“เครือข่ายจิตอาสา” รวมพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน “รัฐ-เอกชน-การศึกษา-ประชาสังคม” ร่วม 100 องค์กรจัด “งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3” วันที่ 9-10 มกราคมนี้ ณ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอาสาสมัครในมิติต่างๆ กับผู้เข้าร่วมกว่า 600-800 คน ทั้งจากองค์กรในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ นับเป็นเวทีวิชาการงานอาสาสมัครระดับประเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมมากที่สุด ตั้งเป้าหมายยกระดับงานอาสาสมัครให้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในงานพัฒนาความยั่งยืน หรือ SDGs
จากแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อวางกรอบแนวคิดเรื่องการพัฒนาให้อยู่ในมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมายนั้น
นางสาวนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา (Volunteer Spirit Network) องค์กรตัวกลางด้านการจัดการอาสาสมัครที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยมานานกว่า 13 ปี กล่าวว่างานอาสาสมัคร (Volunteering) ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานด้านการพัฒนามายาวนานและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะประสบความสำเร็จได้นั้น องค์ประกอบสำคัญหนึ่ง คือ อาสาสมัคร ซึ่งจะเป็นพลังหนุนเสริมกิจกรรมซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสังคม ดังนั้น จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสานต่อการจัดงานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัครครั้งที่ 3 เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการงานอาสาสมัครทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นมิติที่หลากหลายของงานอาสาสมัครนำมาสู่การพัฒนาร่วมกันและยกระดับการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่วมให้งานอาสาสมัครเป็นเครื่องมือสร้างพลเมืองที่มีจิตสาธารณะที่จะมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizen)
งาน “ประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3” จะถูกจัดขึ้น 2 วันต่อเนื่องกัน (9-10 ม.ค. 2561) กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย องค์กรภาคีที่ขับเคลื่อนงานอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆทั้งในประเทศกว่า 50 แห่ง สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกว่า 30 องค์กร อาสามัครองค์กร อาสาสมัครที่เป็นประชาชนทั่วไป และองค์กรระหว่างประเทศ คาดว่ามีจำนวนผู้ข้าร่วมประมาณ 600-800 คน
เกี่ยวกับเนื้อหางานวันที่ 9 มกราคม ช่วงเช้าหลังพิธีเปิดจะมีปาฐกถาพิเศษ “ประเทศไทยและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
จากนั้นจะเข้าสู่การสัมมาเชิงวิชาการในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การปฏิบัติด้วยกระบวนการอาสาสมัคร” ช่วงบ่ายจะเป็นการนำเสนอในห้องประชุมย่อย 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ กระบวนการอาสาสมัครในฐานะเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากร มนุษย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่ังยืนด้วยกระบวนการงานอาสาสมัครในเป้าหมายด้านคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต
วันที่ 10 มกราคม ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมงานจะเข้าสู่ห้องประชุมย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการยกระดับงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 22 หัวข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนานักศึกษาด้วยกระบวนการอาสาสมัคร 2. จากอาสาสมัครสู่การพัฒนาเป็นมืออาชีพ 3. การพัฒนาศักยภาพและการเปลี่ยนแปลงตนเองที่เกิดขึ้นจากการเป็นอาสาสมัคร 4. อาสาสมัครพนักงานองค์กรเพื่อการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำการมีส่วนร่วมของบุคลากร 5. การนำเสนอผลงานวิจัย “Impact beyond Volunteering” ว่าด้วยผลกระทบจากการทำงานอาสาสมัครที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองของ อาสาสมัครและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 6. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านกระบวนการงานอาสาสมัคร 7. กระบวนการอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา 8.การจัดการเรียนการสอนด้วยการบริการสังคม
9. การใช้กระบวนการอาสาสมัครเพื่อการแก้ไขและพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชน 10.อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม 11.การผลักดันเชิงนโยบาย กฎหมาย หรือยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสภาพ แวดล้อมที่ส่งเสริมการทำงานอาสาสมัครทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ 12.การพัฒนาความร่วมมือและการทำงานแบบเป็นภาคีหุ้นส่วนที่ยั่งยืน ระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และราชการ ด้วยกระบวนการด้านการอาสาสมัคร 13.ถอดรหัสแคมเปญสร้างสรรค์สังคม 14.ทักษะชีวิต พัฒนาจิต นวัตกรรมจิตอาสา 15.บทบาทอาสาสมัครกับการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรม 16 .การยกระดับขบวนการเยาวชนอาสาสมัคร
17.เส้นทางการพัฒนาระบบสนับสนุนงานอาสาสมัครในการส่งเสริมงานอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาการพัฒนานโยบายและกลไกของมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 18.บทบาทภาคธุรกิจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยอาสาสมัครพนักงาน องค์กร 19.การบริหารจัดการอาสาสมัครในโรงพยาบาล 20.งานสื่อสารออนไลน์เพื่องานด้านอาสาสมัคร 21.รูปแบบการบริหารจัดการอาสาสมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและอยู่กับคนทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กร 22.บทบาทอาสาสมัครกับประเด็นผู้ลี้ภัย
จากนั้นจะมีเวทีเสวนาปิดในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย” โดยวิทยากรทั้งจากภาคประชาสังคม สถาบันศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ
“เราเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงให้ความสำคัญกับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการณ์ ในงานนี้จึงมีการประชุมห้องย่อยกว่า 22 หัวข้อ และทั้งหมดมาจากการออกแบบเนื้อหาของภาคีเครือข่าย เราจึงมั่นใจว่า ท่านผู้เข้าร่วมที่สนใจงานอาสาสมัครมางานนีีแล้วจะได้ความรู้ใหม่ โอกาสใหม่และภาคีเครือข่ายเพื่อนใหม่กลับไปพัฒนางานของท่าน หรือองค์กรของท่านแน่นอน” นางสาวนันทินี กล่าว
รายละเอียดติดตามและลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.volunteerspirit.org
อนึ่ง งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร ระหว่างเครือข่ายจิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ องค์การหน่วยอาสาสมัครประเทศอังกฤษ (VSO) หน่วยอาสาสมัครสหประชาชาติ (United Nation Volunteer) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิวายไอวาย (Why,I,Why) มูลนิธิเพื่อคนไทย โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศมูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) Creative Citizen สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ธนาคารจิตอาสา วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันคลังสมองของชาติ