การปรับคณะรัฐมนตรีภายใต้การกำกับดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในนาม “ประยุทธ์ 5” แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรวมมากถึง 18 ตำแหน่ง หากแต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สะท้อนภาพความแตกต่างในเชิงนโยบายหรือมาตรการในการนำพาประเทศไปสู่หนทางใหม่ และดูจะเป็นเพียงการปรับเพื่อผลัดเปลี่ยนบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเท่านั้น
ขณะเดียวกันการปรับ ครม. ครั้งล่าสุดยังได้รับการประเมินว่าเป็นความพยายามของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะกอบกู้ศรัทธาและความเชื่อมั่นของรัฐบาลที่กำลังทรุดตัวตกต่ำต่อเนื่อง รวมถึงความพยายามที่จะปูทางไปสู่การสานต่อเพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจภายหลังการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 อีกด้วย
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พยายามลดทอนจำนวนขุนทหารและเติมเต็มเข้ามาด้วยบุคลากรภาคพลเรือนและนักวิชาการ อาจช่วยให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้า หากแต่ในความเป็นจริง กรณีดังกล่าวกลับสะท้อนภาพความล้มเหลวและปัญหาในการบริหารจัดการที่ดำเนินมากว่า 3 ปีของ คสช. ไปในคราวเดียวกัน
กระนั้นก็ดี การฝากความหวังไว้กับทีมเศรษฐกิจที่มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวเรือใหญ่ และยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามกรอบโครงนโยบายและความคิดเดิม ทำให้เกิดคำถามว่า ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ ได้รับการประเมินบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างไร และจะดำเนินไปสู่หนไหน แม้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดจะเป็นประจักษ์พยานว่าสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังคงมีบทบาทนำ และ คสช. สมัครใจที่จะเชื่อฝีมือของขุนพลทางเศรษฐกิจรายนี้อย่างมากก็ตาม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาล คสช. พยายามฉายภาพรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกอบส่วนไปด้วยมูลค่าการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว ในฐานะที่เป็นผลงานเชิดหน้าชูตารัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดกลับมีการปรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้พ้นจากตำแหน่ง คำถามที่ติดตามมาจึงอยู่ที่ว่ารัฐมนตรีที่ถูกปรับออกนี้ มีประเด็นว่าด้วยความฉ้อฉลไม่โปร่งใส หรือเป็นการยอมรับไปโดยปริยายของรัฐบาลว่า ตัวเลขและผลงานที่พยายามเอ่ยอ้างมาโดยตลอดนั้นเป็นเพียงการปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวก็สดใสจากเทรนด์ของโลก ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐแต่อย่างใด
ประเด็นที่น่าสนใจในเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง อยู่ที่มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่รัฐบาลพยายามโหมประโคมและมอบสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ดูจะเป็นโครงการที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ และจะกลายเป็นหลักฐานแห่งผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล คสช. นี้ ก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้อย่างเด่นชัดในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามเดินสายโรดโชว์ และเชิญชวนนักลงทุนในทุกเวทีที่ผู้นำหรือบุคลากรระดับสูงของรัฐได้มีโอกาสไปปรากฏตัวก็ตาม
