วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Entrepreneurship > “เซ็นทรัล” เปิดแผนสองรุก “ซีพี” ยึด “จี-สโตร์” ชน “ซูเปอร์คอนวีเนียน”

“เซ็นทรัล” เปิดแผนสองรุก “ซีพี” ยึด “จี-สโตร์” ชน “ซูเปอร์คอนวีเนียน”

ภายหลังกลุ่มเซ็นทรัลตกลงร่วมทุนกับกลุ่มแฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซีอาร์ซี) เข้าถือหุ้นใหญ่ 50.29% ในบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ผู้บริหารร้านแฟมิลี่มาร์ท ในประเทศไทย และวางแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น  1,500 แห่ง ภายใน 5 ปี และ 3,000 แห่ง ภายใน 10 ปีข้างหน้า
 
แน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การแย่งชิงส่วนแบ่งผู้นำตลาดคอนวีเนียนสโตร์อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” ที่ยึดครองผ่านร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น
 
ล่าสุด เซ็นทรัลเดินหน้าแผนสอง บุกช่องทาง “จี-สโตร์” หรือ Gas Store ร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นเค้กก้อนใหญ่อีกก้อนของเซเว่น-อีเลฟเว่น  โดยส่ง “ท็อปส์เดลี่” เข้ามาเจาะพื้นที่ผ่านปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ เพื่อขยายเครือข่ายค้าปลีกเสริม “มินิบิ๊กซี” ที่กำลังเร่งปูพรมสาขาในปั๊มน้ำมันบางจาก

ถือเป็นการต่อสู้ของยักษ์ใหญ่สองค่ายนอกเหนือจากเทสโก้โลตัส ที่เป็นพันธมิตรกับปั๊มเอสโซ่ และที่สำคัญยังเป็นการต่อสู้ด้านโมเดลธุรกิจระหว่าง “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” ของกลุ่มเซ็นทรัล กับ “ซูเปอร์คอนวีเนียน” ของค่ายซีพี ซึ่งพยายามสร้างจุดขายใหม่และจุดแตกต่างจากร้านค้าสะดวกซื้อรูปแบบเดิมๆ

แม้เซเว่น-อีเลฟเว่นพยายามยกเครื่องร้านให้ทันสมัยขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น และเพิ่มบริการแบบ “วันสต็อปเซอร์วิส” เน้นอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟสด เบเกอรี่อบ มุมหนังสือ ร้านขายยา และเคาน์เตอร์เซอร์วิส ตามนโยบาย “ซูเปอร์คอนวีเนียน” แต่การกินตลาดเฉพาะร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น คงไม่เพียงพอแล้ว เพราะคู่แข่งจำนวนมากแห่ลงมาแข่งสาขาขนาดเล็กอย่างดุเดือด และทุกค่ายล้วนมีเงินทุนก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเทสโก้โลตัส บิ๊กซี แม็กซ์แวลู่ รวมถึงกลุ่มสหพัฒน์ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงจับมือกับค่ายลอว์สัน ประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัท สหลอว์สัน จำกัด เพื่ออัดฉีดร้าน “108ช็อป” ทั้งหมด

ซีพีจึงต้องขยายธุรกิจในรูปแบบใหม่ เพื่อขยายทั้งโอกาสทางการตลาด ช่องทางการจำหน่ายสินค้าในเครือและเพิ่มความแข็งแกร่งในช่องทางจี-สโตร์ด้วย โดยล่าสุดจับมือกับ “เชลล์” เพื่อขยายร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ต ซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ ในปั๊มน้ำมัน ประเดิมแห่งแรกที่สาขาวังน้อย จ. อยุธยา

จุดขายหลักของซีพีฟู้ดมาร์เก็ต ซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ เน้น 3 ตัวหลัก คือ สะดวกซื้อ สะดวกปรุง และสะดวกทาน โดยผสมผสานร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น คือ สะดวกซื้อ, ซีพีเฟรชมาร์ท คือ สะดวกปรุง และจัดพื้นที่สไตล์ฟู้ดคอร์ทให้สะดวกทาน ซึ่งตามแผนซีพีต้องการขยายสาขา ไม่ใช่แค่ทำเลปั๊มน้ำมัน แต่ยังรวมถึงแหล่งชุมชน อาคารสำนักงาน โซนกลางเมือง และถนนสายหลัก

