สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 กำลังได้รับความคาดหวังว่าจะดำเนินไปสู่ทิศทางที่สดใสจากปัจจัยแรงส่ง ว่าด้วยการส่งออก ที่ตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-กันยายน) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทย ที่สามารถมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 9.4 จนเกือบแตะระดับ 8 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกอาหารไทยรวมตลอดทั้งปีในระดับที่เกินกว่า 1 ล้านล้านบาทด้วย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2560 ว่ามีมูลค่า 21,224 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ขยายตัว 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการส่งออกในระดับสูงสุดในรอบ 55 เดือน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,134 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.3 แสนล้านบาท ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุล 2,090 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับคาดการณ์ว่าภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2560 ที่ประมาณว่าจะขยายตัวร้อยละ 7 น่าจะเป็นไปได้ โดยการส่งออกในช่วงที่เหลือจากนี้ต้องส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยที่ 19,210 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน และ CLMV โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในระดับร้อยละ 24.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในมิติของราคาและปริมาณการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป
การส่งออกสินค้าอาหารของไทยดำเนินไปพร้อมกับความต้องการสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นให้การส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-กันยายน) ภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทย มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน เป็นการขยายตัวเพื่อขึ้นในระดับร้อยละ 8.3 คิดเป็นมูลค่า 768,797 ล้านบาท จากผลของความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ประกอบด้วยข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน
ประเด็นที่น่าสนใจจากสถิติการส่งออกอาหารไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2560 พบว่า ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดอยู่ที่ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งปรับตัวขึ้นร้อยละ 25.2 ในขณะที่ตลาดจีนซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สำคัญอีกแห่งก็ยังมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องในระดับร้อยละ 22.2 ขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 16.6 ก็ยังมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นที่น่าพึงพอใจในระดับร้อยละ 19.9
ขณะเดียวกัน ตัวเลขสัดส่วนการส่งออกสินค้าอาหารไทยได้สะท้อนภาพที่หลากหลายและน่าติดตามไม่น้อย โดยกลุ่มอาเซียนซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารไทยในสัดส่วนร้อยละ 11.6 ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวลดลงถึงร้อยละ 10.7 ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ก็ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 2.3 โดยตลาดสหราชอาณาจักรค่อนข้างปรับตัวลงรุนแรงถึงร้อยละ 10.9
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ ที่มีทิศทางการส่งออกปรับตัวลดลงทั้งในมิติของปริมาณและมูลค่าโดยการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบไปตลาดหลักอย่างจีน ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากผู้ส่งออกเวียดนาม ที่ใช้ข้อได้เปรียบจากการส่งสินค้าผ่านชายแดนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (13%) ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 อย่างอินโดนีเซีย มีการหดตัวมากเช่นกัน เพราะผลผลิตมันสำปะหลังในอินโดนีเซียมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
กรณีดังกล่าวอาจได้รับการประเมินอย่างจำกัดเฉพาะในสินค้าแป้งมันสำปะหลังดิบ หากแต่ในระยะยาว ข้อได้เปรียบของเวียดนามในการส่งออกสินค้าอาหารชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของข้าวจากเวียดนามไปสู่จีนผ่านช่องทางการค้าชายแดน อาจทำให้ไทยต้องสูญเสียตลาดและความสามารถในการแข่งขันนี้ไปในอนาคต ซึ่งเป็นข้อที่ควรพิจารณาไม่น้อยเช่นกัน
กระนั้นก็ดีแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2561 ได้รับการคาดหมายว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอัตราร้อยละ 8.7 ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการส่งออกรวมไม่ต่ำกว่า 1.12 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักสำคัญอยู่ที่อาเซียน ในสัดส่วนรวมร้อยละ 30 ญี่ปุ่นในสัดส่วนร้อยละ 14 สหรัฐอเมริกาในสัดส่วนร้อยละ 10 ขณะที่จีนและแอฟริกามีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ระดับร้อยละ 9
การประเมินและคาดการณ์ดังกล่าว ดำเนินไปภายใต้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะขยายตัวในระดับร้อยละ 3.7 จากที่ในปี 2560 ขยายตัวในระดับร้อยละ 3.6 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ
ประเด็นดังกล่าวดูจะสอดรับกับท่าทีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยคาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวใกล้ร้อยละ 4 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ขณะที่หลายหน่วยงานปรับประมาณการจีดีพีใหม่มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.8 โดยปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี คือ การลงทุนของภาคเอกชน ควบคู่กับการลงทุนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การประเมินดังกล่าวยังผูกพันกับความมั่นใจที่ว่าผลผลิตสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ควบคู่กับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหลักของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกหลายรายการ รวมถึงข้าว ไก่ และกุ้ง ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวต่ำลง ทำให้ไม่กระทบต้นทุนสินค้าในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนภาคการขนส่งมากนัก
ความคาดหวังและแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เริ่มเห็นรำไรในขณะนี้ จะเป็นปลายทางที่สุกสว่างสำหรับการดำเนินไปในหนทางข้างหน้า หรือเป็นเพียงมายาแห่งภาพลวงตา ที่เปลี่ยนผ่านจากชะตากรรมของปีไก่ทองจาก 2560 ไปสู่ปีจอ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นปีแห่งสุนัขสีอะไร หวังเพียงแต่ปี 2561 จะไม่ใช่ปีแห่งสุนัขบ้า ที่พร้อมจะฉีกกัดทำลายและสร้างความตื่นตระหนกเป็นโรคระบาดใหญ่ในสังคมไทยเท่านั้น