วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > On Globalization > ความรุนแรงในประเทศซิมบับเว

ความรุนแรงในประเทศซิมบับเว

Column: Women in Wonderland

ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ หลายครั้งมักจะได้ยินว่ารัฐบาลหลายประเทศออกกฎหมายเพื่อลดปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก แน่นอนว่ากฎหมายเหล่านี้บางประเทศก็ประสบความสำเร็จในการยุติปัญหาการใช้ความรุนแรง และปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้สำเร็จ แต่ในบางประเทศกฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ช่วยให้จำนวนผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงลดลงเลย

ซิมบับเวเป็นประเทศหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ด้านเศรษฐกิจนั้นซิมบับเวเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกกว่า 2,000,000% ส่งผลให้ซิมบับเวมีอัตราคนว่างงานสูงกว่า 80% และยังมีวิกฤตด้านอาหารอีกด้วย

การที่ซิมบับเวมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาพ อัตราการติดเชื้อเอดส์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือผู้ใหญ่ 1 ใน 10 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศซิมบับเวจะติดเชื้อเอดส์ และมีชาวซิมบับเวถึงประมาณ 30,000 คนที่เสียชีวิตในแต่ละปีจากการติดเชื้อเอดส์

การติดเชื้อเอดส์มีอัตราสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้นเป็นปัญหาหนึ่งที่ซิมบับเวกำลังเผชิญ ในขณะเดียวกันอีกปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ก็คือการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ประเทศซิมบับเวมีผู้หญิงที่อายุระหว่าง 15–49 ปี มากกว่า 1 ใน 3 ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายครั้งหนึ่งในชีวิตจากสามี และมีผู้หญิงประมาณ 1 ใน 4 ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศตั้งแต่อายุ 15 ปี

ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แม้แต่เด็กเองก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากเช่นกัน มีเด็กถึงประมาณ 34% ที่ถูกบังคับให้แต่งงาน

การที่เศรษฐกิจของซิมบับเวนั้นแย่มากๆ ประชาชนอดมื้อกินมื้อ ทำให้พ่อแม่จำนวนไม่น้อยตัดสินใจบังคับลูกให้แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเอาเงิน หรือไม่ก็บังคับให้เป็นโสเภณี เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว การที่เด็กหญิงตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงทางเพศทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อเอดส์ และการที่พวกเธอต้องแต่งงานหรือถูกบังคับให้ขายตัว ไม่ได้ทำให้พวกเธอต้องติดเชื้อเอดส์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยความที่เป็นเด็กและไม่รู้จักการป้องกันการตั้งครรภ์ จึงให้กำเนิดเด็กที่ติดเชื้อเอดส์อีกด้วย การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กถือเป็นการเผยแพร่เชื้อเอดส์ให้เพิ่มมากขึ้น ที่แย่ที่สุดคือซิมบับเวไม่มีหน่วยงานพอที่จะช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่เด็กเหล่านี้

การที่ซิมบับเวต้องเผชิญปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ไม่ใช่เพียงเพราะซิมบับเวมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เพราะวัฒนธรรมของซิมบับเวเองมีส่วนทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ

คนซิมบับเวสอนกันมาอย่างยาวนานว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงมีสถานะทางสังคมต่ำกว่าผู้ชาย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่สามีสั่ง ขณะที่ผู้ชายและเด็กผู้ชายจะถูกสอนให้มีความเป็นผู้นำ และหนึ่งในการแสดงอำนาจของการเป็นผู้นำคือการใช้ความรุนแรง การถูกอบรมในลักษณะนี้ทำให้การตัดสินใจทุกอย่างในชีวิตของผู้หญิงจะขึ้นอยู่กับคนที่เป็นบิดา และเมื่อแต่งงานทุกอย่างในชีวิตก็จะขึ้นอยู่กับสามี ในชนบทบางแห่งนั้นผู้หญิงยังถูกสอนว่า ถ้าหากเมื่อไหร่ที่พวกเธอถูกสามีทำร้ายร่างกาย ให้คิดว่าพวกเธอต้องทำอะไรผิดสักอย่างหนึ่ง ทำให้สามีทำโทษเธอด้วยการใช้ความรุนแรง และถ้าหากไม่สามารถเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเหล่านี้ได้ ก็แน่นอนว่าผู้หญิงและเด็กในประเทศซิมบับเวจะยังคงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนี้ การที่ผู้หญิงต้องขึ้นอยู่กับผู้ชาย ทำให้เมื่อเธอถูกทำร้ายก็ไม่กล้าที่จะแจ้งความและขอแยกออกมาอยู่เองหรือหย่าขาดจากสามี เพราะพวกเธอไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูตัวเองและลูกได้

