วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > วิกฤตพลังงานในไทย บี.กริม เบนเข็มรุกพลังงานสะอาดใน AEC

วิกฤตพลังงานในไทย บี.กริม เบนเข็มรุกพลังงานสะอาดใน AEC

 
 
ท่ามกลางกระแสคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ กำลังร้อนระอุ ไม่แพ้สภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง แสงแดดที่แผดเผาและอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเพียงไม่กี่วัน
 
หลังจากรัฐบาลสั่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทของการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ Power Development Plan: PDP ซึ่งเป็นแผนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าระยะยาว 15-20 ปี ทั้งการสร้างความมั่นคงและเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยคำนึงถึงนโยบายพลังงานของประเทศและปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม 
 
หรือจะอธิบายอย่างง่ายๆ ว่าการเร่งดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเป็นไปเพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ ที่มีการขยายตัวของประชากร รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 
กระนั้นคำสั่งเร่งเครื่องโครงการดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสการคัดค้านทั้งจากประชาชนในพื้นที่ องค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือกระแสการต่อต้านจากสังคมโซเชียล ที่ร่วมกันลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วยผ่าน Social Network 
 
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านหาใช่การต่อต้านโครงการที่มุ่งนำพาเอาความก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติ หากแต่เป็นการคัดค้านต่อกรณีการทำรายงาน EHIA และ EIA ที่ดูจะเร่งรีบเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าเป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตพลังงานของไทยที่ปริมาณทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศกำลังนับถอยหลัง
 
แต่เป็นการขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA และ EHIA รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
 
แม้ว่าทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต่างถือเหตุผลของตัวเองเข้าพูดคุยกัน หากแต่ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งในมิติของฝ่ายสนับสนุนที่มีความกังวลถึงความขาดแคลนพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และต้องการที่จะรองรับการเติบโตอย่างขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นเสมือนเครื่องจักรตัวสำคัญที่จะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ รายได้จากการท่องเที่ยวต่อปีนั้น นับเป็นรายได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ
 
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมีความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะความสวยงามทางธรรมชาติของไทยเป็นคีย์หลักสำคัญในการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความสวยงาม และยังเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนในท้องถิ่น
 
หรืออีกนัยหนึ่งของความกังวลน่าจะเป็นบทเรียนจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ได้สร้างแผลเป็นที่เสมือนฝันร้ายในชีวิตจริงของใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีวาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ที่นำพาเอาความขัดแย้งมานั้น แม้ว่าในเบื้องต้นจะสามารถหาข้อตกลงในชั้นต้นเพื่อช่วยลดทอนบรรยากาศความตึงเครียดลงได้บ้าง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องกรณี EHIA และ EIA แต่จะเป็นรูปแบบของการ Set Zero หรือดำเนินการขั้นตอนของการศึกษาต่อไปโดยที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาพร้อมๆ กับคณะทำงาน ยังไม่มีความแน่ชัดเท่าที่ควร 
 
ทั้งนี้แผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2558 ถึง 2579 หรือ PDP 2015 สรุปได้ว่า ในปี 2579 หรือในอีก 19 ปีข้างหน้า จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 70,335 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วนับจากสิ้นปี 2557 ประมาณ 37,612 เมกะวัตต์ ระหว่างนี้จะมีการปลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2558-2579 จำนวน 24,736 เมกะวัตต์ จึงต้องการกำลังผลิตโรงไฟฟ้าใหม่อีก 57,459 เมกะวัตต์ 
 
เมื่อคำนวณระหว่างโรงไฟฟ้าที่ปลดกำลังผลิตจะได้ไฟฟ้ารวม 70,335 เมกะวัตต์ โดยแยกตามประเภทโรงไฟฟ้าดังนี้ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 21,648 เมกะวัตต์ แยกเป็นไฟฟ้าในประเทศ 12,105 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ซื้อจากต่างประเทศ 9,543 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,101 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 4,119 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 17,478 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 12,113 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ 7,390 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส 1,250 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 1,473 เมกะวัตต์ รวม 57,459 เมกะวัตต์ 
 
และเมื่อรวมตามแผนก่อสร้างทั้งหมดจะได้ไฟฟ้า 70,355 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นหนึ่งในแผนงานนั้น ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าประมาณเดือนธันวาคม ปี 2562
 
