วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ไทยเร่งผุดนิคมฯ กระตุ้นลงทุน หลัง FDI ทั่วโลกหดตัว

ไทยเร่งผุดนิคมฯ กระตุ้นลงทุน หลัง FDI ทั่วโลกหดตัว

สถานการณ์การแข่งขันช่วงชิงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาหล่อเลี้ยงและกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า ภายใต้นโยบายของรัฐไทย ดูจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากจะเผชิญกับทางแพร่งว่าด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงาน ในขณะเดียวกันยังมีแรงเสียดทานจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นแล้ว

ข้อเท็จจริงในอีกด้านหนึ่งยังปรากฏว่าปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยในช่วงปีที่ผ่านมา FDI ทั่วโลกปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 16 จากระดับ 1.81 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 1.52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 ที่ผ่านมา

ในรายงาน “Global Investment Trend Monitor” ที่นำเสนอโดยที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD (The United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในระดับโลกยังดำเนินไปภายใต้การฟื้นตัวอย่างยากลำบาก ท่ามกลางผลลัพธ์ที่นำมาซึ่งความแปลกใจ เมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ รายงานของ UNCTAD ยังระบุด้วยว่า แม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนา จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการลงทุนเมื่อปีก่อนหน้า หากแต่ความน่ากังวลอยู่ที่การลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางหรือในปริมาณที่ตั้งเป้าประสงค์ต้องการ

ขณะเดียวกันปริมาณเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว กลับปรับตัวลดลงมาถึงร้อยละ 27 โดยในส่วนนี้เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่สหรัฐอเมริกาลดลงมากถึงร้อยละ 32 หรือลดลงกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนที่เคยมีจากปีก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 3.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังการตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ BREXIT ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่สหราชอาณาจักรลดลงมากถึงกว่าร้อยละ 90 มาอยู่ที่ระดับ 1.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

แม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินไปอย่างถดถอย แต่เอเชียกลับกลายเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศในจีน ที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8 และทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่จีนในปีที่ผ่านมา มีปริมาณเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปริมาณเงินลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาในฐานะที่เป็นตลาดแห่งโอกาสในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย, ละตินอเมริกา และแคริบเบียน เพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด และทำให้ในภาพรวมการลงทุนในประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ระดับ 6.53 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียกลับมาครองตำแหน่งภูมิภาคที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก ตามด้วยสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือ ขณะที่การลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาอยู่ในภาวะทรงตัว

นักวิชาการของ UNCTAD ระบุว่ากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกที่ลดลงนั้น สวนทางกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจระดับมหภาค อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการเติบโตทางการค้า ซึ่งมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2560 อย่างไรก็ดี แนวโน้มของการเติบโตที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในปี 2561 นั้นมีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก

ความเสี่ยงในมุมมองของนักวิชาการจาก UNCTAD ในด้านหนึ่งสอดรับกับเสียงเตือนจากศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ UNCTAD ที่กล่าวในการสัมมนา ความท้าทายบนเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า เมื่อไม่นานมานี้ว่า ประเด็นที่ต้องติดตามอยู่ที่ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตรอบใหม่ เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเงินสกุลดิจิทัล และฟองสบู่ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยในปัจจุบันทั้งเงินสกุลดิจิทัล หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ราคาปรับขึ้นสูงมาก

ขณะเดียวกัน ยังมีกระบวนการผลิตแบบใหม่ที่พร้อมจะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยในตลาดโลก หากปรับขึ้นเร็วเกินไปจะกระทบกับคนที่มีหนี้มากจนเกิดปัญหาได้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการอยู่ที่มีความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในโลกที่เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในกรณีของจีนที่พัฒนาระบบเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยเป็นประเทศที่กลุ่มประชากรมีช่องห่างของความแตกต่างในฐานะแคบๆ กลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงมาก รวมถึงภาวะสังคมผู้สูงอายุที่จะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พร้อมจะนำไปสู่วิกฤตครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนศูนย์รวมอำนาจจากอเมริกาและยุโรป มายังเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องติดตามเช่นเดียวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมให้จับตาการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากยุโรป ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2562 เมื่อถึงเวลานั้น จะเห็นผลชัดเจนว่า จะกระทบรุนแรงเพียงใด

ความเป็นไปของรายงานจาก UNCTAD รวมถึงข้อสังเกตจากผู้สันทัดกรณี ดังกล่าวนี้ออกมาในช่วงเวลาที่รัฐไทยพยายามกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเร่งดำเนินนโยบายที่พร้อมจะเอื้ออำนวยและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาเติมเต็มกลไกทางเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการเปิดพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

โดยการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พิจารณาเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มอีก 18 แห่งเพื่อรองรับการลงทุนที่คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 1.25 ล้านล้านบาทในอนาคต

ความน่าสนใจในการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ล่าสุดในด้านหนึ่งอยู่ที่ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมขนาด 3,000 ไร่ในโครงการความร่วมมือ ไทย-จีน เพื่อเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่พร้อมจะรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีน และรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของธุรกิจจีนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว คาดว่าจะลงนามความร่วมมือกันได้ ในช่วงที่หวาง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน จะเดินทางมาเยือนไทย พร้อมนำคณะเอกชนจีนและฮ่องกงจำนวน 700-800 รายจากผู้ประกอบการ 300 บริษัท เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) ระดับรองนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ แทนกำหนดเดิมที่เคยวางไว้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2561

ความมุ่งหมายที่จะตอบสนองต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนจากจีน ในด้านหนึ่งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า แม้เงินลงทุนจากต่างประเทศจะหลั่งไหลเข้าสู่จีนอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา แต่บรรษัทข้ามชาติจำนวนไม่น้อยก็ลดทอนหรือปรับโครงสร้างการลงทุนในจีนด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณานับจากนี้ในอีกมิติหนึ่งอยู่ที่การก้าวสู่ยุคสมัยแห่งดิจิทัล ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีลักษณะที่ลดขนาดลงในมิติของสินทรัพย์ และทำให้ปริมาณเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามามีขนาดเล็กลง ด้วยเหตุที่ว่าผู้ประกอบการในภาคการผลิตประกันความเสี่ยงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระบวนการผลิตและเครื่องจักรด้วยการเช่าใช้อุปกรณ์มากกว่าที่จะจัดซื้อมาเป็นสินทรัพย์ ซึ่งนั่นเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และอาจไม่สะท้อนข้อเท็จจริงที่กำลังดำเนินไป

ความเป็นไปแห่งความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยความหวังว่าการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน จะนำมาซึ่งอุตสาหกรรมที่มีระดับของเทคโนโลยีชั้นสูง จนสามารถเทียบชั้นการลงทุนจากญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งจึงดูจะเป็นความคาดหวังที่หอมหวาน แต่จะบังเกิดภาพแห่งความจริงนั้นหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับทั้งขีดความสามารถในการผลิตของนักลงทุนจีน และยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยว่าจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างไรด้วย

ใส่ความเห็น