วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > PR News > บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap”

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap”

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap” เดินหน้าสร้างพันธมิตรระยะยาวทั้งในและต่างประเทศ รุกเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า SPP รองรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม พร้อมเร่งเครื่องขยายพอร์ตพลังงานทดแทน ก้าวสู่เป้าหมาย Net-Zero

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ตอกย้ำ เป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก และก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593) โดยตั้งเป้าเติบโตสู่กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อ
ขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2573 ปัจจุบันบริษัทเดินหน้าศึกษาแนวทางการระดมทุนในหลากหลายรูปแบบ โดยคำนึงถึงการวางแผนในระยะยาว เพื่อปรับให้สถานะโครงสร้างทางการเงิน Capital Structure ที่แข็งแกร่ง และรองรับการเติบโตทางธุรกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาว “GreenLeap – Global and Green” พร้อมมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจ มุ่งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จตลอดเวลาที่ผ่านมา

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ มีกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจ คือ การร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน อาทิ ความร่วมมือกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด มายาวนานเกือบ 30 ปี,บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด, บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จำกัด, บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด และบริษัท China Energy Engineering Corporation เป็นต้น โดยเรายังคงมุ่งหน้าขยายธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บี.กริม เพาเวอร์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โครงการโรงไฟฟ้า SPP หรือกลุ่มโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม สนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ด้วยการสนับสนุนไฟฟ้าและไอน้ำที่มีเสถียรภาพในระดับสูง มาต่อเนื่องเกือบ 30 ปี โดยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้การกระบวนการผลิตไฟฟ้า การใช้เครื่องมือดิจิตัลขั้นสูง มุ่งลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องพร้อมมุ่งจัดหาพลังงานที่ตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า (Industrial Solutions) ตลอดจนการจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับอนาคต (Sustainable Fuels) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องในการใช้ Green Hydrogen และ แอมโมเนีย ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นในการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศสู่เป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap – Global and Green” ของบริษัท โดยตั้งเป้าเติบโตสู่กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2573 โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา อิตาลี กรีซ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้ง ประเทศไทย พร้อมเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ลดสัดส่วนระดับผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของการจัดการด้านการเงินแล้ว ปัจจุบันมีเงินสดในมือสูงถึง 29,000 ล้านบาท (ณ กลางปี พ.ศ. 2566) พร้อมกันนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางการเงิน (Capital Structure) ที่เหมาะสม แนวทางในการจัดหาแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ๆ อีกหลายรูปแบบเพื่อเตรียมพร้อมรับการเติบโตในอนาคต อาทิ การออกหุ้นกู้, หุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond), หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, การทำ Asset Monetization โอกาสในการหาพันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมลงทุนทั้งในธุรกิจที่มีในปัจจุบันและการขยายธุรกิจร่วมกันในอนาคต และการระดมทุนของบริษัทลูกในรูปแบบ IPO ซึ่งจะเพียงพอในการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต

“ภายใต้วิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี เรามีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก และก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวทิ้งท้าย