วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > นวัตกรรมทางการเงิน กับสาขาธนาคารที่หายไป

นวัตกรรมทางการเงิน กับสาขาธนาคารที่หายไป

ฉากชีวิตที่ดำเนินผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ไปด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ภายใต้ผลสืบเนื่องจากนวัตกรรมทางการเงินหลากหลายที่ได้รับการนำเสนออย่างพรั่งพรูของผู้ประกอบการธนาคารแต่ละราย ที่พยายามหยิบยื่นบริการเพื่ออำนวยความสะดวกและการมาถึงของเครื่องมือทางการเงินบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่

รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เสนอเกี่ยวกับการปิดตัวลดลงของสาขาธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ามีธนาคารปิดสาขารวมทั้งสิ้น 126 แห่ง ขณะที่ในเดือนกันยายน หรืออีก 2 เดือนถัดมา ธปท. รายงานว่าสาขาของธนาคารที่ถูกปิดมีเพิ่มขึ้นเป็น 192 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นอีก 66 แห่งภายใน 2 เดือน

หากพิจารณาตามตัวเลขที่รายงานความเป็นไปของสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนกันยายน อาจอนุมานได้ว่ามีสาขาธนาคารปิดตัวลงไปเฉลี่ยอย่างน้อย 1.08 แห่งในแต่ละวัน ซึ่งถือเป็นอัตราเร่งที่น่าสนใจไม่น้อย

ข้อสังเกตจากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งอาจได้รับการประเมินว่าเป็นเพราะธนาคารบางแห่งต้องการปรับลดตัวเลขทางบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อนการปิดงบทางบัญชีประจำปีงบประมาณในเดือนกันยายน หากแต่ข้อเท็จจริงที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การปิดสาขาของธนาคารย่อมมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพมิติในเชิงนโยบายการบริหารเพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการให้และรับบริการที่เปลี่ยนแปลงไป

ปฏิเสธได้ยากว่าแนวโน้มของการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากประพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลจากการนำเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต่างต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนจำนวนเครือข่ายที่ตั้งสาขา การย้ายสถานที่ การเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ตลอดจนการนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง และมีความสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา

หากพิจารณาจำแนกตามพื้นที่ที่มีการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาจะยิ่งพบนัยสำคัญในมิติที่ว่านี้มากขึ้น เมื่อจำนวนสาขาที่ปิดทั่วประเทศซึ่งมีรวมทั้งสิ้นจำนวน 192 แห่งนั้น เป็นสาขาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มากถึง 81 แห่ง

ขณะที่สาขาที่ปิดตัวลงในแต่ละภูมิภาค ลดหลั่นลงตามสภาพภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคกลางที่มีสาขาธนาคารปิดตัวลงไป 39 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 แห่ง ภาคเหนือ 23 แห่ง และภาคใต้ 21 แห่ง ซึ่งอาจจะสะท้อนภาพความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ ของประชากรในแต่ละพื้นที่ด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามมาก็คือการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยซึ่งมีสาขาธนาคารกระจายตัวรวมกันอยู่ทั่วประเทศมากถึง 1,215 แห่งเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2559 ดำเนินการปิดสาขาลงมากที่สุดถึง 79 แห่ง ทำให้มีสาขาเหลืออยู่ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ที่ระดับ 1,136 แห่ง

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีสาขารวมทั่วประเทศ 1,122 แห่งในเดือนกันยายน 2559 ได้ปิดสาขาธนาคารลงไป 73 แห่ง เหลือ 1,049 แห่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสาขารวม 1,180 แห่งในปี 2559 ดำเนินการปิดสาขาไปเพียง 9 แห่งเท่านั้น สวนทางกับธนาคารกรุงเทพที่มีสาขาเพิ่มขึ้นจาก 1,151 แห่งในปี 2559 มาเป็น 1,162 แห่ง หรือเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่งในช่วงระยะขวบปีที่ผ่านมา (กันยายน 2559-กันยายน 2560)

เป้าหมายของธนาคารกรุงไทยที่จะปิดสาขารวมทั้งสิ้นกว่า 100 แห่งภายในปี 2560 ซึ่งสะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ของเชิดชัย ชมภูนุกูลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสายงานเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย ธนาคารกรุงไทย เมื่อไม่นานมานี้ดูจะให้ภาพของอนาคตที่ชัดเจนขึ้นไปอีก เพราะเหตุผลสำคัญของการปิดสาขามาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปสู่ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่มากขึ้น

รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อปรับรูปแบบสาขาธนาคารใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เช่น ภาคธุรกิจ รายย่อย หรือในทำเลที่มีการทำธุรกรรมสูง รวมไปถึงการนำตู้อัตโนมัติเข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมการเงินแบบเดิมๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นภายในไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาสที่ 4 นี้

ภาพสะท้อนของการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ในด้านหนึ่งอาจได้รับการประเมินว่าเป็นแนวโน้มปกติที่ตอบรับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ในระยะต่อไปอาจได้เห็นการปรับรูปแบบสาขาของแต่ละธนาคาร เพื่อตอบรับความต้องการลูกค้าในแต่ละประเภทมากขึ้นด้วย โดยรูปแบบและจำนวนสาขาในอนาคตจะยิ่งปรับสู่จำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องตามพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทมากขึ้น

จำนวนสาขาซึ่งแต่เดิมอาจเป็นมาตรวัดความยิ่งใหญ่อลังการและความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง กำลังถูกลดทอนคุณค่าความหมายไปพร้อมๆ กับบุคลากรทางการเงินที่ถูกทดแทนด้วยบริการผ่านธุรกรรมทางการเงินแบบใหม่ ทั้ง internet banking หรือ mobile banking ที่นอกจากจะรวดเร็วเข้าถึงง่ายแล้วยังสามารถบริการตัวเองได้อย่างง่ายดาย

พฤติกรรมผู้ใช้บริการทางการเงินที่เปลี่ยนไปโดยหันไปสู่การทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในอัตราเติบโตร้อยละ 121 จากปีที่ผ่านมา โดยการทำธุรกรรมผ่านเครื่องอัตโนมัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 แต่การทำธุรกรรมที่สาขามีอัตราลดลงร้อยละ 8

การลดลงของสาขาธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนี้ สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า ธุรกรรมทางการเงินที่ดำเนินผ่าน internet banking หรือ mobile banking ณ สิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีผู้ใช้ internet banking 15 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมรวม 24 ล้านล้านบาท และ mobile banking 21 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมรวม 5.84 แสนล้านบาท

จำนวนตัวเลขผู้ลงทะเบียนใช้บริการ internet banking หรือ mobile banking ที่มีมากกว่า 36 ล้านบัญชีดังกล่าว เมื่อประเมินจากจำนวนลูกค้าเงินฝากทั้งระบบประมาณ 90 ล้านบัญชี นั่นหมายความว่าลูกค้า 1 ใน 3 ของธนาคารพาณิชย์ได้ก้าวไปสู่การใช้บริการออนไลน์แบงกิ้งแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

แต่การปิดสาขาไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากค่าใช้จ่าย เพราะในขณะที่ธนาคารแต่ละแห่งปิดสาขาเพื่อปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและลดต้นทุนการบริการ ด้านกลับของกรณีดังกล่าวก็คือการส่งผลให้จำนวนพนักงานธนาคารทั้งระบบลดลงด้วย โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 60 มีพนักงานทั้งระบบเหลืออยู่ประมาณ 153,139 คน ลดลง 1,351 คน และจำนวนพนักงานที่ต้องพ้นจากหน้าที่คงมีเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาถัดจากนี้

ความน่าสนใจจากการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นนี้ ในด้านหนึ่งได้รับการประเมินว่านอกจากจะเป็นการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์แล้ว ในระยะยาวอาจส่งผลให้ค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละธนาคารปรับลดลงด้วย จากเหตุที่ต้นทุนการให้บริการลดลงหลังการปิดสาขาที่ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจผ่านพ้นไป

กระนั้นก็ดี ความคาดหวังดังกล่าวย่อมไม่ได้เกิดขึ้นในสภาพสุญญากาศ เพราะในปัจจุบันส่วนต่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายสุทธิยังไม่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงตามภาระการจัดการหนี้เสียที่ยังไม่ลดลง และแม้ว่าในอนาคตหากต้นทุนการดำเนินงานลดลง ราคาต้นทุนการระดมทุนที่เคยบวกค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงเหล่านี้เผื่อไว้สูง อาจจะทยอยปรับลดลง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะยืนยันแนวโน้มได้อย่างชัดเจน

ใส่ความเห็น