วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
Home > Cover Story > “เกษตรแปลงใหญ่” ความท้าทายของการจัดการ

“เกษตรแปลงใหญ่” ความท้าทายของการจัดการ

พระราชพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2560 ผ่านพ้นไปแล้ว เป็นประหนึ่งสัญญาณบอกกล่าวว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังมีนัยความหมายที่ช่วยหล่อเลี้ยงขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าเกษตรกรไทย ที่ดำรงอยู่ในบริบทของสังคมกสิกรรมมาอย่างเนิ่นนาน

การเสี่ยงทายที่ติดตามมาด้วยคำทำนายพยากรณ์ของคณะพราหมณ์และโหรหลวง ไม่ว่าจะมีเนื้อหาและคาดหมายไปในทิศทางที่เด่นด้อยอย่างไร ในด้านหนึ่งก็เป็นไปด้วยความมุ่งหมายที่จะเตือนสติของผู้ประกอบการกสิกรรมและเกษตรกรทั้งหลาย ให้ตระหนักในข้อจำกัดทางธรรมชาติที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี และแสวงหาหนทางที่จะข้ามพ้นปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นไปให้ได้

กระนั้นก็ดี ความพิเศษของพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีนี้ อยู่ที่ความพยายามของภาครัฐที่ได้ประกาศและนำเสนอนโยบาย ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างปี 2560-2564 ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การเร่งให้เกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ถึง 1.5 ล้านไร่ในอนาคต

ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงปี 2559 ที่สามารถทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ 153,800 ไร่ ในสินค้าเกษตรจำนวน 12 ประเภท มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ 122 กลุ่ม ตั้งวิสาหกิจชุมชน 393 กลุ่ม และพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรสมัยใหม่ได้ 67,200 ราย โดยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ 4,217 ล้านบาท

หลักคิดของการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในด้านหนึ่งอยู่ที่การมุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มาสู่การรวมกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น มีความสามารถในการจัดการ การผลิตผลผลิตอย่างมืออาชีพ ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงการตลาดและมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น

จุดขับเน้นของเกษตรแปลงใหญ่จึงอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการผลิตของชุมชนแบบครบวงจร และการเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม

แต่การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมซึ่งถือเป็นรากฐานของการผลิตในสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ย่อมต้องได้รับพัฒนาให้ภาคการเกษตรมีมาตรฐานอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ควบคู่กับเทคโนโลยี รวมถึงการต่อยอดไปสู่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยในระยะยาว

ตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะดำเนินการตามโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่อยู่ที่การขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 600 แปลงในปัจจุบันไปสู่ 1,500 แปลงในปี 2560 และขยายเป็น 7,000 แปลงภายในระยะเวลา 5 ปี ของแผนยุทธศาสตร์

ประเด็นที่น่าสนใจจากความพยายามดังกล่าว นอกจากจะอยู่ที่การพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มุ่งเน้นการเกษตรอินทรีย์ผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และการสร้างธนาคารสินค้าเกษตรแล้ว กรณีว่าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่พร้อมจะบ่งชี้ความสำเร็จหรือล้มเหลวของเกษตรแปลงใหญ่นี้ในระยะยาวได้ไม่ยาก

เนื่องเพราะการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ไม่เพียงแต่จะผูกพันกับประเด็นว่าด้วยการลดความเสี่ยงด้านผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องถึงการจัดสรรและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดิน และการวางแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นประเด็นปัญหาต่อเนื่องอีกด้วย

ความพยายามที่จะข้ามพ้นวิถีการผลิตแบบเดิมไปสู่การพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และสมาร์ท กรุ๊ป เพื่อเป็นกลไก พร้อมขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่สู่สมาร์ท โปรดักส์ ที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดหรือผู้บริโภค เพื่อลดต้นทุนผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐาน ย่อมไม่สามารถสัมฤทธิผลได้หากกลไกรัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมได้อย่างมีรูปธรรม

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลไกรัฐโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยได้ออกมายอมรับว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2560 อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลประชาชนทั้งเรื่องน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร โดยเน้นย้ำให้ใช้น้ำอย่างมีแผนการ เพราะน้ำอาจไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังอีกด้วย

