Column: Well – Being
บางครั้งใบเตยถูกขนานนามว่า “วานิลลาแห่งโลกตะวันออก” เพราะกลิ่นอันหอมหวานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน และอยู่คู่ครัวของอินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา และไทย มานานหลายร้อยปีแล้ว
นิตยสาร GoodHealth รายงานความคืบหน้าว่า เมื่อไม่นานมานี้ใบเตยได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไนเจลลา ลอว์สัน ถึงกับตั้งฉายาให้ใบเตยว่าเป็น “มัทชะรูปแบบใหม่” ตอนนี้มัทชะซึ่งเป็นชาเขียวที่แทบจะไม่เคยมีใครรู้จัก ได้กลายเป็นส่วนประกอบยอดนิยมที่พบในเค้ก ชา สมูทตี้ และไอศกรีมในทั่วโลก
ได้ไฟเขียว
ดูเหมือนว่าใบเตยเริ่มเดินตามรอยเท้าของมัทชะมาติดๆ แล้ว
เตยมีประมาณ 750 สายพันธุ์ มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายต้นปาล์ม โดยใบที่แตกช่อออกมาเป็นรูปคล้ายพัดนั้น มีลักษณะยาว แคบเป็นรูปใบมีด
เตยพบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เช่น อินเดีย เมียนมา เวียดนาม และไทย แต่บางสายพันธุ์ก็พบได้ในเขตนอร์ทเทิร์นเทอร์ริทอรีของออสเตรเลีย เตยเป็นแหล่งอาหารและยาที่สำคัญของชนพื้นเมืองออสเตรเลียมานานหลายชั่วคน
เตยยังถูกนำมาวิจัยและเป็นที่ยอมรับในทั่วโลกถึงศักยภาพทางยาและสรรพคุณในการเยียวยาของมัน ต้นเตยและใบเตยมีสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครอบคลุม
ที่อินเดียมีการนำใบเตยมาแช่ในน้ำมันมะพร้าว และนำน้ำมันนั้นมาถูตามร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า แพทย์วิถีธรรมชาติใช้วิธีเคี้ยวใบเตยเป็นทางเลือกแทนการไปหาหมอฟัน และช่วยรักษาให้ช่องปากมีสุขภาพดี รวมทั้งการนำใบเตยสดมาแช่ในน้ำเย็นสำหรับอาบ เพื่อรักษาอาการแดดเผาจนผิวไหม้เกรียมได้
นักวิจัยมหาวิทยาลัยมาเลเซียยังยกย่องเตย ว่ามีศักยภาพในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ต่อสู้กับโรคต่างๆ เพราะในใบเตยมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยชะลอการพัฒนาของโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ นักวิจัยยังพบว่า ผงใบเตยที่ผ่านการอบแห้งด้วยวิธี freeze – dried มีระดับของสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าใบเตยสด
ความหวังของผู้ป่วยเบาหวาน
ใบเตยยังอาจเป็นความหวังของประชากรทั่วโลกกว่า 400 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน นักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ใบเตยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์แผนโบราณเพื่อควบคุมอาการโรคเบาหวาน
การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดื่มชาใบเตย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งดื่มน้ำอุ่นธรรมดา เพื่อทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส ปรากฏว่ามีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน ผลคือกลุ่มดื่มชาใบเตยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะสารธรรมชาติในใบเตยที่เรียกว่า quercetin “ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นรากฐานของการค้นพบยาตัวใหม่เพื่อการรักษาโรคเบาหวานได้”
ใบเตยยังทำให้เชฟและนักการอาหารทั่วโลกกระตือรือร้นเต็มที่
บาร์ล้ำสมัยทั้งในนิวยอร์ก ปารีส และลอนดอน กำลังสนุกกับการนำเสนอค็อกเทลกลิ่นใบเตย เช่น Electric Crusta หรือ Asian Persuation
ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
การที่ใบเตยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นเพราะสารประกอบในใบที่เรียกว่า 2-Acetyl-1pyrroline เมื่ออยู่บนต้น ตัวใบจะไม่มีกลิ่นหอม แต่ทันทีที่เด็ดออกมาและขยี้เบาๆ มันจะส่งกลิ่นหอมเหมือนวานิลลาที่ทุกคนแสวงหา และนำมาใช้ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและน้ำหอม
ในการปรุงอาหารแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเติมใบเตยลงในแกง ข้าว แยม และขนมหวานต่างๆ ที่อินเดียเติมใบเตยลงในข้าวเพื่อทำให้เกิดข้าวหอมที่เหมือนข้าวบาสมาติ เพราะปกติแล้วข้าวบาสมาติมีราคาแพงกว่า การใส่ใบเตยลงในข้าวคุณภาพมาตรฐาน จึงทำให้ได้กลิ่นหอมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
ประเทศเอเชียอื่นๆ ชอบเค้กเนื้อเบานุ่มที่ใส่ใบเตย เค้กใบเตยสีเขียวสดใสจึงอยู่ในเมนูอาหารที่คุ้นเคยของร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆ
ที่ออสเตรเลียสามารถซื้อใบเตยสด แห้ง หรือแช่แข็งได้ในร้านขายของชำของชาวเอเชีย แต่ใบเตยแช่แข็งจะทำให้กลิ่นหอมลดลง จึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้น
วิธีการง่ายๆ ในการที่คุณจะกลายเป็นน้ำหอมปรับอากาศตามธรรมชาติได้ก็คือ ให้นำใบเตยมาขมวดเป็นปมแล้วนำไปวางไว้ตามซอกตู้เสื้อผ้า หรือแขวนไว้ในห้อง คุณก็จะสดชื่นกับกลิ่นหอมหวานของใบเตยได้ทั้งวัน