การที่คนซิมบับเวถูกปลูกฝังแบบนี้ ทำให้เมื่อปี 2008 มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง มีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ผู้หญิงจำนวนมากถูกลักพาตัวจากบ้านและที่ทำงาน โดนข่มขืน ถูกทรมาน และถูกทุบตีในสถานกักกันที่เป็นความลับ มีการรวบรวมสถิติไว้คร่าวๆ ว่า ช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้น มีผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืนมากกว่า 2,000 คน

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อมีผู้หญิงและเด็กไปแจ้งความหลังจากโดนทำร้าย ตำรวจกลับไม่สนใจที่จะจัดการใดๆ ไม่ใช่เพียงแค่ตำรวจเท่านั้นที่ไม่ให้ความสำคัญ แม้แต่ผู้นำของประเทศก็ไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน ประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเวไม่สนใจข้อเรียกร้องของประชาชนและนานาประเทศแม้แต่น้อย ที่ออกมาเรียกร้องให้ซิมบับเวยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

เมื่อรัฐบาลไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างจริงจัง จึงมีเพียงแค่องค์กรอิสระอย่าง NGO เท่านั้นที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น องค์กร Sandra Jones Center ที่ให้ที่อยู่อาศัยและให้ความช่วยเหลือกับผู้หญิงและเด็ก ในปัจจุบันองค์กรนี้ได้ให้ที่พักกับเด็ก 1,500 คน ซึ่ง 90% ของเด็กที่อยู่ที่นี่เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกข่มขืน และมีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการข่มขืนจากคนแปลกหน้า หมายความว่า เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศซิมบับเวจะถูกข่มขืนจากคนรู้จัก และส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว กรณีที่แย่ที่สุดคือ เด็กอายุ 3 ขวบถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอ

สิ่งหนึ่งที่เป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากความเชื่อและการปลูกฝังของผู้คนในซิมบับเวคือ การที่ผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกสาวเรียนหนังสือ การไม่ได้รับการศึกษาเด็กผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่มีทักษะต่างๆ ในการทำงาน และเมื่อพวกเธอแต่งงานไปจึงไม่สามารถที่จะหาเลี้ยงตัวเองได้ ต้องทนถูกทำร้าย

เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในองค์กร Sandra Jones Center เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาเช่นกัน ทำให้ไม่มีทักษะในการทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ดังนั้นองค์กรจึงต้องสอนทักษะต่างๆ ให้กับเด็กเหล่านี้ในการประกอบอาชีพในอนาคต อย่างเช่นการปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร การเก็บออมเงิน การขายของ การตลาด และการทำอาหาร เป็นต้น จากการสอนทักษะต่างๆ ทำให้เด็กๆ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งสามารถยืนยันได้จากการที่เด็กๆ ที่ออกจากที่นี่สามารถทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้

ในประเทศซิมบับเวไม่ได้มีเพียงแค่องค์กร Sandra Jones Center ที่ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีองค์กร NGO อีกหลายองค์กรให้ความช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อและยุติความรุนแรงทางเพศ

ปัญหาหนึ่งที่องค์กร NGO หลายองค์กรพบเจอคือ ผู้หญิงซิมบับเวไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า ผู้หญิงในซิมบับเวส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาและไม่มีงานทำ ทำให้พวกเธอไม่กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ ดังนั้นผู้หญิงที่น่าจะเป็นตัวแทนและเป็นกระบอกเสียงที่ดีในการเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศให้กับผู้หญิงและเด็กก็คือผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาและมีงานทำ

เมื่อองค์กร NGO จัดบรรยายให้ความรู้แก่ผู้หญิงที่มีงานทำ ว่าเมื่อพวกเธอโดนสามีทำร้ายร่างกาย ต้องทำอย่างไรบ้างในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ แต่เมื่อองค์กร NGO จัดบรรยายในแต่ละครั้ง ผู้หญิงเหล่านี้มักปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย โดยให้เหตุผลว่าพวกเธอจะต้องทำงานในวันและเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นถึงแม้พวกเธอจะมีงานทำและสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ แต่เมื่อเธอกลับเข้าบ้าน เธอก็ยังคงต้องตกเป็นเบี้ยล่างและเชื่อฟังสามีเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ อยู่ดี

ดังนั้นหากต้องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ในซิมบับเวลงนั้น ผู้หญิงและเด็กจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเพศทีละเล็กทีละน้อยในสังคม เพื่อสถานะของผู้หญิงในซิมบับเวจะได้ดีขึ้นในอนาคต แลไม่มีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทำร้ายทางเพศจากคนใกล้ตัวจำนวนมากเหมือนในทุกวันนี้ แต่ถ้าหากแม้แต่ผู้หญิงเองก็ไม่ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศ ปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศก็จะยังคงอยู่กับประเทศซิมบับเวไปเรื่อยๆ และไม่สามารถยุติลงได้
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/amazing-what-people-leave-on-the-street-1432344

ใส่ความเห็น