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดูจะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเป็นไปได้ของแผน เกษตรแปลงใหญ่ และเกี่ยวเนื่องกับกลไกของรัฐอย่างน้อยสามหน่วยงานหลัก ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างมีบทบาทหน้าที่ในความรับผิดชอบกำกับดูแล หากแต่ความสามารถในการบูรณาการในเชิงยุทธศาสตร์ให้บังเกิดผลสัมฤทธิยังเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามไม่น้อย

ความไม่สามารถในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและมีบูรณาการรอบด้านทำให้ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติครั้งที่ 1/2560 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานในที่ประชุม ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งรัดในหลักการดำเนินการเรื่องน้ำให้ได้ภายในปีนี้

การบริหารจัดการน้ำ ตามแนวความคิดของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อยู่ที่การตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารโดยรวม เพื่อนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานเข้ามาบริหาร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และให้เกิดความต่อเนื่อง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการให้เป็นเหมือนศูนย์บรรเทาภัยพิบัติ เพราะทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย” หัวหน้า คสช. ระบุ

ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ

ประเด็นที่ว่านี้ ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและเชื่อมโยงกับแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรโดยกระบวนการแปรรูป การสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และการจัดหาแหล่งน้ำดิบให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ

ยังไม่นับรวมถึงการกลั่นกรองแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้พิจารณาในแต่ละแผนที่ (Area base) ควบคู่กับการพิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

หากแต่ความคาดหวังในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในรอบปีตามแนวคิดของหัวหน้า คสช. ในอีกมิติหนึ่งก็คือการทำงานนับจากนี้ จะถือเป็นการประเมินผลขีดความสามารถของผู้บังคับหน่วยและผู้นำองค์กรทุกองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิม ถือว่าเป็นข้อพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้อีกด้วย

เป้าหมายของการทำงาน 1 ปี นับจากนี้ที่ดูเหมือนจะประกอบส่วนอย่างมีบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการกักเก็บน้ำ และการกระจายน้ำ รวมทั้งน้ำบาดาล และระบบสูบน้ำโดยรวมเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงประชาชนมากที่สุดตลอดปี 2560-2561 นี้ ถูกกำหนดให้ดำเนินไปโดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพื่อเตรียมการไว้ใช้รับมือฤดูแล้งหน้า ซึ่งถึงแม้อาจทำได้ไม่ครบถ้วนแต่ต้องทำให้ได้มากที่สุด

ภาพสะท้อนระบบวิถีความคิดของหัวหน้า คสช. ที่ดำเนินผ่านคณะกรรมการนโยบายน้ำ ในฐานะที่ระบุว่าเป็นคณะทำงานที่สำคัญที่สุด เพื่อเป็นหน่วยงานที่มาบริหารหรือกำหนดนโยบาย ที่จะส่งผ่านแนวคิดว่าในลักษณะการบริหารงานนโยบาย ที่ต่อเนื่องจากแนวทางการศึกษาเพื่อตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติของรัฐบาล ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้หน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

แม้ดูเหมือนจะมีมิติในเชิงการบูรณาการ หากแต่ข้อเท็จจริงก็คือความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน และบ่งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในระบบการบริหารที่ควรจะมี

ประเด็นที่ว่านี้ได้รับการเน้นย้ำผ่านบทสัมภาษณ์ของหัวหน้า คสช. ที่ระบุว่า “จำเป็นต้องมีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำขึ้นมา เพราะคำสั่งพวกนี้หากยังอยู่ตรงนี้ต่อไปก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ไม่อย่างนั้นก็จะมาบอกว่าหน่วยงานไม่ทำ ทำไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานที่กำกับดูแลตรงนี้ กำกับนโยบายลงไปข้างล่าง ไม่อย่างนั้นทุกกระทรวงก็จะทำตามกฎหมาย ตามหน้าที่อย่างเดียวก็ไม่ประสานกัน”

ฤดูการแห่งการเพาะปลูกครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว จากสัญญาณมงคลที่ดำเนินผ่านพระราชพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หากแต่คำถามที่น่าสนใจนับจากนี้อยู่ที่ความท้าทายในการบรรลุสู่เป้าหมายทั้งในมิติของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ จะข้ามพ้นขีดจำกัดและความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีบูรณาการ ที่มีสภาพไม่ต่างจากหน่ออ่อนที่เพิ่งงอกออกจากเปลือก หลังได้รับความชุ่มฉ่ำจากสายฝนนี้หรือไม่เท่านั้น

ใส่ความเห็น