วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > รู้รักษ์ภาษาไทย ท่ามกลางภาษาอาเซียน

รู้รักษ์ภาษาไทย ท่ามกลางภาษาอาเซียน

 
“สวัสดี” ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วยคำทักทายอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังเป็นการเปิดประตูบ้านต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม
 
การรวมตัวของ 10 ประเทศในอาเซียน แน่นอนว่า ย่อมต้องมีข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังผลให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการเพิ่มจุดแข็งของประเทศในภูมิภาคอาเซียนบนเวทีโลก
 
กฎบัตรสำคัญที่ประเทศในอาเซียนได้ทำข้อตกลงกันไว้คือ ภาษาอาเซียน (ASEAN Language) ที่เหล่าประเทศสมาชิกมีมติร่วมกันว่าให้ภาษาอังกฤษทำหน้าที่เป็น “ภาษาราชการของอาเซียน” หมายถึงการดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคอาเซียนจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งข้อตกลงนี้นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อประเทศในอาเซียนนั้นล้วนแล้วแต่มีภาษาแม่เป็นของตัวเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
 
บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แม้แต่ประเทศบรูไน ที่มีภาษาบรูไนเป็นภาษาแม่ กระนั้นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีภาษาแม่ของตัวเอง แต่กลับใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารเฉพาะในแวดวงธุรกิจเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบความสามารถด้านภาษาอังกฤษกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ได้ให้ความเห็นเรื่องภาษาอาเซียนสำหรับประเทศไทยไว้ว่า “ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ต้องปรับตัวตั้งรับการแข่งขันในระดับประเทศ ต้องหาความรู้ ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารของตนเอง คือต้องรู้ภาษาอังกฤษ และถ้าเป็นไปได้ควรรู้ภาษาที่ 3 ภาษาในอาเซียนอีกหนึ่งภาษา” ซึ่งนั่นอาจหมายความถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่อาจจะเพิ่มความหวังใหม่ให้กับอนาคตของประเทศ แต่ดูจากห้วงเวลาปัจจุบันแล้วก็ยังห่างไกลจากความเป็นไปได้
 
การที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าของภูมิภาคนี้อย่างเต็มภาคภูมินั้น ไทยยังต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษซึ่งเรียกได้ว่าควรจะเป็นภาษาที่สอง ก่อนที่จะมองข้ามสเต็ปไปยังภาษาที่สาม แม้ในบางเรื่องประเทศไทยจะได้เปรียบหากเทียบกับสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ทั้งในเรื่องระบบโลจิสติกส์ ความชำนาญการในวิชาชีพเฉพาะด้าน หากแต่การอ่อนด้อยด้านภาษาที่แม้แต่กับภาษาไทยเองยังไม่แตกฉานนัก 
 
ภาษาเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อสร้างความชำนาญ ซึ่งดูแล้วหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังรณรงค์การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำให้ถูกต้องดูจะไม่ใช่เรื่องลำบากนัก แต่หากต้องรณรงค์เพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย อาจต้องรณรงค์กันอย่างหนักพอสมควร เมื่อมีผลสำรวจจากหลายสำนักออกมาไม่ต่างกันว่า ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่า “ต่ำมาก” เมื่อเทียบกับประเทศร่วมอาเซียนแล้วอาจต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือแม้แต่ลาว
 
แน่นอนว่าเมื่อมีการเอ่ยถึงกรณีความสามารถด้านภาษาของคนไทยแล้ว อาจมีบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินอธิบายที่ว่า “เพราะไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร” หรือ “เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน” หรือ เพราะเราไม่ใส่ใจที่จะเพิ่มทักษะ และลืมที่จะดูว่าประเทศเพื่อนบ้านพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว 
 
ปัญหาการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของคนไทยคงจะหนีไม่พ้นเรื่องการขาดความมั่นใจในการพูด ทั้งเรื่องความถูกต้องของไวยากรณ์ ไม่มั่นใจในเรื่องสำเนียง โดยเฉพาะประเด็นหลังที่กลายเป็นเหตุให้โค้ชฟุตบอลทีมชาติไทย ถูกตำหนิติเตียนจากผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นเรือจ้าง ว่าสำเนียงที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาเลเซียนั้นเป็นเรื่องผิดพลาดและขายหน้าอย่างมาก 
 
ในขณะที่คนไทยต้องเพิ่มทักษะภาษาที่สอง แต่ช่วงเวลาเดียวกันหลายประเทศในอาเซียนกำลังเพิ่มทักษะด้านภาษาที่สาม หรือสี่กันแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือบรูไน ที่มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในระดับสูง และใช้ภาษาสื่อสารได้หลายภาษา หากแต่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกัมพูชาเอง ที่นอกจากใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารแล้ว ยังมีชาวกัมพูชาบางส่วนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาฝรั่งเศสได้ 
 
การถูกทิ้งห่างท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจของโลกที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งนี้มีคนไทยที่สื่อสารภาษาอังกฤษเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน นอกจากนี้หลายหน่วยงานภาครัฐกำลังคาดหวังอย่างสูงที่จะให้คนไทยพูดภาษาอาเซียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาบาฮาซาร์ซึ่งเป็นภาษาที่มีประชากรอาเซียนใช้มากที่สุดถึง 250 ล้านคน ขณะที่ลาว พม่า เวียดนาม เริ่มพูดภาษานี้กันได้แล้ว และยังเริ่มที่จะเรียนรู้การพูดภาษาไทย
 
ดูเหมือนว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยทั้งที่ยังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องภาษาต่างชาติ อาจจะส่งผลให้ศักยภาพด้านการแข่งขันต่อประเทศอาเซียนลดลง นั่นคงทำให้ไม่อาจฝันไปไกลถึงตลาดโลกได้ คงถึงเวลาเสียทีที่ประเทศไทยจะต้องย้อนกลับมามองดูตัวเองพร้อมกับประเมินความสามารถของคนไทยอย่างเป็นกลาง
 
ภาษาเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ทั้งพูด ฟัง อ่าน เขียน หากมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ไม่แน่ว่าเราอาจจะตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วกล่าวอรุณสวัสดิ์ด้วยคำว่า “Xin Chao” ด้วยภาษาเวียดนามก่อนที่ไทยจะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จเสียอีก