ขณะเดียวกัน เซเว่น-อีเลฟเว่นตั้งเป้าขยายสาขาครบ 7,000 แห่ง ในปีหน้า โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาต่อสัญญากับ ปตท. อีก 10 ปี นับจากสัญญาเก่าที่จะสิ้นสุดในปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีสาขาในปั๊ม ปตท. เพิ่มอีก 400 กว่าสาขา จากปัจจุบันเปิดแล้ว 800 กว่าสาขา

หากตรวจแนวรบสงครามจี-สโตร์ของทั้งสองฝ่าย เซเว่น-อีเลฟเว่นมีสาขาในปั๊ม ปตท. 800 แห่ง และวางแผนขยายครบ 1,200 แห่ง  บวกกับร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ตในปั๊มเชลล์ อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วน “เซ็นทรัล” ล่าสุด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิด “ท็อปส์เดลี่” ในปั๊มคาลเท็กซ์แล้ว 10 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 8 สาขา เชียงใหม่ 1 สาขา ภูเก็ต 1 สาขา และวางแผนเปิดครบ 100 สาขาภายใน 3 ปี  ซึ่งคาลเท็กซ์เองมีแผนขยายปั๊มเพิ่มอีก 100 แห่ง เป็น 500 สาขา ภายในปี 2558 บวกกับมินิบิ๊กซีที่ตั้งเป้ายึดทำเลที่ตั้งในปั๊มบางจากอีก 300 สาขา ทั่วประเทศ 

นายอลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด กล่าวว่า บริษัทพัฒนารูปแบบร้าน ท็อปส์ เดลี่ให้เป็น “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” ที่เหมาะสมกับสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ งบลงทุนประมาณ 3-3.5 ล้านต่อสาขา บนพื้นที่ 150 ตารางเมตร โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 2,500 รายการ หลายหมวดหมู่  เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารพร้อมปรุง สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และบริการอีเพย์ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแตกต่างจากร้านสะดวกซื้อทั่วไปที่ไม่มีอาหารสดจำหน่าย

นอกจากนี้ ท็อปส์ในรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้จำกัดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะลูกค้าที่ขับรถมาเติมน้ำมัน  แต่ยังมองไปถึงกลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งครอบครัว แม่บ้าน และออฟฟิศสำนักงาน ด้วยปริมาณสินค้าและไซส์ที่ใหญ่กว่า ทำให้ยอดขายต่อบิลจะมากกว่าคอนวีเนียนสโตร์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80-100 บาทต่อบิล กว่าเท่าตัว และราคาสินค้ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากมีโปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าประเภทนิชมาร์เก็ต โดยเฉพาะผลไม้นำเข้า ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญของท็อปส์

อันที่จริง ท็อปส์เคยเปิดสาขานำร่องในปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ สาขาเพชรเกษม 75 ก่อนหน้าหลายปีแล้ว แต่ต้องปิดตัว เพราะสถานีบริการหมดสัญญาเช่า และถ้าคำนวณยอดขายรายได้แล้ว ยังอยู่ในระดับแค่เลี้ยงตัวเอง ไม่หวือหวา ทำให้แผนการขยายสาขาไม่ได้มองช่องทางจี-สโตร์มากเท่าใดนัก

แต่เมื่อสถานการณ์พลิกเปลี่ยน การแข่งขันของบริษัทน้ำมันรุนแรงขึ้น จำนวนรถยนต์ที่พุ่งกระฉูดจนถนนรองรับไม่ไหว  ทุกค่ายต่างหันมาเล่นเกมนอนออยล์ และต้องการแมกเน็ตดึงดูดลูกค้าแบบครบเครื่อง  โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ทำให้ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา คอนวีเนียนสโตร์กลายเป็นค้าปลีกกลุ่มที่เติบโตสูงที่สุด และยังมีศักยภาพสูงต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 10 ปี

สมรภูมิจี-สโตร์ จึงกลับมาดุเดือดเลือดพล่านขึ้นอีกครั้ง เซ็นทรัลที่กำลังเร่งยึดตลาดค้าปลีกทุกช่องทาง คงไม่ยอมละทิ้งโอกาสที่เปิดไว้อย่างแน่นอน