ดัชนีและตัวเลขที่สื่อแสดงศักยภาพในการแข่งขันและความน่าสนใจในการลงทุนของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในด้านหนึ่งได้บ่งชี้สถานะที่เป็นจริงและกำลังเป็นไปของสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างยากที่จะปฏิเสธ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐพยายามสื่อสารตัวเลขสถิติและข้อมูลอีกระนาบหนึ่ง ซึ่งดูจะสอดรับกับวลีที่ว่า “There are lies, damned lies and statistics.” ที่สื่อแสดงถึงความบิดเบือนของข้อมูล หรือการมีฐานข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และสถิติอ้างอิงที่ดูจะเปล่าประโยชน์ในทางปฏิบัติ นอกจากเป็นเพียงการปลอบประโลมว่า เราได้ดำเนินมาถูกทางแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นความสามารถในการเข้าใจและแสวงหาหนทางในการแก้ปัญหาย่อมดำเนินไปอย่างบิดเบี้ยวและผิดพลาดจากข้อเท็จจริงยิ่งขึ้นไปอีก
ความเป็นไปของสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การระบุผ่านวาทกรรมว่าด้วยการทำให้คนจนหมดไปจากสังคมไทยในปี 2561 หลังจากที่รัฐบาลเพิ่งออกบัตรสงเคราะห์คนจนในปีที่ผ่านมามากถึง 11 ล้านใบจากจำนวนประชาชนที่มาขึ้นทะเบียนประมาณกว่า 14 ล้านคน หรือคิดเป็นประชากรกว่าร้อยละ 20 ของประชากรชาวไทยในปัจจุบัน จนเป็นเหตุให้มีการล้อเลียนวิพากษ์ และเสียดสีรัฐบาลกำลังจะเปลี่ยนข้อกำหนดนิยามความเป็นคนจนใหม่เหมือนกับที่เคยเปลี่ยนกำหนดนิยามคำเรียกขานในเรื่องราวอื่นๆ ที่ดำเนินไปอย่างฉาบฉวยและมีเพียงการเปลี่ยนเปลือก โดยไม่ได้มีแก่นสารของนโยบายใหม่ๆ มานำเสนอแต่อย่างใด
แต่ที่ดูจะหนักข้อที่สุดก็คือเสียงร้องจากคนจน ที่ออกมาระบุว่าไม่ต้องรอถึงปีหน้าคนจนก็คงหมดไปจากสังคมไทยแน่ๆ เพราะไม่มีอันจะกินจนอาจต้องอดตายไปก่อนที่มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐจะได้รับการส่งมอบไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างจริงจัง ขณะที่ความเป็นไปอีกด้านหนึ่งของสังคมกลับปรากฏว่าในช่วง 3 ปีที่ คสช. เข้าครอบครองอำนาจรัฐ ข้อมูลจาก “รายงานการเงินรวมภาครัฐ” ระหว่างปี 2557-2559 ได้เปิดเผยให้เห็นค่าใช้จ่ายบุคลากร หรือหากกล่าวโดยกระชับหมายถึง “เงินเดือนข้าราชการ” มียอดปรับตัวสูงขึ้นถึง 8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่อยู่ในระดับ 8.05 แสนล้านบาทในปี 2557 มาสู่ระดับ 8.85 แสนล้านบาทในปี 2559 และเมื่อนำจำนวนเงินดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็จะพบว่ารายจ่ายในส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 31-33 หรือกว่า 1 ใน 3 ของรายจ่ายแต่ละปีของรัฐบาลเลยทีเดียว
กรณีที่ว่านี้นอกจากจะสะท้อนทัศนะคิดแบบรัฐราชการ อำนาจนิยมของรัฐบาลประยุทธ์ และ คสช. ที่ก่อนหน้านี้ได้แก้ไข พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน ในปี 2558 ส่งผลให้เงินเดือนข้าราชการทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 แล้ว คณะรัฐมนตรีที่มี คสช. เป็นผู้หนุนหลังยังเคยมีมติเลื่อนขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ (2 ขั้น) เพื่อเป็นบำเหน็จให้กับผู้ปฏิบัติงานของ คสช. รวม 3 ครั้ง ระหว่างปี 2558–2560 ซึ่งค่อนข้างให้ภาพที่ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในทางเศรษฐกิจไม่น้อยเลย
ความเป็นไปของรัฐบาลประยุทธ์ และ คสช. กำลังจะเคลื่อนผ่านปีระกาไปด้วยความรู้สึกเอือมระอาของผู้คนและเริ่มขาดการสนับสนุนจากแนวร่วมเดิมที่เคยช่วยกันผลักดันให้ คสช. เข้ามามีอำนาจเปลี่ยนผ่านรัฐบาลพลเรือน แม้ว่าในความเป็นจริงเสียงเรียกร้องและความไม่พึงพอใจที่กำลังสะสมอยู่ อาจไม่สามารถกระตุกเตือนสำนึกของท่านผู้นำที่กำลังชื่นชมตัวเลขจากโพลและข้อมูลที่สนับสนุนการดำรงอยู่ในอำนาจที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาเป็นระยะ
บางทีความคาดหวังของสังคมไทยว่าด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่จะได้รับจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในนาม ประยุทธ์ 5 ในห้วงเวลานับจากนี้ อาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการรอคอยข้อเท็จจริงของปีจอว่าจะเป็นปีสุนัขที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มี Pedigree ที่สามารถนำไปต่อยอดขยายความ หรือเป็นปีแห่งสุนัขหางด้วนที่เอื้ออวยกันเองจนมองไม่เห็นความผิดพลาด เพียงเพื่อจะได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลดังที่ได้กระทำผ่านมา