินเท้าเปล่าขณะอยู่ในบ้านและบริเวณรอบบ้านหรือในสวนให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆ คือให้เวลากับการเดินเท้าเปล่ามากขึ้น หรือหันมาใส่ “รองเท้าเท้าเปล่า” เช่น Vibram Fivefingers V-Soul เพื่อทำกิจกรรมในกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เท้าของคุณโล่งปลอดจากการบีบรัดของรองเท้า

เดินเท้าเปล่าเป็นอย่างไร
“ในเชิงจิตวิทยา มันให้ความรู้สึกที่ไม่น่าเชื่อกับการมีประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับพื้นใต้เท้าของคุณโดยตรง” แอนนา ทูมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิตเนส กล่าว “ลองถามใครดูก็ได้ว่า พวกเขาทำอะไรเมื่อไปถึงหาดทราย พวกเขาแทบจะรอไม่ได้กับการรีบถอดรองเท้าออก และสัมผัสกับพื้นทรายที่แทรกตัวอยู่ระหว่างนิ้วเท้าของพวกเขา เป็นความรู้สึกถึงเนื้อสัมผัสและอุณหภูมิที่แตกต่าง ลักษณะเดียวกับการได้เดินไปตามพื้นที่ในชนบท ย่อมดีกว่าการเดินท่อมๆ ในเมืองในวันอันหม่นมัวที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยคอนกรีต การได้รู้สึกถึงโคลน หญ้า และกรวดทรายใต้เท้านั้น น่าสนุกกว่าการเหยียบย่างลงบนพื้นรองเท้าที่มีเพียงมิติเดียว”

ข้อดีเชิงชีวเคมี
แอนนายืนยันว่า “ฉันเดินเท้าเปล่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” เธอยังเพิ่มเติมว่า “เรียกได้ว่าเมื่ออยู่ในบ้านหรือในสวนรอบบ้าน ฉันเดินเท้าเปล่าเกือบตลอดเวลา ฉันรู้ดีว่า การเดินเท้าเปล่าในทุกสถานการณ์นั้นไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานทางสังคม แต่การทำให้ได้มากที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่ดี”

“เพราะเท้าของคุณมีความอ่อนไหวอย่างไม่น่าเชื่อ และประกอบด้วยเส้นประสาทชั้นต่างๆ ที่เรียงตัวกันอย่างซับซ้อน เพื่อส่งผ่านสัญญาณต่างๆ กลับไปสู่สมองของคุณ แต่เมื่อสวมรองเท้า มันทำให้การส่งสัญญาณดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพลงไป ถ้าคุณเริ่มใช้ชีวิตด้วยการเดินเท้าเปล่า คุณจะสังเกตได้ว่า การทรงตัวดีขึ้น และความรู้สึกจากกล้ามเนื้อและข้อก็ดีขึ้นด้วย”

เยียวยาจากส้นเท้าของคุณ
การเดินเท้าเปล่าทำให้คุณเชื่อมโยงกับโลกได้โดยตรง และองค์ประกอบของการได้สัมผัสพื้นโลก สามารถส่งผลต่อการเยียวยาร่างกายของคุณด้วย มีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้แบบผสมและนักโยคะต่างตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงดังกล่าวนี้มาหลายพันปี “เพียงแค่ถอดรองเท้าและเหยียบพื้นเท่านั้น คุณก็สามารถเริ่มต้นการเชื่อมโยงและการเชื่อมต่อของเซลล์สมองในสมองของคุณที่ถูกปิดกั้นมาตั้งแต่คุณเริ่มสวมรองเท้าเมื่อครั้งเริ่มหัดเดินได้อีกครั้ง” โทนี ริดเดิล อธิบาย

เท้าของคุณทำงานอย่างไร
เท้าของคุณมีเซลล์รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก (exteroceptors) ถึง 200,000 เซลล์ ที่ฝังตัวอยู่บริเวณส้นเท้า เพื่อช่วยให้คุณสัมผัสกับโลกรอบตัวคุณได้ “เท้าของคุณมีความสามารถในการห่อตัว หนีบ จับ และปรับเปลี่ยนจากสภาวะยืดหยุ่นและนุ่มนิ่มไปสู่สภาวะตึงและแข็งแกร่งได้ภายในเสี้ยววินาที” โทนีอธิบายเพิ่มเติม

“ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศที่ได้รับจากเซลล์รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกในเท้าของคุณ ถูกนำมาใช้เพื่อปรับข้อต่อ แกนกลาง กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอื่นๆ รวมทั้งเปลี่ยนท่าของคุณเพื่อปกป้องคุณจากการบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน สมองของคุณก็จะสั่งการให้มีการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อย เพื่อให้คุณบังคับเท้าให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป ซึ่งไม่เพียงเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บให้เหลือน้อยที่สุด แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวให้อยู่ในระดับสูงสุดด้วย

ทราบหรือไม่
เท้าแต่ละข้างประกอบด้วย กระดูก 26 ชิ้น ข้อต่อ 33 ข้อ กล้ามเนื้อ 100 มัด

ใส่ความเห็น