แม้ว่าในห้วงยามนี้สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการพัฒนา กระนั้นเส้นทางดังกล่าวอาจจะเป็นทางแพร่งที่จำต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง หรือหากเป็นไปได้อย่างดีที่สุด คือการปรับและประยุกต์เอาสิ่งที่ดีและเหมาะสมนำมาใช้และพัฒนาต่อไป 
 
ขณะที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเต็มกำลัง ภาคเอกชนมีหลายองค์กรไม่น้อยที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่มีนับเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจพลังงานที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยมานานกว่า 139 ปี อย่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและการขายไฟฟ้า กำลังเบนเข็มขยับขยายธุรกิจพลังงานออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจะมีศักยภาพมากพอๆ กับประเทศไทย
 
แม้ว่าในฐานะการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก แต่ด้วยชื่อชั้นของกลุ่ม บี.กริม ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ในปัจจุบัน บี.กริม มีธุรกิจโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี นิคมอุตสาหกรรมเหมราช และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 
 
เป็นเวลากว่า 139 ปีที่กลุ่ม บี.กริม สยายปีกดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งในห้วงยามนี้ ความประจวบเหมาะของช่วงเวลา ทำให้ บี.กริม ตัดสินใจขยายฐานธุรกิจออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม AEC 
 
สปป.ลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา ที่ บี.กริม เริ่มเข้าไปมีบทบาทสำคัญในด้านอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ที่น่าสนใจคือ การที่ บี.กริม เลือกที่จะให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานน้ำ ทั้งนี้ในปัจจุบัน บี.กริม มีโครงการโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว รวม 9 โครงการ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าเซน้ำน้อย-เซกระตำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำขาว และน้ำเซ ที่มีขนาดกำลังการผลิตรวม 112.5 เมกะวัตต์ 
 
ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแต่โครงการจำนวนมหาศาลที่ บี.กริม ถืออยู่ในมือเท่านั้น หากแต่แนวความคิดของผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องของผลกำไรจากการประกอบการ แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบของโครงการ ที่ผู้บริหารอย่าง มร.ฮาราลล์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “เราพยายามที่จะคงสภาพแวดล้อมเดิมๆ รอบโครงการเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หากจะต้องตัดต้นไม้ก็ตัดให้น้อยที่สุด เพราะเราดำเนินธุรกิจที่ต้องสร้างประโยชน์ ไม่ใช่แค่เพื่อบริษัทเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม เราผลิตกระแสไฟฟ้าคุณภาพสูง ศักยภาพสูง สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย” 
 
ทั้งนี้การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของ บี.กริมนั้น ฮาราลล์ให้ทัศนะอย่างน่าคิดว่า “เราในฐานะของผู้นำด้านเทคโนโลยี เรานำเอาความเชี่ยวชาญเข้าไปพัฒนา เบื้องต้นเราพัฒนาในประเทศไทย และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทเอกชนเข้าไปลงทุนยังต่างประเทศ ก็เป็นโอกาสที่ดี และมองว่าประเทศในกลุ่ม AEC นั้นมีศักยภาพ เพียงแต่บางพื้นที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราเข้าไปก็เพื่อพัฒนา เพราะถ้าเพื่อนบ้านพัฒนาได้ก็เป็นการหนุนนำและส่งเสริมซึ่งกันและกัน” 
 
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่มิติแห่งการพัฒนา ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นตัวหลักในการหนุนนำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ และศักยภาพในด้านต่างๆ ของประชาชนที่จะเป็นคีย์หลักสำคัญในการพัฒนาสังคม 
 
หากแต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จำเป็นที่ทั้งภาครัฐในฐานะผู้มอบนโยบายจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น เพราะหากต้องการการพัฒนาอย่างมั่นคง และยั่งยืนเสมือนสโลแกนที่ปรากฏจนชินตานั้น การรับฟังความคิดเห็นและนำมาปรับใช้น่าจะสร้างประโยชน์และลดความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง 
 
นโยบายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยในห้วงยามที่ทรัพยากรทางธรรมชาติกำลังร่อยหรอ กับความขัดแย้งที่มีต้นกำเนิดจากบทเรียนราคาแพงที่เคยได้รับ เป็นไปได้ว่าสถานการณ์พลังงานของไทยในขณะนี้อยู่บนทางแพร่ง ที่ต้องรอดูกันว่าทางออกของปัญหานี้จะเป็นไปในรูปแบบใด กระนั้นไม่ว่าจะเลือกทางใด ทุกทางล้วนมีผลที่ทุกคนต้องยอมรับทั้งสิ้น